ซินหวา - โรงงานรถไฟแดนมังกรเผยกำลังพัฒนาตู้โดยสารรถไฟใต้ดินจาก “เส้นใยคาร์บอน” หรือคาร์บอน ไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ชี้มีคุณสมบัติเด่นตรงความทนทานและการประหยัดพลังงานมากกว่าเดิม
สื่อทางการจีนรายงาน (8 ม.ค.) อ้างบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮิเคิลส์ (CRRC Changchun Railway Vehicles) ว่าตู้โดยสารของขบวนรถไฟใต้ดินรุ่นใหม่นี้ มีน้ำหนักเบากว่าตู้โดยสารโลหะแบบดั้งเดิมราว 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะการบรรทุก ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย รวมถึงลดการสึกหรอของรางรถไฟ
ทีมผู้เชี่ยวชาญของซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน ระบุว่าเส้นใยคาร์บอนสามารถต้านทานความล้า การผุกร่อน และรังอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่าวัสดุโลหะ ส่งผลให้ตู้โดยสารของขบวนรถไฟใต้ดินรุ่นใหม่จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า โดยตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่อย่างน้อยสามสิบปี
นอกจากนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงและความร้อนของเส้นใยคาร์บอนก็ดีกว่าวัสดุโลหะ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น และส่งเสียงรบกวนระหว่างการเดินทางน้อยลง โดยการพัฒนาตู้โดยสารรุ่นใหม่ ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน พึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเองทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าเป็นเจ้าของสิทธิทรัพย์สินทางปัญญานี้อย่างเต็มร้อย
ทั้งนี้ ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน ในฐานะผู้ผลิตรถไฟระดับชั้นนำของโลก มีพนักงานทำงานอยู่มากกว่า 18,000 คน และผลิตรถไฟมากกว่า 8,000 ขบวน ซึ่งมีการส่งออกไปยังภูมิภาคและประเทศต่างๆ มากกว่า 20 แห่งทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิล