xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล สาวไทย รุ่น “Gen Y” กับชีวิตอินไซด์แดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ University of International Business and Economics (UIBE) ณ กรุงปักกิ่ง
MGR ONLINE--ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล สาวไทย รุ่น “Gen Y” ผู้มีชื่อเล่นว่า “ดาว” หลงมนต์เสน่ห์วัฒนธรรมภาษาจีน ที่ได้ชักพาเธอสู่แผ่นดินใหญ่ ศึกษาและใช้ชีวิตในประเทศจีนมาร่วมสิบปี ดร.ร่มฉัตร ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคมั่งคงของจีน โดยเข้าศึกษาระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ครองอันดับหนึ่งด้านเศรษฐกิจการค้า คือ มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ณ กรุงปักกิ่ง (University of International Business and Economics ชื่อย่อ UIBE) เมื่อปี 2008 อันเป็นปีที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ถือเป็นช่วงหลักหมายการก้าวสู่ “ยุคใหม่” อีกก้าวขั้นของประเทศจีน

อาจารย์ดาวศึกษาปริญญาโท ต่อเนื่องจนจบ ป.เอก ณ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ทันทีที่จบการศึกษา ผู้บริหาร UIBE ก็ได้เชิญเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติของ UIBE

รวมเวลาที่ศึกษา ทำงาน ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีน ถึงวันนี้ นับได้ 9 ปีเต็ม! ถือได้ว่าดร.ร่มฉัตรเป็น “อินไซต์” แดนมังกร คนหนึ่ง ผู้สื่อข่าว “มุมจีน” ได้พบอาจารย์ดาวที่กรุงปักกิ่ง จึงถือโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์แบบจัดหนัก ทั้งประเด็นการทำงาน การใช้ชีวิต และมุมมองการพัฒนาประเทศจีน

ถาม: อาจารย์เป็นผู้ที่ทำงานด้านจีน มีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้ศึกษา และปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างเหนียวแน่นยาวนานเช่นนี้?
ตอบ: ก่อนอื่นต้องขออนุญาตเล่าจุดเริ่มต้นที่มาจีนก่อนเลยนะคะ อาจารย์เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์ เอกเอเชียศึกษา และเรียนภาษาจีนเป็นวิชาโท ชอบเรียนภาษาจีน เข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่งที่เริ่มเรียนก็ตั้งใจมาก เตรียมอ่านล่วงหน้ากลับมาก็ทบทวน ประมาณปีสองได้มีโอกาสไปเรียนภาษาจีนช่วงฤดูร้อนสองเดือนที่มหาวิทยาลัยยูนนาน

ตอนนั้นหลังจากกลับมารู้สึกว่าภาษาจีนเราก้าวหน้าเร็ว ประกอบกับสนใจสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของจีน ก็เลยเริ่มมองหาที่เรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศจีน ช่วงเรียนปีสี่ก็หาที่เรียนที่ตัวเองสนใจ ก็มาเจอที่ UIBE เป็นมหาวิทยาลัยในเมืองปักกิ่งที่ครองอันดับหนึ่งด้านการค้า การจัดการและการเงิน เพราะขณะนั้นคิดว่าไปเรียนที่จีนทั้งทีมันต้องได้อะไรมากกว่าภาษา กอปรกับตัวเองมีความสนใจทางด้านเศรษฐกิจเลยเลือกมาสอบที่มหาวิทยาลัยนี้ หลังจากสอบผ่านได้รับหนังสือตอบรับเข้าเรียน เท่าที่จำได้คือสอบเสร็จวิชาสุดท้ายในภาคการศึกษาสุดท้ายของปริญญาตรี วันที่สองก็บินมาเรียนต่อที่จีนเลยเพราะตอนนั้นที่นี่เปิดเทอมแล้ว เอาเป็นว่าไม่มีเวลาหยุดพักเลยแหละคะ

