xs
xsm
sm
md
lg

คนจีนกินอะไรกันในวันปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหนียนเกา/ขนมเข่ง ภาพจาก http://twglf.com/files/IMG_7540.JPG
โดย พชร ธนภัทรกุล

ก่อนอื่น ขอสวัสดีปีใหม่กับคุณผู้อ่านทุกท่าน

ชาวจีนเรียกปีใหม่ว่า หยวนตั้น (元旦) คำนี้ใช้กันมาแต่โบราณ และหมายถึงวันปีใหม่จีน แต่เพิ่งจะนำมาใช้กับวันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากลในช่วงร้อยปีเศษที่ผ่านมานี้เอง เทียบกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์จีนนับแต่สมัยจักรพรรดิฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้มาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งยาวนานกว่าสองพันปีแล้ว ก็นับว่าสั้นมากๆ

หยวนตั้นคำนี้ มีความหมายว่า รุ่งอรุณวันแรกของปี
หยวน (元) แปลว่า เริ่มแรก เริ่มต้น ส่วนตั้น (旦) แปลว่า รุ่งอรุณ รุ่งแจ้ง กลางวัน
คำนี้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฝ่ายใต้หรือหนานเฉา (南朝) สมัยฮั่น สมัยจิ้น สมัยถัง สมัยซ่ง โดยมีบันทึกอยู่ในหนังสือโบราณหลายเล่ม อาทิ ใน “เมิ่งเหลียงลู่” (梦梁录) ของอู๋จื้อมู่ (吴自牧) ในยุคซ่ง ที่เขียนไว้ในหัวข้อ “เดือนอ้าย” ในบรรพที่หนึ่งว่า

“วันแรกของเดือนหนึ่ง เรียกว่า หยวนตั้น เรียกกันทั่วไปว่า ซินเหนียน (新年ปีใหม่)”
เหนียนเกาแดง/ขนมเข่งใส่น้ำตาลแดง ภาพจาก http://twglf.com/files/IMG_7560.JPG
แม้คำนี้จะหมายถึงวันขึ้นปีใหม่ แต่ทว่า ปีใหม่ของจีนในแต่ละยุคสมัย ก็กำหนดวันเดือนต่างกันไป ระบบปฏิทินเกษตรคติ (农历/農歷) หรือระบบปฏิทินเซี่ย (夏历/夏歷) ซึ่งชาวจีนคิดค้นขึ้นในยุคเซี่ย (夏代2070-1600 ปีก่อนคริสตกาล) นั้น ได้กำหนดให้วันที่ 1 เดือนหนึ่งเป็นวันหยวนตั้น ต่อมาเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 เดือนสิบสองในยุคซาง (商代1600-1046 ปีก่อนคริสตกาล) แล้วก็เปลี่ยนอีกทีเป็นวันที่ 1 เดือนสิบเอ็ดในยุคโจว (周代1046-256 ปีก่อนคริสตกาล)

พอจักรพรรดิฉินสื่อหวง (秦始皇259 ปีก่อนคริสตกาล) ปราบแคว้นทั้งหกลงได้ สถาปนาจักรวรรดิแรกของจีนสำเร็จ ก็เปลี่ยนไปใช้วันที่ 1 เดือนสิบเป็นวันหยวนตั้น และใช้วันดังกล่าวเป็นวันหยวนตั้นมาตอดจนเมื่อ 104 ปีก่อนคริสตกาลในรัชสมัยพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ (汉武帝) ก็ได้หวนกลับไปใช้วันที่ 1 เดือนหนึ่งเหมือนในยุคเซี่ยอีกครั้ง และใช้ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจนสิ้นราชวงศ์ชิง (清朝) ในปี 1911

ในปี 1911 รัฐบาลสาธารณรัฐจีน โดยซุนยัตเซ็น (孙逸仙/孙中山) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีตามปฏิทินสากลอันเป็นวันขึ้นปีใหม่สากล ให้เป็นวันหยวนตั้น (元旦) ส่วนวันที่ 1 เดือนหนึ่งตามปฏิทินเกษตรคติของจีน ที่เคยเป็นวันหยวนตั้นอยู่เดิมนั้น ก็เปลี่ยนไปเรียกว่า วันชุนเจี๋ย (春节) หรือวันเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งก็ตรงกับที่เริ่มเข้าสู่ต้นฤดูใบไม้ผลิพอดี
นับแต่นั้นมา ชาวจีนเลยมีวันขึ้นปีใหม่สองวัน คือวันหยวนตั้น ซึ่งกลายเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากล กับวันชุนเจี๋ย ซึ่งเป็นวันปีใหม่ (ตรุษจีน) ตามแบบโบราณ

จากข้อมูลข้างต้น แสดงว่า วันหยวนตั้นในอดีตของจีน ที่กำหนดวันไว้ในช่วงฤดูหนาว (เดือนสิบ เดือนสิบเอ็ด และเดือนสิบสอง) หรือช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ (เดือนหนึ่ง) ต่างกันไปตามยุคตามสมัยนั้น แท้จริงแล้ว ก็คือวันตรุษจีนนั่นเอง เพียงแต่ไม่เรียกว่า วัน “ชุนเจี๋ย” อย่างในปัจจุบันเท่านั้น
เจี่ยวจือ/เกี๊ยวซ่า ภาพจาก https://www.hjenglish.com/yuandan/ydcsm/
ในอดีต ชาวจีนมีวันสำคัญอีกวัน คือวันตงจื้อ (冬至) หรือวันตังโจ่ยของชาวแต้จิ๋ว ที่อาจตกวันใดวันหนึ่งในช่วงต้น กลาง หรือปลายเดือนสิบเอ็ดก็ได้ ไม่มีวันที่แน่นอน ทำให้วันหยวนตั้นในอดีต ที่แม้จะเปลี่ยนวันและเดือนหลายครั้ง ก็มักอยู่ในช่วงก่อนหรือหลังวันตงจื้อไม่เกินหนึ่งเดือนครึ่งเสมอ ทั้งสองวันนี้ ยังถือเป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนกันด้วย ต่างกันที่วันตงจื้อเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบปฏิทินสุริยคติจีน (阳历/陽歷) ส่วนวันหยวนตั้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบปฏิทินจันทรคติจีน (阴历/陰歷)

ที่สำคัญคือ ก่อนยุคราชวงศ์ถัง วันตงจื้อเคยสำคัญกว่าวันหยวนตั้น และหลังจากนั้น ก็ลดความสำคัญลงมาเสมอวันหยวนตั้นเรื่อยมาจนถึงยุคราชวงศ์ชิง ดังนั้น อาหารประจำเทศกาลของสองเทศกาลนี้ จึงมีความคล้ายคลึงกัน อย่างแรกเลยคือ เจี่ยวจือ (饺子/餃子) หรือที่เราเรียกกันว่า เกี๊ยวซ่าตามเสียงคำญี่ปุ่น

ชาวจีนกินเจี่ยวจือในวันหยวนตั้น ด้วยถือเคล็ดนัยยะของชื่ออาหารชนิดนี้ เพราะคำว่า เจี่ยวจือ มีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “เจียวจื่อ” (交子) ซึ่ง “เจียวจื่อ” คำนี้ หมายถึงช่วงนาทีที่จะเปลี่ยนจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ หรือเวลา 0.00 นาฬิกานั่นเอง คือเป็นเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พอดี

ดังนั้น การทานเจี่ยวจือ จึงแฝงนัยของความรื่นเริงสนุกสนาน ความกลมเกลียว ความมีสิริมงคล และความสมปรารถนา และการมีอายุมั่นขวัญยืน ชาวจีนจะต้มหรือนึ่งเจี่ยวจื่อทานกันในวันนี้ ดังที่ต้วนเฉิงซื่อ (段成式) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “สือผิ่น” (食品อาหารประเภทต่างๆ) ว่า “มีทั้งลูกที่ลอยอยู่ในน้ำและลูกที่อยู่ลังนึ่ง” ซึ่งก็คือมีเจี่ยวจื่อน้ำ (เกี๊ยวน้ำ) และเจี่ยวจื่อนึ่ง (เกี๋ยวนึ่ง) การทานเจี่ยวจื่อในวันหยวนตั้นหรือวันปีใหม่จีนโบราณ ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคราชวงศ์หมิงและยุคราชวงศ์ชิง

