xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางสู่ ‘เสาซาน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล



“ตงฟังหง, ไท่หยางเซิง, จงกั๋วชูเลอเก้อเหมา เจ๋อตง, ทาเว่ยเหรินหมินโหมวซิ่งฝู, หูเอ่อร์ไหโย่ว, ทาซื่อเหรินหมินต้าจิ้วซิง ...”
“东方红, 太阳升, 中国出了个毛泽东, 他为人民谋幸福, 呼儿嗨哟, 他是人民大救星 ...”

บูรพาแดง, ดวงตะวันเฉิดฉายขึ้นแล้ว
แผ่นดินจีนได้ก่อกำเนิดเหมา เจ๋อตงขึ้นมา
ท่านบากบั่นเพื่อความผาสุกของปวงประชา,
ไชโย, ท่านคือผู้ปลดแอกให้ประชาชน ...




เสียงร้องเพลงบูรพาแดง (ตงฟังหง; 东方红)* ของ “หนูนา” มัคคุเทศก์สาวชาวจีน คลอเคลียสร้างความอบอุ่นให้บรรยากาศภายในรถบัสของพวกเรา

ช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนอย่างนี้ อุณหภูมิภายนอกที่ฉางซา มณฑลหูหนาน ลดลงเหลือเพียง 8 องศาเซลเซียส ประกอบกับสภาพอากาศที่หมอกลงจัด ขับให้เพลงจากหญิงสาวชาวสิบสองปันนายิ่งเพิ่มความไพเราะมากขึ้นอีกเป็นกอง

เมื่อ 8 โมงเช้าวันนี้ “หนูนา” เล่าว่าตัวของเธอยังอยู่ที่เมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี (กว่างซี) ก่อนที่จะกระโดดขึ้นรถไฟความเร็วสูง นั่งรถเป็นระยะทาง 500 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการเดินทางมาต้อนรับพวกเราที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน

ในเมืองไทย คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อหากจะมีใครสักคนบอกว่าเมื่อเช้านั่งกินข้าวอยู่ที่บ้านที่จังหวัดสุโขทัย พอพาลูกไปโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยก็จับรถไฟนั่งมาทำงานต่อที่กรุงเทพฯ

แต่ในเมืองจีนทุกวันนี้ เรื่องเหลือเชื่อเช่นนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน เป็นวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในหลายร้อยเมือง และต้องเดินทางมาทำงานในอีกเมืองหนึ่ง


“หนูนาเป็นคนชาวฮั่น เกิดที่สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน แต่ไปแต่งงานกับสามีคนกุ้ยหลิน พอมีลูก ตอนนี้ก็เลยอาศัยอยู่ที่กุ้ยหลิน แล้วก็มารับงานเป็นไกด์รับนักท่องเที่ยวชาวไทยแถบมณฑลกวางตุ้ง (广东) แล้วก็มณฑลหูหนาน ส่วนใหญ่ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะพากรุ๊ปคนไทยไปเที่ยวจางเจียเจี้ยค่า” สาวจีนวัยสามสิบกว่าๆ ยิ้มกว้างพลางพูดแนะนำตัวเองเป็นภาษาไทยสำเนียงจีน

หนูนาเล่าต่อว่า ในแถบจีนทางตอนใต้ส่วนใหญ่จะมีการแบ่งงานมัคคุเทศก์คนจีนที่พูดภาษาไทยได้ดังนี้คือ มัคคุเทศก์จากกวางสีจะรับงานในแถบกวางตุ้งและหูหนาน ส่วนมัคคุเทศก์ที่มาจากยูนนานจะรับงานในแถบฉงชิ่ง เสฉวน จิ่วไจ้โกว โดยเธอร่ำเรียนภาษาไทยที่หนานหนิงหนึ่งปี และเดินทางไปลับวิชาภาษาไทยเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นเวลาสามเดือน ก่อนยึดอาชีพไกด์นำเที่ยวเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ

วันนี้หนูนา เดินทางข้ามมณฑลมาเป็นพันลี้ เพื่อที่จะปฏิบัติภารกิจในการนำพาคณะของพวกเราเดินทางไปที่ เสาซาน (韶山) บ้านเกิดของอดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีนยุคใหม่ ประธานเหมา เจ๋อตง (毛泽东)

“แม่หนูนาบอกว่าประธานเหมามีบุญคุณกับคนจีน ทำให้คนจีนมีข้าวกิน ก็คงเหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) มีพระมหากรุณาธิคุณกับคนไทย ... หนูนาเกิดไม่ทันประธานเหมาหรอก เพราะหนูนาเกิดปี 1981 (พ.ศ.2524) ก็ทันแต่ยุคของ ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง แต่แม่บอกว่า ประธานเหมานั้นเป็นคนเก่งมาก ๆ และจีนจะไม่มีทุกวันนี้ถ้าไม่มีประธานเหมา”

ส่วนตัวผม เมื่อพูดถึงชื่อ “เหมา เจ๋อตง” สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือ ภาพของชายหัวล้าน หน้าตาอิ่มเอิบ มีไฝที่บริเวณคาง ซึ่งถูกแขวนอยู่หน้าประตูเทียนอันเหมิน ณ ใจกลางกรุงปักกิ่ง


ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากเคยได้ยินชื่อ “เหมา เจ๋อตุง” หรือที่จริงๆ คืออ่านว่า “เหมา เจ๋อตง” โดยคำว่า “ตง (东)” นั้นคือคำเดียวกับคำว่า “ตง” ที่แปลว่า “ทิศตะวันออก” อย่างไรก็ตามคงมีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่รู้จักประวัติของ “มหาบุรุษของชาวจีน” ผู้นี้จริง ๆ อย่าว่าแต่ การจะศึกษาแนวคิด เพื่อให้ทราบในความคิด การตัดสินใจ และการกระทำของเขาอย่างลึกซึ้ง

ทั้งทั้งนั้น การจะทำความเข้าใจกับมหาอำนาจจีนในยุคปัจจุบัน เราหลีกหนีไม่พ้นเลยที่จะต้องรู้จัก “ประธานเหมา” หรืออย่างน้อย ๆ ก็เรียนรู้สักหน่อยว่าเขาเป็นใคร เกิดและเติบโตขึ้นมาจากที่ไหน ก่อนที่จะกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์จีน และประวัติศาสตร์โลก

เหมา เจ๋อตงเกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2436 (ค.ศ.1893) ปีเดียวกันกับที่เมืองไทยเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในเวลานั้นจีนอยู่ในยุคปลายสมัยของราชวงศ์ชิงแล้วมหาบุรุษผู้นี้เกิดในครอบครัวชาวนา ณ หมู่บ้านเสาซาน ตำบลเสาซาน อำเภอเซียงถาน (湘潭) มณฑลหูหนาน บิดา เหมา อี๋ชาง (毛贻昌) เป็นชาวนาเจ้าของที่ดิน (富裕农民) ส่วนมารดา เหวิน ซู่ฉิน (文素勤) นั้นเกิดในครอบครัวชาวนาธรรมดา

ช่วงที่ยังไม่ถึงวัยศึกษาเล่าเรียน เหมา เจ๋อตงอาศัยอยู่ที่บ้านของผู้เป็นยาย ครูคนแรกของเหมาคือน้าชายที่เปิดสอนหนังสือที่บ้านนั่นเอง พออายุราว 8 ขวบ บิดาก็มารับไปอยู่ด้วยและให้เรียนหนังสือกับคุณครูที่เปิดโรงเรียนสอนหนังสือตามบ้าน เหมามีพี่ชาย 2 คน น้องชาย 2 คน และน้องสาวอีก 2 อย่างไรก็ตามพี่ชายและน้องสาว 4 คนกลับเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย เหมาจึงเสมือนเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว ทำให้ต้องช่วยทั้งงานบ้านและงานในท้องไร่ท้องนาตั้งแต่เด็ก