หลังจากเรียนจบโทแล้วก็ได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอกเลย หลังจากเรียนจบก็ได้รับการทาบทามจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยให้ “留校”หมายถึงอยู่ทำงานที่มหาวิทยาลัยที่เรียนจบ สุดท้ายก็มาเป็นอาจารย์ที่ School of International Education ดูแลงานด้านนักศึกษาต่างชาติ งานสอนและวิจัย ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นต้นค่ะ พูดถึงแรงบันดาลใจมันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆนะ จากเวลาและประสบการณ์ที่เราอยู่ที่นี่ ที่ผ่านมาเพื่อนๆทั้งจีนและต่างชาติก็น่ารัก อาจารย์ผู้อาวุโสท่านต่างๆที่ทำงานก็เอ็นดูเราดีและให้โอกาส มอบหมายงานที่ท้าทายให้เรารับผิดชอบ เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆมากมายที่นี่ แง่มุมในการทำงานและชีวิตในมุมแบบจีนๆ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากค่ะ ตัวเองก็รู้สึกสนุกและได้ท้าทายกับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามา ชอบที่จะได้เรียนรู้อยู่เรื่อยๆค่ะ

ถาม: ทำไมเลือกทำงานที่จีน การทำงานกับชาวจีน แตกต่างจากการทำงานกับคนไทยอย่างไร?
ตอบ: ที่เลือกทำงานที่นี่เพราะว่า หนึ่งไม่ใช่นักศึกษาต่างชาติทุกคนที่เรียนจบแล้วหางานทำได้ที่นี่และที่สำคัญคือเราได้งานที่ตัวเองพอใจ ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาและได้พัฒนาความสามารถโดยรวมของตัวเอง “Comprehensive Skill” เพราะการทำงานกับคนจีนนั้นไม่ใช่แค่เรื่องภาษาอย่างเดียว แต่มันคลอบคลุมไปถึงการเข้าใจ การสื่อสาร การแก้ไขปัญหา มารยาททางสังคมในที่ทำงาน เป็นต้น ที่เราต้องปรับตัวและต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

สไตล์การทำงานของคนจีนนั้นในแง่ของขอบเขตงานที่รับผิดชอบจะของใครของมัน จะไม่รับผิดชอบงานของคนอื่นและเรื่องการช่วยเหลือมีน้ำใจต่อกันคนไทยจะมีมากกว่าเยอะค่ะ แต่เราก็เข้าใจเขาอย่างว่าโดยธรรมชาติของสภาพแวดล้อมในสังคม ผลักให้เขาแข็งขัน แก่งแย่งและต่อสู้เพื่อให้ได้มาในสิ่งต่างๆตั้งแต่การเรียนมาจนถึงการทำงาน ตรงจุดนี้ก็จะเห็นความต่างอย่างชัดเจนระหว่างคนจีนและคนไทยค่ะ ที่เมืองไทยการทำงานจะค่อนข้างมีความเกื้อกูลช่วยเหลือกันมากกว่า

เรื่องของการทำงานกับคนจีนในด้านอื่นๆ ที่เขาค่อนข้างถือคือ การให้หน้าตา นับถือนอบน้อมระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย ตรงนี้จะคล้ายๆกับเมืองไทยที่ให้ความสำคัญกับผู้หลักผู้ใหญ่ค่ะ ลักษณะการทำงานสื่อสารของคนจีนจะตรงไปตรงมากับคนที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่หากว่าบางทีเป็นผู้ใหญ่สื่อสารกับผู้น้อยก็อาจจะอ้อมค้อมบ้างแบบลักษณะที่คนจีนกล่าวว่า “话里有话” หมายถึงในคำพูดที่พูดออกไปมีความหมายนัยยะต้องตีความกันอีกทอด ในสังคมจีนไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงประชาชนทั่วไปจะใช้ “น้ำเมา” เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในที่นี้ขอเรียกว่าน้ำศักสิทธิ์ เพราะมันศักสิทธิ์สมชื่อจริงๆ ขอแค่คุณดื่มเยอะ ดื่มจนเจ้าภาพพอใจจนสนุกสนานโลดเต้นกอดคอกัน ต่อไปข้างหน้าคุณจะเป็นเพื่อนที่ดีกับเขา ไปขอความช่วยเหลือหรืออะไรรับรองได้หมดค่ะ นี่ก็คือข้อแตกต่างที่เด่นชัดแต่อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมโดยรวม(Overall Culture) จะคล้ายๆกับเมืองไทยเนื่องจากเป็นวัฒนธรรมเอเชียที่มีอัตลักษณ์หลายอย่างที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันค่ะ

