xs
xsm
sm
md
lg

เยือนบ้าน “ประธานเหมา” ที่เสาซาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล



“ตอนพ่อยังเด็กอายุเท่าลูก ยังไม่รู้เลยว่าอะไรคือประเทศจีน ... ตอนพ่อยังเด็กยังไม่รู้อะไรจริงๆ ไม่รู้เลยว่าอะไรคือประเทศจีน ยิ่งไม่เข้าใจในคนจีน” - - - เหมา เจ๋อตงในวัย 54 ปี กล่าวกับหลี่ น่า บุตรสาววัย 9 ขวบ*

เสาซาน (韶山) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในแถบชนบท ทางตอนกลางของมณฑลหูหนาน ห่างจากเมืองฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับกับภูเขาสมชื่อที่มีคำว่า ภูเขา หรือ ซาน (山) เป็นส่วนประกอบ

จากตำนานของจีนเล่าว่าพื้นที่บริเวณนี้ พระเจ้าซุ่น (舜帝; ครองราชย์ช่วง 2233 -2184 ปีก่อนคริสตกาล)** ผู้ปกครองจีนในยุคโบราณเคยเสด็จผ่านบริเวณนี้ และเกิดความประทับใจต่อภูมิประเทศ พระองค์จึงบรรเลงดนตรีเสา (韶乐; ดนตรีที่ใช้ในราชสำนักจีนโบราณ) เสียงดนตรีไพเราะเพราะพริ้งจนเหล่าหงส์และหมู่ปักษาต่างบินมาร่วมฟังจำนวนมาก ทำให้ในเวลาต่อมา ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นภูเขา พื้นที่แห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “เสาซาน”***



หากมิใช่เป็นบ้านเกิดของ ประธานเหมา เสาซานก็เป็นเพียงแค่หมู่บ้านเล็กๆ ตามชนบทของจีนทั่วๆ ไปที่ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตร มีผลผลิตคือ ข้าว ชา ส้ม และผักกาดก้านข้าว (rapeseed หรือ 油菜)

เหมา เจ๋อตง เกิดที่นี่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2436 (ค.ศ.1893) เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ประมาณ 17 ปี

บิดา เหมา อี๋ชาง (毛贻昌) ทายาทตระกูลเหมารุ่นที่ 19 แห่งมณฑลเจียงซี ก่อนบรรพบุรุษจะอพยพมาที่หูหนานในช่วงศตวรรษที่ 14 ประกอบอาชีพเป็นชาวนา เคยถูกเกณฑ์เป็นทหารใต้อาณัติของราชวงศ์ชิงอยู่ 2 ปี ส่วนมารดา เหวิน ซู่ฉิน (文素勤) นั้นเกิดในครอบครัวชาวนาทั่วไป เหมา อี๋ชาง หมั้นหมายกับเหวิน ซู่ฉิน ตั้งแต่อายุได้เพียง 10 ปี ส่วนเหวินนั้นอายุเพียง 13 ปี และเข้าพิธีแต่งงานกันในอีก 5 ปีต่อมา****

ตอนเหมา เจ๋อตง อายุได้ 14 ปี ผู้เป็นบิดาได้จัดแจงให้แต่งงานแบบคลุมถุงชนกับสาวตระกูลหลัว (หลัว อีซิ่ว; 罗一秀) วัย 18 ปีที่อาศัยอยู่ในตำบลเดียวกัน โดยหวังว่าเหมาจะสืบทอดกิจการของครอบครัวต่อไป ทว่าทั้งสองกลับมิเคยอยู่กินกันฉันสามีภรรยา จากนั้นสองปีต่อมาพ่อของเหมาก็ส่งเขาไปเป็นลูกมือของร้านขายข้าวสารร้านหนึ่งในอำเภอเซียงถานเพื่อฝึกปรือฝีมือในด้านทำมาค้าขาย แต่เหมาเองกลับอยากเรียนหนังสือ และศึกษาหาความรู้ให้มากกว่านี้ จึงขอให้ญาติผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ที่นับถือช่วยพูดกับบิดา จนได้รับอนุญาต

ในฝั่งแม่ของ เหมา เจ๋อตง เหวิน ซู่ฉิน (文素勤) นั้น เกิดมาในครอบครัวเกษตรกร เป็นชาวนาที่ไม่รู้หนังสือ ทว่า เป็นสตรีที่นับถือศาสนาพุทธโดยเคร่งครัด มีจิตเมตตาอ่อนโยน ใจบุญสุนทาน ทั้งยังนับถือเจ้าแม่กวนอิม ทำให้เธอรับประทานมังสวิรัติ และมักจะพาเหมา เจ๋อตงไปจุดธูปไหว้พระอยู่อย่างสม่ำเสมอ