อาหารในวันหยวนตั้นรายการต่อมาคือ เหนียนเกา (年糕) หรือ เหนียนเหนียนเกา (粘粘糕) แปลว่า ขนมเหนียวๆ ซึ่งคำนี้ไปพ้องเสียงกับวลี เหนียนเหนียนเกา (年年高) ที่แปลว่า สูงขึ้นทุกๆปี ปริยายหมายถึงเจริญรุ่งเรือง เป็นขนมหวานแบบเดียวกับขนมเข่ง
น้ำตาลเจียวหยา/ตังเมหลอดจีน ภาพจาก https://kknews.cc/zh-sg/culture/b488mlj.html
ชาวจีนทางใต้ใช้แป้งข้าวเหนียวทำ ส่วนชาวจีนทางเหนือจะใช้แป้งข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียวทำ โดยผสมใส่น้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อย) แล้วนำไปนึ่งให้สุก เป็นขนมโบราณที่มีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่น เคยเป็นที่นิยมกันอย่างมากในยุคราชวงศ์หมิงและยุคราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะชาวจีนทางใต้ นิยมทานกันมาก และทุกวันนี้ก็เป็นขนมที่สัญลักษณ์วันตรุษจีนของชาวจีนในไทยด้วย

ทั้งเจี่ยวจื่อและเหนียนเกาถือเป็นอาหารประจำเทศกาลแบบดั้งเดิมจริงๆของชาวจีน จนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารจีนไปแล้ว

นอกจากอาหารสองรายการนี้แล้ว ยังมีของกินอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ทางปิ่ง” (汤饼/湯餅) สมัยก่อน ชาวจีนเรียกอาหารที่ทำจากแป้งสาลี ที่นวด ปั้นเป็นก้อน และต้มหรือนึ่งให้สุกว่า “ปิ่ง” (饼/餅) ดังนั้น ทางปิ่ง ก็คือก้อนแป้งสาลีแบนๆ ใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือเล็กน้อย หรืออาจทำเป็นเส้นหนาเท่าตะเกียบ ยาวหนึ่งเชียะ ใช้ต้มน้ำทาน ชนิดที่เป็นเส้น ก็คือบะหมี่น้ำนั่นเอง และเพราะเป็นเส้นยาวนี่แหละ จึงเป็นสัญลักษณ์การมีอายุยืนยาว

อู๋จิ้นเจียน (吴晋间) เขียนไว้ใน “ฟงถู่จี้ (风土记บันทึกประเพณีพื้นบ้าน) ว่า “วันเจิ้งตั้น (正旦ก็คือวันหยวนตั้น) ควรทานไข่ไก่ดิบคนละหนึ่งฟอง เพื่อการฝึกกายบำเพ็ญตน ด้วยเชื่อว่าช่วยให้มีอายุยืนยาว ดังนั้น ไข่ไก่ก็เป็นของกินอีกอย่างที่ทุกคนควรทานกันคนละฟองในวันหยวนตั้น
ทางปิ่ง/ก้อนแป้งต้ม/บะหมี่ ภาพจาก https://sns.91ddcc.com/t/93927
นอกจากเกี๊ยว ขนมเข่ง บะหมี่ ไข่ไก่ที่เป็นอาหารเชิงสัญลักษณ์ความมีสิริมงคลและอายุยืนยาวแล้ว ยังมีของกินเพื่อดูแลสุขภาพ พวกยาดอง น้ำต้มใบท้อ น้ำตาลเหนียว ผักกลิ่นฉุน ยาผงยาลูกกลอน เรียกว่าหมดทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และแม้แต่ยา

ยาดองอย่างแรก คือเจียวไป่จิ่ว (椒柏酒) เป็นเหล้าที่ดองด้วยพริกหอมและใบสนหางสิงห์ โดยจะดองด้วยกัน หรือแยกดองก็ได้ ยาดองนี้ใช้ดื่มเพื่ออวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ไม่แก่ก่อนวัย และมีอายุยืนยาว วิธีดอง ใช้พริกหอม (ชวนเจียว) 37 เม็ด ใบสนหางสิงห์ 7 ใบ ตำสองอย่างนี้ให้แหลก กรอกใส่ขวด เติมเหล้าขาว 500 ซีซี ปิดฝาขวดให้สนิท ดองไว้ 7 วัน ก็ใช้ได้ ดื่มครั้งละ 10 ซีซี