ถาม: จากกระแสจีนบูม การที่คนไทยเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ในจีนมากขึ้น เช่น มาเรียน มาศึกษา มาลงทุน...ช่วยให้คนไทยเข้าใจจีนมากขึ้นแค่ไหน และในฐานะที่อาจารย์ได้ใช้ชีวิต ทำงานในจีนมานาน คิดว่าชาวไทยทั่วไปในประเทศไทย มีความเข้าใจจีนอย่างลึกซึ้งแค่ไหน ?
ตอบ: ตามความเห็นของดิฉัน ก่อนอื่นต้องแบ่งชาวไทยทั่วไปออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือพวกที่เคยได้สัมผัสและได้คลุกคลีกับคนจีน มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนช่วงระยะเวลาหนึ่งจริงๆ กับประเภทที่สองได้รับรู้ข่าวสารของจีนจากสื่อหรือได้เห็นได้สัมผัสกับนักท่องเที่ยวจีนที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในเมืองไทย แน่นอนว่าคนสองกลุ่มนี้มีความเข้าใจจีนที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกจะเข้าใจจีนดีมากกว่า จะถ่องแท้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมีการได้คลุกคลีแลกเปลี่ยนกับคนจีนมากแค่ไหน กับอีกประเภทคือรู้จักจีนยุคใหม่แค่ผิวเผิน จะติดภาพคนจีนในไทยยุคเก่าอยู่ พูดกันถึงคนกลุ่มใหญ่คือคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็จะเห็นข่าวเกี่ยวกับประเทศจีนมากขึ้น การไปเที่ยวเมืองไทยของคนจีนเพิ่มมากขึ้นทุกปีจนปัจจุบันทะลุ 10 ล้านคนต่อปีไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีก ประเทศไทยทำเงินจากการท่องเที่ยวได้มากมายจนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักแล้วขณะนี้ประเทศไทยก็ได้เงินจากนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเช่นกันค่ะ

อีกเรื่องหนึ่งที่สื่อไทยให้ความสนใจคือข่าวเศรษฐกิจการเมืองของจีนเนื่องจากนโยบาย “การเดินออกไป” ของจีนแบบใหม่นั้นดึงดูดประเทศโดยรอบเหลือเกินโดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือต่างๆภายใต้ความร่วมมือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road ชื่อย่อ OBOR) เพราะฉะนั้นแนวโน้มของประชาชนคนไทยในอนาคตที่จะเข้าใจประเทศจีนคงจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในแง่ของการไปมาหาสู่ของประชากรสองประเทศ (การเรียน การทำการค้า) ยันไปถึงการร่วมมือระดับรัฐบาล
ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ University of International Business and Economics (UIBE) ณ กรุงปักกิ่ง
ถาม: อาจารย์ใช้ชีวิตในจีนมานาน ช่วง 10 ปีมานี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนอย่างไร จีนจะบรรลุสังคมกินดีอยู่แบบถ้วนหน้า(小康社会)ได้ตามเป้าหมาย ?
ตอบ: ความหมาย Definition ของสังคมกินดีอยู่ดีของจีน ที่จีนเรียก 小康社会 เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในยุคเติ้งเสี่ยวผิงมาตราฐานของการกินดีอยู่ดีคือ “温饱”แปลตรงๆจะหมายถึงอบอุ่นและอิ่ม หมายถึงมีเสื้อผ้าใส่ มีอาหารรับประทาน คือมีปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำรงชีพก็ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ 小康社会

สังคมกินดีอยู่ดีของจีนถูกยกระดับมาเรื่อยๆตามยุคสมัย จนปัจจุบันแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมล่าสุดที่จะบรรลุในปี 2020 นี้คือ “全面小康社会”หมายถึงบรรลุการกินดีอยู่ดีแบบเสร็จสมบูรณ์ นัยยะของเป้าหมายนี้คือ คนจีนทั้งประเทศไม่มีคนยากจนหลงเหลือ จีดีพีต่อหัวประชากร (Real GDP per capita) เท่ากับ 4,000 เหรียญสหรัฐ หากจัดอันดับในระดับโลกจะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ชั้นกลางระดับสูง ทั้งประเทศมีความเป็นเมือง“城镇化”หมายถึงมีความเจริญเข้าไปถึงมากกว่า 50% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หมายความว่าความเจริญจะขยายเข้าไปในเมืองชั้นใน ไม่ใช่แค่เกาะติดเมืองที่ติดทะเลหรือเมืองใหญ่ๆ ทั้งนี้การบรรลุการกินดีอยู่ดีแบบเสร็จสมบูรณ์นั้น ณ ปัจจุบันไม่ใช่แค่ด้านวัตถุแต่ยังควบรวมจิตวิญญาณการรักชาติ ร่วมกันพัฒนาไปกับพรรค และมีความมีอารยะธรรม (Civilization) มันคือเป้าหมายใหม่ที่รวมสิ่งที่จับต้องไม่ได้เข้ามาด้วย

