xs
xsm
sm
md
lg

อาหาร 2-3 อย่างในเทศกาลปลายหนาวของชาวจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัวลอย/ตังโจ่ยอี๊ขาวแดง ภาพจาก http://yui-mom.com.tw/%E5%86%AC%E8%87%B3/
โดย พชร ธนภัทรกุล

เมื่อวานนี้ เป็นวันตังจี่ หรือนิยมเรียกกันว่า ตังโจ่ย (冬节/冬節เสียงแต้จิ๋ว)

นับจากวันตังจี่ (冬至 เสียงแต้จิ๋ว) ไปอีกสักสองสัปดาห์ ก็จะเข้าเดือนสุดท้ายของฤดูหนาว และด้วยการคำนวณปฏิทินอย่างละเอียด ทำให้วันตังจี่มักตกอยู่ในวันใดวันหนึ่งช่วงวันที่ 21-22-23 เดือนธันวาคมของทุกปีตามปฏิทินสากล ไม่คลาดเคลื่อนไปจากนี้ แต่ถ้าดูจากปฏิทินเกษตรคติหรือจันทร์คติ (农历阴历/農歷陰歷) จะตกในวันใดวันหนึ่งของเดือนสิบเอ็ด เพียงแต่ไม่อาจกำหนดวันที่แน่นอนได้ เพราะอาจตกช่วงต้นเดือน กลางเดือน หรือปลายเดือนก็ได้ สำหรับปีนี้ วันตังจี่มาเร็ว ตกวันชิวสี่หรือวันที่สี่เดือนสิบเอ็ด

ชาวจีนมองว่า วันตังจี่เป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปทางใต้จนสุดทางแล้ว และต้องโคจรกลับขึ้นเหนือ และวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่กลางวันจะสั้นที่สุด หลังจากนี้ กลางวันจะทอดยาวขึ้น คำว่า “จี่” หรือ “จื้อ” (至) แปลว่า ถึงที่หมาย มีนัยว่า ถึงสุดทาง และเนื่องจาก ปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์โคจรไปทางใต้จนสุดทาง เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว จึงเรียกวันนี้ว่า ตังจี่ (冬至) ตัง (冬) หมายถึงฤดูหนาว
บัวลอย/ตังโจ่ยอี๊ขาวแดง ภาพจาก http://anjumanara.com/festival-dongzhi-festival/
หากคุณอยู่ทางภาคเหนือของจีน คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้ชัดว่า หิมะเริ่มละลาย สายน้ำเริ่มไหลลงมาจากภูเขาสูง ชั้นน้ำแข็งที่เกาะจับบนผิวน้ำในธารน้ำเริ่มปริแตก สายน้ำเริ่มมีชีวิตชีวา ชาวจีนมองว่านี่เป็นพลังหยังแรกที่ปรากฏให้เห็นในรอบปี ดังนั้น วันตังจี่จึงเป็นวันเริ่มต้นของคาบฤดูแรกของปี

ตามปฏิทินสุริยคติจีน ในหนึ่งปีจะมี 24 คาบฤดู หรือที่ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ยี่-จับ- สี่-โจ่น-ขี่ (二十四节气เสียงแต้จิ๋ว) ในสมัยโบราณ ชาวจีนนับคาบฤดู “ตังจี่” นี่แหละเป็นคาบฤดูแรกของปี วันตังจี่จึงเป็นวันเริ่มต้นของทุกคาบฤดู และเป็นเสมือนวันขึ้นปีใหม่ด้วย ซึ่งชาวจีนมีสำนวนพูดกันว่า ตัง-จี่-ตั่ว-หยู่-นี้ (冬至大如年เสียงแต้จิ๋ว) หมายถึง ตังจี่สำคัญดั่งตรุษปีใหม่ คือมีประเพณีเฉลิมฉลองกันเหมือนเช่นวันตรุษปีใหม่ ซึ่งในสมัยก่อนแผ่นดินราชวงศ์ถัง วันตังจี่ที่เคยสำคัญกว่าวันตรุษปีใหม่ ได้ถูกลดความสำคัญลงมาเทียบเท่าวันตรุษปีใหม่

