ซินหวา-กุ้งมังกรจากบอสตัน เชอร์รี่จากชิลี มะเขือออร์แกนนิค อาหารสดจากทั่วมุมโลกเหล่านี้ ถูกส่งตรงถึงประตูบ้านลูกค้าภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังจากที่คลิกแอพพลิเคชั่นจ่ายตลาดสดบนโทรศัพท์มือถือ
อี-คอมเมิร์ชในจีน ได้รับการพัฒนาไปไกล และทุกวันนี้ ประชาชนจำนวนมากก็หันมาจับจ่ายซื้อของใช้สำหรับชีวิตประจำวันผ่านแอพฯอาหารสด
สื่อจีน พีเพิล เดลี รายงานในวานนี้(5 ก.พ.) จากข้อมูลตัวเลขบริษัทที่ปรึกษา iResearch ระบุว่าอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ชในภาคการค้าอาหารสด ในจีน มีอัตราขยายตัวถึง 59.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2017 คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 139,100 ล้านหยวน (หรือ 22,100 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ประเภทอาหารที่ขายดีที่สุดบนโลกออนไลน์ ได้แก่ ผลไม้ โดยมีผู้สั่งซื้อบ่อยที่สุด ผลิตภัณฑ์นม และผัก เป็นอาหารที่ขายดีที่สุดอันดับสอง และสาม ตามลำดับ
เจียง หนัน คุณแม่วัยสาว ผู้อาศัยในเซี่ยงไฮ้ บอกว่า การสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์ สะดวกและประหยัดเวลา “แต่ข้อเสียคือ ลูกค้าไม่เห็นผลิตภัณฑ์ก่อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะรับประกันได้ว่า เราจะได้รับอาหารที่คุณภาพเป๊ะปังแบบที่เราต้องการ”
อี-คอมเมิร์ช อาหารสด ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในจีนช่วงปี 2014-2015 แต่ก็ถดถอยไปในปี 2016 ต่อมายักษ์ใหญ่อี คอเมิร์ช อาลีบาบา และเจดี ด็อท คอม (JD.com) เข้ามาฟื้นชีพตลาดสดออนไลน์โดยอัดฉีดการลงทุนในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และโลจิสติกส์
JD.com ได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์ขายอาหารสดแห่งแรกของตนในปักกิ่งในเดือนม.ค. ลูกค้าสามารถเดินทางมาซื้ออาหารได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสั่งซื้อของผ่านแอพฯ เจดี ด็อท คอม บอกว่าในแต่ละวันมีลูกค้ามากกว่า 10,000 คน มาแวะชมที่ซูเปอร์มาร์เก็ต 7FRESH ระหว่างช่วงการทดลองเปิดกิจการ
หวัง เสี่ยวซง ประธาน 7FRESH เผยว่ามีแผนเปิดร้าน 1,000 แห่งทั่วประเทศจีนภายใน 5 ปี
จากรายงานระบุว่าธุรกิจอาหารสดต้องทุ่มทุนไปกับโลจิสติกส์มาก เนื่องจากสินค้าอาหารมีช่วงประกันคุณภาพสั้น และเน่าเสียง่าย
นอกจากนี้ รายงานการสำรวจยังพบว่า 30.7 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้า คาดหวังไดรับสินค้าภายในเวลาหลายชั่วโมง ขณะที่ 28.8 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังได้รับสินค้าภายในเวลาที่สั้นกว่า ระหว่าง 30 นาที ถึง 1ชั่วโมง
ในเดือนม.ค. หน่วยปฏิบัติการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของ JD.com ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ แอร์ ไชน่า คาร์โก เพื่อบุกเบิกรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับการขายตรง และส่งอาหารสดจากพื้นที่การผลิตของพวกเขา.