ดิฉันมองว่าในปี 2020 จีนจะบรรลุการกินดีอยู่ดีแบบเสร็จสมบูรณ์ มีความท้าทายอยู่เหมือนกันเพราะเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปีที่จะพลิกเปลี่ยนจีนแบบหน้าใหม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศจีนมีปัญหาการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศมานานหลายสิบปีและทุกวันนี้ก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ทั้งหมดเสียทีเดียว ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามแทบจะทุกวิถีทางเช่นกัน ทั้งนี้การดำเนินนโยบายของประเทศจีนค่อนข้างรวดเร็วและเด็ดขาด ดิฉันคิดว่าการจะบรรลุการกินดีอยู่ดีแบบเสร็จสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นได้แต่อาจจะต้องเกินปีเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางเอาไว้เท่านั้นเองค่ะ

ถาม: เนื่องจากปัจจุบันจีนมีนโยบายมุ่งการทูตต่างประเทศมาก และได้ผลักดันนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศเชิงรุก เชื่อมเอเชีย ยุโรป ไปถึงแอฟริกา อย่างทั่วทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรมด้านต่าง การศึกษา ไทยในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดชาติหนึ่ง และเป็นสมาชิกในอาเซียน มีความเข้าใจนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จีนแค่ไหน?
ตอบ: นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีนถือว่าเป็นประเด็นร้อนบนเวทีสากลขณะนี้ ดิฉันเชื่อว่าตอนนี้ทั้งนักวิชาการและสื่อไทยก็จับตามองอยู่เช่นกัน ก่อนอื่นเราต้องแบ่งก่อนว่า หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่จีนหยิบยกขึ้นมานั้นมีสองเส้นทาง หนึ่งคือทางบก หนึ่งคือทางน้ำ ทางบกจะนับเส้นทางสายไหมโบราณ จากภาคตะวันตกจีนไปจนถึงยุโรป ทางน้ำคือมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วนไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ประเทศที่อยู่ในแถบทั้งสองนี้เคยมีความร่วมมือกับจีนอย่างแน่นแฟ้นในอดีต

คราวนี้จีนทำให้มันฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก “复活”กล่าวคือหยิบยกขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้มีความร่วมมือขึ้นมาอีกครั้งในทุกด้าน ในครั้งนี้จีนได้ทุ่มทั้งแรง ทุ่มทั้งงบประมาณมหาศาล เพื่อดึงดูดประเทศที่อยู่ในสองแถบนี้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมมือกันด้านต่างๆ จะเน้นด้านการเชื่อมต่อ เศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก เท่าที่รับทราบจากข้อมูลข่าวสารต่างๆตอนนี้ประเทศเส้นทางสายไหมทางบกจะกระตือรือร้นกับนโยบายจีนนี้มาก พยายามที่จะเข้ามาหาและใช้ประโยชน์จากนโยบายนี้เต็มที่

ดิฉันมองว่า OBOR นี้เป็นนโยบายอัดฉีดเงินจากรัฐบาลจีนเพื่อดึงดูดประเทศต่างๆเข้ามาแชร์และใช้ประโยชน์แบบ win-win สำหรับกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรายังไม่คึกคักเท่าที่ควร มีตื่นตัวจากนโยบายดังกล่าวบ้างแต่ก็ยังน้อยกว่าทางแอฟริกาหรือเอเชียกลางค่ะ อย่างเช่นตอนนี้ที่มหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาใหม่ออกมาปีนี้ปีแรกคือ OBOR Scholarship โควต้าทั้งหมด 80 ทุน จากอาเซียนจะได้มากันประปราย ประเทศแถบเอเชียกลางและแอฟริกาจะมากันเยอะเป็นส่วนใหญ่ค่ะ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ OBOR ในรายละเอียดเท่าที่ควรค่ะ อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการประชาสัมพันธ์ ในตอนนี้หน่วยงานรัฐของจีนในต่างประเทศ ไม่ว่าสถานทูตหรือหน่วยข่าวก็กำลังประชาสัมพันธ์เรื่องนี้กันอย่างขันแข็งค่ะ