นับแต่สมัยแผ่นดินราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา วันตังจี่คือวันเทศกาลสำคัญ เพราะวันตังจี่เริ่มปรากฏพลังหยัง กลางวันเริ่มยาวขึ้น อากาศเริ่มอุ่นขึ้น จึงควรแก่การเฉลิงฉลอง แต่หลังยุคสามก๊กและแผ่นดินราชวงศ์จิ้น (ช่วงปีค.ศ.220-240) เริ่มมีงานพระราชพิธีในวันตังจี่ ซึ่งจัดใหญ่รองลงมาจากวันขึ้นปีใหม่ เปิดโอกาสให้บรรดาขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ เหล่าราชทูตจากประเทศต่างๆและตัวแทนชนเผ่าต่างๆ ได้เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลแด่องค์ฮ่องเต้

หลังสมัยแผ่นดินราชวงศ์ซ่ง มีการจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับงานพระราชพิธีนี้ด้วย มีการจัดทหารม้าพร้อมชุดเกราะออกศึกตั้งแถวเรียงรายทั้งในและนอกพระราชวัง มีการประดับธงทิว ประโคมฆ้องกลอง บรรเลงดนตรี บรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้า จะต้องแต่งกายชุดขุนนางเต็มยศ เรียกว่างานใหญ่ยิ่งกว่าพระราชพิธีบวงสรวงเทพยดาเสียอีก

ขยับมาในสมัยแผ่นดินราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีพระราชพิธีบวงสรวงที่หอเทียนถาน (天坛/天壇) ในกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ชิง มีการจัดบวงสรวงกันที่นี่ในวันนี้ของทุกปี เพื่อขอพรให้เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์คุ้มครองบ้านเมืองให้สงบสุข ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข เป็นพระราชพิธีที่ใหญ่โต เอิกเกริก ซับซ้อน และมีรายละเอียดเยอะมาก
บัวลอย/ทังหยวน ภาพจาก http://sh.sina.com.cn/food/msjx/2014-02-12/113181527.html
นอกจากพิธีหลวงแล้ว บรรยากาศงานวันเทศกาลก็แผ่คลุมไปทั่วในหมู่ชาวบ้าน โดยในอดีต วันนี้จะมีกาจัดสุราอาหารเลี้ยงบรรดาครูบาอาจารย์และคนเฒ่าคนแก่ เลี้ยงใหญ่ราวกับเลี้ยงฉลองปีใหม่เลยทีเดียว

ดังมีบันทึกถึงบรรยากาศงานวันเทศกาลนี้ของเมืองไคฟง สมัยแผ่นดินราชวงศ์ซ่งว่า “พอถึงวันตังจี่ในเดือนสิบเอ็ด เมืองหลวงจะให้ความสำคัญกับงานเทศกาลนี้มากที่สุด แม้แต่คนยากคนจน ก็ยังเอาเงินที่เก็บออมมาทั้งปี หรือไม่ก็หยิบยืม มาซื้อเสื้อผ้าใหม่ ตระเตรียมอาหาร เซ่นไหว้บรรพชน ทางการอนุญาตให้ชาวบ้านตั้งวงเล่นการพนันได้ ผู้คนต่างไปมาหาสู่อวยชัยให้พรแก่กัน ดุจดั่งวันตรุษปีใหม่”

ความส่วนนี้ปรากฏอยู่ในบันทึก “ตงจิงเมิ่งหัวลู่” (东京梦华录) ของเมิ่งหยวนเหล่า (孟元老)

บรรยากาศงานเทศกาลวันตังจี่นี้ มีมาตลอด เอิกเกริกคึกคักตั้งแต่ในวังหลวงจนถึงชุมชนชาวบ้านตามตลาดร้านถิ่น กระทั่งตามวัดวาอาราม ในยุคซ่งใต้ ทางการถึงกับเอาเงินให้ชาวบ้านยืมไปใช้จ่ายช่วงเทศกาลนี้

มาจนในสมัยแผ่นดินราชวงศ์ชิง บรรยากาศงานเทศกาลวันตังจี่เริ่มโรยรา เหตุเพราะการสงครามทั้งกับต่างชาติและการศึกภายในหลายต่อหลายครั้ง เนิ่นนานเป็นแรมปี ทำให้คนทั้งประเทศอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้น งานเทศกาวันตังจี่ จึงต้องจัดให้เล็กที่สุด กระทั่งหดหายไปในที่สุด และแม้บรรยากาศงานเทศกาลที่เอิกเกริกใหญ่โตจะลาลับไม่หวนกลับ แต่ชาวจีน ก็ยังรักษาสิ่งหนึ่งไว้ นั่นคือ อาหารประจำเทศกาล
เกี๊ยวซ่านึ่ง ภาพจาก http://www.wdgf.cn/yangsheng/yinshi2244.html
ในวันตังจี่นี้ ชาวจีนทางเหนือกับชาวจีนทางใต้มีของกินประจำเทศกาลนี้ต่างกัน

ของกินประจำเทศกาลนี้ของชาวจีนทางเหนือ คือ “เจี่ยวจือ” หรือเกี๊ยวซ่า (饺子/餃子) และเกี๊ยว/หุนทุน (馄饨/餛飩) โดยจะนึ่งเกี๊ยวซ่า หรือต้มเกี๊ยวน้ำไว้ไหว้บรรพชนก่อนที่ทุกคนจะมานั่งร่วมโต๊ะทานกัน

ชาวเสฉวนและซานตงกลับนิยมทำซุปเนื้อแพะทานกัน ชนกลุ่มน้อยอย่างคนโชเสน (เกาหลี) และชาวฮั่นส่วนน้อยจำนวนหนึ่งทานเนื้อสุนัข นัยว่าเพื่อบำรุงร่างกาย

บางพื้นที่ในมณฑลส่านซี ชาวบ้านต้มถั่วแดงทานกัน เชื่อว่าจะช่วยขับไล่ภูตผีและโรคภัยไข้เจ็บ

ส่วนชาวจีนทางใต้มีของกินประจำเทศกาลต่างออกไป และดูจะเป็นเอกภาพมากกว่าชาวจีนทางเหนือ ของกินที่ว่านี้ บัวลอย

ชาวจีนเรียกบัวลอยกันหลายชื่อ เช่น ทังถวน (汤团) ถวนจื่อ (团子) ถวนหยวนจื่อ (团圆子) ทังหยวน (汤圆) อี๊หรืออี๊เกี้ย (丸/丸子เสียงแต้จิ่ว) ซี้ (𥻵 เสียงฮกเกี้ยน) โดยอี๊กับซี้เป็นบัวลอยลูกเล็กๆ มักมีสีขาวกับสีแดง สื่อนับถึงความเป็นพลังแห่งยินหยัง และไม่มีไส้ ซึ่งต่างจากบัวลอยลูกใหญ่อย่างทังหยวน ที่มักมีไส้เป็นงาผสมน้ำตาล
เกี๊ยวน้ำ/หุนทุน ภาพจาก http://www.china.org.cn/top10/2010-11/22/content_21395426_4.htm
เมื่อสมัยอาม่ายังสาว ที่บ้านก็ปั้นบัวลอยสีแดงสีขาวแบบนี้ โดยในคืนก่อนวันตังโจ่ยหลังอาหารมื้อเย็นแล้ว อาม่าจะเริ่มนวดแป้งข้าวเหนียว พอได้ก้อนแป้ง ก็จะเรียกเด็กๆในบ้านออกมาช่วยกัน “ซออี๊” (搓丸เสียงแต้จิ่ว) หรือปั้นลูกบัวลอย