เช้าวันหยวนตั้น ทุกคนจะได้ดื่มยาดองนี้ โดยเริ่มจากคนอายุน้อยไปยังคนอายุมาก เพราะเชื่อว่าพริกหอมกินแล้วจะแก่ขึ้น จึงให้คนอายุน้อยก่อนดื่มก่อน จะได้มีอายุมากขึ้น ส่วนคนสูงอายุ ควรดื่มทีหลัง เพราะอายุขัยลดน้อยลงไป

ยาดองอีกขนาน คือ ถูซูจิ่ว (屠苏酒) เป็นยาดองยาจีนหลายตัว อาทิ อึ่งคี้ แปะต๊ก กุ้ยพ้วย ฮวยเจีย และอื่นๆ (ชื่อยาจีนเป็นเสียงแต้จิ๋ว) ดื่มเพื่อขับลม ขับพิษเย็น เสริมสร้างกำลังวังชา เป็นต้น ชาวจีนเชื่อว่า ดื่มยาดองนี้ในวันหยวนตั้น จะช่วยให้มีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ไม่เจ็บป่วยตลอดทั้งปี และต้องคนอายุน้อยกว่าดื่มก่อนเช่นกัน

น้ำต้มใบและกิ่งต้นท้อ ชาวจีนเชื่อว่าต้นท้อเป็นไม้ปราบมังกร ไล่ผี ต้มดื่มเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายและไล่ผี
ไข่ไก่ต้ม ภาพจาก https://sns.91ddcc.com/t/93927
น้ำตาลเจียวหยา (胶牙饧) เป็นน้ำตาลที่มีความเหนียวมาก ชาวจีนเชื่อว่า น้ำตาลชนิดนี้ช่วยรักษาฟันให้แข็งแรง ฟันแข็งแรงก็กินข้าวได้ กินข้าวได้ร่างกายก็แข็งแรง น้ำตาลชนิดนี้เคยเป็นที่นิยมกันมากในยุคราวงศ์สุยต่อเนื่องถึงราชวงศ์ซ่ง แต่หลังจากนั้น น้ำตาลชนิดนี้ได้กลายเป็นของไหว้เทพเจ้าเตาไฟ จึงค่อยๆเลือนหายไปจากรายการอาหารในวันหยวนตั้น
สุดท้ายคือพวกผักรสเผ็ดกลิ่นฉุน ได้แก่ ต้นหอม กระเทียม กุยช่าย เหลี่ยวเฮ้า (蓼蒿) และเจี้ย (芥) ผักทั้งห้าชนิดนี้ กินแล้วจะรู้สึกร้อน เหงื่อแตก ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ ชาวจีนสมัยก่อนเชื่อว่า กินผักทั้งห้าชนิดนี้ แล้วจะช่วยขจัดสิ่งชั่วร้ายโรภัยไข้เจ็บได้

ล่วงมาถึงปัจจุบัน อาหารหลายอย่างที่กล่าวมาได้เลือนหายไปแล้ว วันหยวนตั้น ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากล แต่กระนั้น ก็ยังมีอาหารบางอย่างที่หลงเหลือไว้ให้ได้ทานกันในวันขึ้นปีใหม่ เช่น เจี่ยวจือหรือเกี๊ยวซ่า และเหนียนเกาหรือขนมเข่ง เป็นต้น

อันที่จริง อาหารเทศกาลที่เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญานและวัฒนธรรมประเพณี ไม่ได้หายไปไหน แค่เปลี่ยนไปเท่านั้น
ยาดองพริกหอมใบสน/เจียวไป่จิ่ว ภาพจาก http://www.baike.com/wiki/%E6%A4%92%E6%9F%8F%E9%85%92
ผักกลิ่นฉุนทั้งห้า/อู่ซิงไช่ าพจาก https://kknews.cc/zh-sg/culture/b488mlj.html
กำลังโหลดความคิดเห็น