เมื่อเหมาย่างเข้าสู่วัยรุ่น พออ่านออกเขียนคล่องก็รับหน้าที่ช่วยเหลือบิดาในการลงบันทึกบัญชีของครอบครัว และช่วยทำไร่ไถนาอย่างเต็มตัว บิดาของเหมาเป็นคนเคร่งครัด เข้มงวด และขยันอดทน มารดาเป็นแม่เหย้าแม่เรือนตามแบบฉบับของหญิงชาวจีนสมัยเก่า ด้วยความขยันขันแข็งของผู้เป็นบิดามารดาที่ทั้งทำนา ค้าขายข้าวเปลือกและสัตว์เลี้ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ครอบครัวของเหมาจึงมีกำลังทรัพย์พอซื้อที่นาผืนเล็ก ๆ ไว้เป็นของตนเอง ความเป็นอยู่ในวัยเด็กของเหมาจึงไม่ถึงกับยากจนข้นแค้นเหมือนชาวนาทั่วไป

เหมาเคยกล่าวถึงบิดาของตนเองไว้ว่า “พ่อเหมือนผู้คุมที่เข้มงวด เห็นฉันว่างเป็นไม่ได้เลย หากไม่มีอะไรต้องลงบันทึกอีก ก็จะบอกให้ไปทำงานตามไร่นา พ่อเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายจึงตีฉันกับน้องอยู่บ่อยครั้ง”

ภาพเหมา เจ๋อตงในวัยเด็ก (ที่มา : http://culture.people.com.cn/GB/106905/16517251.html)
การศึกษาเล่าเรียนในช่วงแรก ถึงแม้เป็นการร่ำเรียนหลักคำสอนของขงจื๊อ กวีนิพนธ์ และจารีตโบราณของจีนตามตำราเรียนในยุคสมัยนั้น แต่ผู้เป็นครูก็ได้หยิบยื่นหนังสือแนวใหม่ให้เหมาได้อ่าน เช่น หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภัยคุกคามของจีนที่อาจถูกแบ่งแยก การกอบกู้บ้านเมือง และแนวคิดต้านประชาธิปไตย แม้ว่าในตอนนั้นเหมาอายุยังน้อย แต่ก็พอเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองอยู่บ้าง**

นั่นเป็นชีวิตในวัยเด็กของ เหมา เจ๋อตง ที่บ้านเกิด ณ หมู่บ้านเสาซาน อำเภอเซียงถาน มณฑลหูหนาน ซึ่งเรากำลังจะเดินทางไปเยือน


หมายเหตุ :
*คำว่า บูรพาแดง (东方红; The East is red) ในคติของชาวเอเชียทิศตะวันออกคือทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น โดยแฝงนัยยะของการก่อกำเนิดของชีวิตและความเจริญรุ่งเรือง คำว่า "บูรพาแดง" จึงมีความหมายมงคลตามคติความเชื่อของชาวจีน อย่างไรก็ตามในอีกนัยหนึ่ง บูรพาแดงก็เป็นคำที่สื่อความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในซีกโลกตะวันออกในช่วงยุคสงครามเย็น และทำให้สีแดงถูกใช้เปรียบเปรยถึงประเทศที่ถูกปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น เช่น จีนแดง โสมแดง เขมรแดง
**ข้อมูลจากจดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 116 มีนาคม 2555
***ในบทความชุดนี้ผมขออนุญาตหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประวัติ ความคิดและปรัชญาของเหมา เจ๋อตง ซึ่งสามารถหาอ่านได้ทั่วไปในตำรา บทความ และหนังสือต่าง ๆ และมีตีพิมพ์เผยแพร่โดยทั่วไปเป็นจำนวนมากในภาษาไทย จีน อังกฤษ และภาษาต่าง ๆ
****ขอขอบคุณ อาศรมสยาม-จีนวิทยา และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางของผู้เขียนและคณะสื่อมวลชนในครั้งนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น