งานปั้นบัวลอยที่ปีหนึ่งจะมีสักครั้งกลายเป็นเรื่องสนุกของเด็กๆ ทุกคนจะช่วยกันบิเอาแป้งข้าวเหนียวใส่ฝ่ามือ วางสองมือประกบกันคลึงวนไปมาจนก้อนแป้งกลายเป็นลูกกลมๆ

ในถาดจะมีแป้งข้าวเหนียวพิเศษก้อนไม่ใหญ่นักอยู่ก้อนหนึ่ง สีแดงสะดุดตา จนกลายเป็นเป้าหมายที่พวกเด็กๆแย่งกันเอาไปปั้นกันอย่างสนุกสนาน จนรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของวันเทศกาลที่จะมาถึงในวันรุ่งขึ้น พอปั้นกันเสร็จ อาม่าจะเอาผ้าขาวบางคลุมปิดไว้ พักรอไว้ต้มในวันรุ่งขึ้น

วันรุ่งขึ้น อาม่าลุกตื่นแต่เช้าขึ้นมาต้มบัวลอยที่ปั้นไว้เมื่อคืนนี้ บัวลอยต้มใส่น้ำตาลกรวดบ้าง น้ำตาลทรายขาวบ้าง แล้วแต่จะหาได้ สุกแล้วถูกตักใส่ถ้วย โดยไม่ลืมตักลูกบัวลอยสีแดงใส่ไปด้วย แต่งแต้มให้ดูสวยงาม เตรียมไว้ไหว้เทพเจ้าต่างๆในบ้าน เช่น เจ้าที่หรือตี่จุ๋เอี๊ย (地主爷) เทพสวรรค์หรือ ทีกง (天公) เทพเจ้าทวารบาลหรือหมึ่งซิ้ง (门神) เป็นต้น หลังไหว้เจ้าต่างๆแล้ว ทุกคนในบ้านก็จะได้อร่อยกับขนมหวานที่ลงมือทำกันเองกันละคนถ้วยสองถ้วย บัวลอยต้มสุกใหม่ๆ หอมหวานนุ่มลิ้นอร่อยมาก

ทางบ้านจะทำบัวลอยไว้ไหว้เจ้าเท่านั้น ไม่ได้ไหว้บรรพบุรุษ แต่คนแต้จิ๋วบางท้องถิ่น จะเอาบัวลอยเซ่นไหว้บรรพชนกันด้วย ในอดีตชาวบ้านจะเอาลูกบัวลอยไปติดแต้มไว้ตามวงกบประตู เครื่องเรือน รวมทั้งไปติดไว้ตามตัววัว ติดตามเขาบ้าง หัวบ้าง นัยว่าเพื่อให้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงมีแต่ความร่มเย็น แคล้วคลาด มีสุขภาพดีและเจริญรุ่งเรือง ส่วนเด็กๆกินบัวลอยในวันนี้ ก็ถือว่าโตขึ้นมาอีกขวบหนึ่งแล้ว

แถมท้ายด้วยเรื่องเล่าว่า เมื่อก่อน ทางราชการจีนจะไม่ประหารนักโทษกันในวันนี้ นักโทษคนไหนที่จะถูกประหารวันนี้ ก็ถือว่าโชคดีที่จะมีชีวิตอยู่ดูโลกได้อีกหนึ่งวัน ญาติๆก็จะเอาบัวลอยไปเยี่ยมยินดีที่รอดชีวิตมาได้ครบปี

อ้อ บัวลอยในวันตังโจ่ยนี้ เรียกว่า “ตังโจ่ยอี๊” (冬节丸/冬節丸เสียงแต้จิ่ว)

ปล. คำจีนที่ไม่ได้ระบุเสียงไว้ เป็นเสียงจีนกลางทุกคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น