เหมา เจ๋อตง ถ่ายภาพ กับแม่และน้องๆ (ที่มา : http://blog.sina.com.cn/s/blog_b38c044d0102vv58.html)
ก่อนหน้านี้ ผมทราบแต่เพียงว่าประธานเหมา เกิดในครอบครัวของชาวนา และไม่เข้าใจนักว่าครอบครัวชาวนาเจ้าของที่ดิน (富裕农民) ในแผ่นดินจีนเมื่อ 100 กว่าปีก่อนนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร จนกระทั่งเมื่อได้เห็นบ้านเกิดของ เหมา เจ๋อตง

บ้านเกิดของเหมา เจ๋อตง ถือเป็นบ้านชาวนาขนาดใหญ่ มีรูปทรงคล้ายๆ กับ อักษรจีน “凹 (อาว)” ตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 470 ตารางเมตร (ประมาณ 5,000 ตารางฟุต) ด้านหลังบ้านอิงภูเขา ด้านหน้าบ้านเป็นสระน้ำใหญ่ เรียกได้ว่าถอดมาจากตำราฮวงจุ้ยจีนโบราณก็ว่าได้

บ้านหลังนี้ 2 ครอบครัว แบ่งปันกันอยู่อาศัย โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกเป็นของตระกูลเหมา (กินพื้นที่ตรงส่วนกลางด้วย) ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นของเพื่อนบ้าน


ในส่วนของพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ด้วยความขยันขันแข็ง และความมีหัวการค้าของ เหมา อี๋ชาง ทำให้ครอบครัวตระกูลเหมาเริ่มมีฐานะและกลายเป็นชาวนาที่มีฐานะดีที่สุดในหมู่บ้านเสาซาน โดยเมื่อ เหมา เจ๋อตง อายุได้ 10 ขวบ พ่อของเขาก็ครอบครองที่นามากถึง 20 เอเคอร์ หรือมากกว่า 50 ไร่ และเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้ราวปีละ 10 ต้าน (担) หรือ ราว 500 กิโลกรัม (1 ต้าน = 50 กิโลกรัม)

ตัวเลขดังกล่าวหากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน อาจดูไม่มาก แต่ถ้าหากพิจารณากับบริบทของสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และระดับความก้าวหน้าในวิทยาการการเพาะปลูกของจีน ก็จะเห็นภาพชัดขึ้นว่าครอบครัวของเหมาเป็นชาวนาที่มีฐานะมากแค่ไหน

“ศตวรรษที่ 19 ภาคเกษตรจีนยังคงเป็นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้หลายศตวรรษ การทำนายังต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ เป็นเหยื่อของภัยธรรมชาติ โดยมีพื้นฐานอยู่ที่แรงกายที่ชาวนาเองต้องเหน็ดเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด ฝนที่ตกไม่แน่นอน มีผลต่อการเก็บเกี่ยวหนึ่งในสามปีโดยเฉลี่ย ไม่ว่าจะเป็นฉาตกภัย (ภัยที่เกิดจากความแห้งแล้งจนทำให้เกิดภาวะความอดอยากหิวโหย) หรืออุทกภัย นอกจากนี้ยังมีวาตภัยอย่างไต้ฝุ่น ลมจากทะเลทราย และกองทัพแมลงที่ถล่มไร่นา การต่อสู้กับภัยธรรมชาติเหล่านี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องทุ่มแรงงานอย่างสาหัสสากรรจ์ โดยการตักเอาดินเลนในหนองบึงมาทำปุ๋ย เทคนิคในการใช้ การใช้แรงงานคนที่เสียไปเปล่า การกระจายไร่นาออกไปเป็นแปลงย่อย ๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายให้น้อยลง โดยทั่วไป ชาวนาจีนมีสัตว์ใช้งานน้อยเพราะแรงงานคนถูกกว่าและแรงงานสัตว์ก็ด้อยคุณภาพด้วย โดยสาเหตุนานาประการดังยกมานี้ ผลิตผลการเกษตรจึงค่อนข้างต่ำแล้วยังเป็นการเพิ่มปัญหาให้แก่การเพิ่มขึ้นของพลเมือง ซึ่งเป็นปัญหาอยู่แล้ว โดยที่อัตราการเพิ่มของพลเมืองนับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 19 โดยส่วนเฉลี่ย ครอบครัวชาวนาจีนครอบครัวหนึ่งมีที่ดินทำนาไม่เกินกว่า 5 เอเคอร์ (12.65 ไร่)” --- จากหนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก*****


ณ พ.ศ.2561 เสาซาน ถือเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวจีน ในฐานะของการเป็น Red Tourism หรือ 红色旅游 ซึ่งแปลความหมายได้ว่าการท่องเที่ยวตามรอยสถานที่สำคัญที่มีนัยยะต่อประวัติศาสตร์ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน โดยนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว ผมสังเกตได้ว่าตามป้ายบอกทางต่าง ๆ ทั่วเสาซานนั้นมักจะมีภาษาจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียประกอบด้วยเสมอ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยนั้นไกด์สาวชาวจีนบอกกับคณะของเราว่าไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก

เมื่อคณะของเรามาถึงอาคารรับรองผู้มาเยือนซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร พวกเราจะต้องซื้อตั๋วและนั่งรถบัสต่อไปอีกเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อที่จะเข้าไปใกล้บ้านเกิดของเหมา เจ๋อตง โดยเมื่อลงรถบัสมาจอดที่ท่ารถ นักท่องเที่ยวก็จะต้องเดินเท้าเข้าไปอีกเป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตรผ่านภัตตาคาร ร้านขายของ ลำธาร เรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน

พวกเราไปถึงบริเวณบ้านเกิดของเหมา เจ๋อตงตอนพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าแล้ว เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ สื่อมวลชนไทยเข้าไปเดินชมได้เป็นคณะสุดท้ายก่อนที่ประตูจะปิด

สำหรับบ้านเกิดของเหมา เจ๋อตง หลังนี้เนื่องจากมีอายุอย่างน้อยร้อยกว่าปีแล้วจึงทรุดโทรมไปตามเวลา ทำให้ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง ในปี 2493 (ค.ศ.1950) จึงมีการซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่ โดยยึดเค้าโครงของเดิม ตัวบ้านเป็นบ้านดินสีน้ำตาลอ่อน ส่วนหลังคานั้นมุงด้วยกระเบื้องสีเข้ม ภายในบ้านนอกจากที่อยู่อาศัย ครัวขนาดใหญ่ ห้องรับแขก (แบ่งกับเพื่อนบ้าน) ยังมีพื้นที่ส่วนกลางไว้สำหรับประกอบกิจกรรมทางการเกษตรต่างๆ เช่น ใช้เลี้ยงสัตว์อย่างเช่น ห้องเก็บเครื่องมือทางการเกษตร ห้องสีข้าว ยุ้งข้าว ห้องเก็บฟืน เล้าหมู คอกวัว ขณะที่บริเวณบ้านยังมี บ่อน้ำขนาดใหญ่ แปลงผัก และลานตากข้าวอีกด้วย

ห้องโถงส่วนกลางที่แบ่งปันกันใช้ระหว่างบ้านตระกูลเหมากับเพื่อนบ้าน

ห้องครัวบ้านตระกูลเหมา



ห้องรับประทานอาหาร

ห้องนอน เหมา อี๋ชาง และเหวิน ซู่ฉิน พ่อกับแม่ของเหมา เจ๋อตง



ห้องนอนของ เหมา เจ๋อตง



ห้องเก็บอุปกรณ์การเกษตร

ลานเปิดเล็กๆ ภายในบ้านของเหมา เจ๋อตง

ห้องสีข้าว

ยุ้งเก็บข้าวเปลือก



คอกวัว

คอกวัว



ห้องนอนของ เหมา เจ๋อถาน น้องชายของ เหมา เจ๋อตง (เกิดปี 2448 (ค.ศ.1905) เสียชีวิตปี 2478 (ค.ศ.1935) จากฝีมือของกองกำลังของก๊กมินตั๋ง)

ห้องเก็บฟืน

เล้าหมูภายในบ้าน

ห้องนอนของ เหมา เจ๋อหมิน น้องชายของ เหมา เจ๋อตง (เกิดปี 2439 (ค.ศ.1896) เสียชีวิตปี 2486 (ค.ศ.1943) เสียชีวิตหลังจากถูกจับโดย กองกำลังของเซิ่ง ซื่อไฉ ขุนศึกผู้ปกครองมณฑลซินเกียง (ซินเจียง) ในเวลานั้น)

แปลงผักบริเวณหลังบ้าน

ลานตากข้าวและห้องเก็บเครื่องมือการเกษตร

บ่อน้ำบริเวณหลังบ้าน



สระน้ำใหญ่บริเวณหน้าบ้านของเหมา เจ๋อตง ที่เสาซาน
เหมา เจ๋อตง เกิด เติบโต ใช้ชีวิตวัยเด็กและได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ บ้านเกิดที่เสาซานราว 17 ปี ก่อนที่จะออกไปเผชิญกับความจริงอันเจ็บปวดของสังคมจีนในปี 2453 (ค.ศ.1910) และในเวลาต่อมาพลิกประวัติศาสตร์ สร้างชื่อจนกลายเป็นมหาบุรุษที่โลกต้องจดจำตราบนานเท่านาน

ชาวบ้านเสาซาน เดินเร่ขายมันเผาให้กับนักท่องเที่ยว


หมายเหตุ :
*จากละครโทรทัศน์เรื่อง “เหมา เจ๋อตง” ตอนที่ 1《毛泽东》 ; https://www.youtube.com/watch?v=PKk-dGOwslk โดยบทละครดังกล่าวอ้างอิงว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2492 (ค.ศ.1949)
**อ่านเพิ่มเติมเรื่องเหยา และซุ่นได้ที่ http://thai.cri.cn/chinaabc/chapter17/chapter170104.htm
***韶山市; https://goo.gl/kzkxS6
****毛贻昌; https://goo.gl/7RU6tH
*****ประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เมษายน 2542, หน้าที่ 862.
******ขอขอบคุณ อาศรมสยาม-จีนวิทยา และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางของผู้เขียนและคณะสื่อมวลชนในครั้งนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น