ไชน่า เดลี--เผยผลการสำรวจ ภาระ “การบ้าน” ของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นในประเทศจีน ลดลง โดยในปีที่แล้ว (2017) เด็กนักเรียนเหล่านี้ ใช้เวลาทำการบ้าน เฉลี่ย 2.87 ชั่วโมงต่อวัน ลดลงจากระดับ 3.03 ชั่วโมงต่อวันในปี 2016
แต่กระนั้นก็ตาม ภาระการบ้านจากโรงเรียนของเด็กจีน ยังอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ
ก่อนหน้านี้ ในจีนมีกระแสกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและพ่อแม่ผู้ปกครอง เรียกร้องให้มีการปรับลดภาระการบ้านของเด็กนักเรียนให้อยู่ในระดับสมเหตุสมผล และเปลี่ยนระบบประเมินผลการเรียนที่หลากหลาย ไม่อ้างอิงการสอบแต่เพียงอย่างเดียว ขณะที่กลุ่มครูอาจารย์ แนะนำพ่อแม่ อย่ามุ่งเน้นการแข่งขัน
รายงานการสำรวจภาระการบ้านของเด็กนักเรียนดังกล่าว จัดทำโดย afanti100.com ผู้ให้บริการการศึกษาออนไลน์จีน โดยสรุปผลฯจากการสำรวจกลุ่มนักเรียน 446,836 คน ในเขตมณฑลต่างๆ ได้แก่ 56.7 เปอร์เซ็นต์จากโรงเรียนประถมศึกษา 38.6 จากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ 8.7 เปอร์เซ็นต์จากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลการสำรวจระบุว่าในปี 2017 นักเรียนประถมฯและมัธยมต้น ใช้เวลาทำการบ้านน้อยลง เทียบกับปี 2016 โดยกลุ่มนักเรียนประถมฯและมัธยมต้น ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยต่อวัน เท่ากับ 2.87-2.64 ชั่วโมง ส่วนนักเรียนมัธยมปลาย ใช้เวลา 2.94 ชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ตาม เด็กจีนยังใช้เวลาทำการบ้าน มากกว่านักเรียนในประเทศอื่นๆ ถึงสองเท่าตัว
ช่วงปลายปี 2017 กระทรวงศึกษาจีนยังได้ออกมาตรฐาน เรียกร้องให้ครอบครัวและโรงเรียน จับมือกัน เพื่อสร้างหลักประกันว่า นักเรียนชั้นประถม จะได้นอน 10 ชั่วโมง และนักเรียนมัธยมได้นอน 9 ชั่วโมง
จากรายงานการสำรวจยังระบุอีกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของเด็กนักเรียน มีภาวะอารมณ์ในเชิงลบจากภาระการบ้าน ทั้งอารมณ์บูดเสีย และโกรธ
ฉู เจ้าฮุ่ย นักวิจัยประจำสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าระบบการประเมินผลการเรียนระบบเดียว ที่ใช้เพียงคะแนน และลำดับผลการสอบ ได้สร้างภาระการบ้านอันหนักอึ้งแก่เด็กๆ
“รัฐบาลและสังคมต้องพยายามปรับปรุงระบบการประเมินผลที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือเด็กๆในหลายๆทาง มากกว่ามุ่งที่การสอบผ่านเพียงอย่างเดียว” ฉู กล่าวแนะ