ถาม: มองความสัมพันธ์ไทย-จีน ในปัจจุบันอย่างไร?
ตอบ: ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีน ปีนี้เป็นปีที่ 42 และดำเนินมาอย่างราบรื่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยนั้นถือว่าเป็นเพื่อนสนิทของจีนประเทศหนึ่งจนมีคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยๆว่า “中泰一家亲”หรือไทยจีนญาติมิตรบ้านเดียวกัน“中泰铁哥们”หรือจีนไทยเพื่อนสนิทสัมพันธ์แข็งดังเหล็ก การมาเที่ยวของคนจีนในไทยก็คงไม่ต้องพูดถึงกันอีก ประเทศไทยสำหรับคนจีนดังเป็นพลุแตก มากันเยอะจนแทบจะต้อนรับกันไม่ไหว คนไทยก็ไปเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่กันมากขึ้น คนไทยนิยมสนับสนุนให้ลูกหลานเรียนภาษาจีนหรือไปเรียนต่อที่เมืองจีนกันมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นในแง่มุมของการแลกเปลี่ยนของประชาชน

ในมุมของการลงทุนและการค้า ปีหลังๆมาบริษัทจีนมาลงทุนในเมืองไทยอย่างรวดเร็วจนเป็นอันดับสอง ทุกวันนี้ก็มีบริษัทจีนที่มาลงทุนในไทยแล้วเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ก็เป็นดัชนีชี้วัดว่าธุรกิจของจีนในประเทศไทยสามารถดำเนินกิจการไปได้ ส่วนบริษัทใหญ่สัญชาติไทยอย่าง CP และมิตรผล เป็นต้น ก็ดำเนินงานได้อย่างประสบความสำเร็จในจีนเช่นกัน จะเห็นได้ว่าในแง่ของเศรษฐกิจการร่วมมือระหว่างไทยจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่สำคัญอีกอย่างที่ดิฉันอยากจะกล่าวถึงคือ สถาบันขงจื้อของจีนในประเทศไทยนั้นมีทั้งหมด 15 แห่งทั่วประเทศ จากสถาบันขงจื้อ 115 แห่งในเอเชีย ถือว่ามากที่สุดในเอเชีย สถาบันขงจื้อเป็นสถาบันเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีน แบบไม่มุ่งผลกำไร (non-profit) ที่ถูกจัดตั้งและสนับสนุนโดยรัฐบาลจีน การร่วมมือด้านอื่นๆกำลังจะตามมาเรื่อยๆ อย่างเช่นสิ่งก่อสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นต้น จากสิ่งที่กล่าวไปแล้วจะเห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างไทยจีนนั้นค่อนข้างแน่นแฟ้นและมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันหลายด้านมากขึ้นเรื่อยๆค่ะ

ถาม: ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมอย่างไร กับนโนบายการทูตยุคหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง?
ตอบ: ในมุมมองของประชาชนคนไทยตาสีตาสาคนหนึ่งอย่างดิฉันมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรมองนโยบายนี้อย่างเป็นกลาง กล่าวคือเรามีจุดยืนของตัวเองที่เด่นชัดและใช้ประโยชน์ร่วมมือกับนโยบายของ OBOR อย่างเต็มที่ ตอนนี้จีนมีนโยบายที่ต้องการให้ประเทศโดยรอบเติบโตไปด้วยกัน “互利共赢,健康发展” กล่าวคือ ช่วยเหลือเกื้อกูล เจริญเติบโตไปอย่างยั่งยืน เพราะการร่วมมือนี้คลอบคลุมหลายด้าน

รัฐบาลไทยควรเตรียมความพร้อมคือควรมีหน่วยงานย่อยตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลและสนับสนุนโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับการร่วมมือในกรอบของ OBOR โดยเฉพาะ เพราะการดำเนินการโครงการต่างๆให้เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จคงไม่ใช่แค่ในระยะเวลาสั้นๆเพื่อบรรลุเป้าหมายแต่มันคือการวางแผนระยะยาวซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องร่วมเดินไปด้วยกัน ซึ่งการมีหน่วยงานขึ้นมารองรับก็เป็นเรื่องสำคัญในแง่ของการบริหารจัดการ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าทางการจีนก็พร้อมสนับสนุนหากรัฐบาลไทยเอาจริง และเอ่ยปากขอให้ร่วมมือกันจัดตั้งและร่วมมือกันสนับสนุนค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น