xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวมองการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จีน บนเส้นทางสู่การเป็นผู้นำโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: .

 เซินทง เอ็กซ์เพรส (Shentong Express) บริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ของจีน ใช้หุ่นยนต์โกดังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนค่าจ้างพนักงาน  (ภาพซินหวา)
เมื่อไม่นานมานี้ คณะมุขมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Office of the State Council of the People's Republic of China) ได้เผยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติจีน เพื่อผลักดันให้จีนกลายเป็นผู้นำโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ภายในปี 2030

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มีคำย่อว่า AI หมายถึงความฉลาด ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งรวบรวมหลายๆ สิ่งไว้ในสิ่งนั้น เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้สามารถคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ มีระบบคิด ระบบกระทำอย่างมีเหตุผลตามปัจจัยเหมือนมนุษย์ อาทิเช่น ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ, หุ่นยนต์ที่มีความสามารถทำงานคล้ายกับมนุษย์, สามารถเล่นหมากรุก หมากล้อมเอาชนะแชมป์โลก และระบบการทำงานต่างๆ ในสมาร์ทโฟน

แผนยุทธศาสตร์ฯ วางเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในปี 2030 เป็นจำนวนเงินกว่า 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าในปัจจุบันกว่า 7 เท่าตัว โดยได้กำหนดมาตรการลดหย่อนทางภาษี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนการวิจัยไปสู่เป้าหมาย

นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะสร้างนครอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งทั่วประเทศสำหรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ และเพิ่มความเข้มข้นในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผลผลิตจากการวิจัย AI อีกทั้งจะผลักดันเทคโนโลยีฯ ให้แทรกซึมเข้าไปยังทุกภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จีนได้เปิดตัวห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติแห่งแรกขึ้นในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (China University of Science and Technology /USTC) เพื่อเป็นศูนย์การรวบรวมผู้มีความสามารถด้านการวิจัยชั้นนำของประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีสมองกล ซึ่งมีระบบประมวลผลที่เลียนแบบสมองมนุษย์ ภายใต้ความร่วมมือค้นคว้าวิจัยของสถาบันชั้นนำต่างๆ ทั่วจีน อาทิ มหาวิทยาลัยฟูตั้น, Shenyang Institute of Automation of the Chinese Academy of Science และ ไป๋ตู้ เสิร์ชเอนจิ้งใหญ่ที่สุดของจีน

นอกจากนี้ ภาครัฐของจีน เช่น ศาลยุติธรรม ก็ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเร่งกระบวนการยุติธรรมและการตรวจสอบมากขึ้น และมีความถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น ด้วยการนำ “เสี่ยวฟา” หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งออกแบบพัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยี Aegis ในหนานจิง มณฑลเจียงซู ออกให้บริการ โดยเสี่ยวฟาจะสามารถให้รายละเอียดที่จำเป็น เช่น วิธีการฟ้องคดี และยังสืบค้นประวัติคำพิพากษาและข้อกฎหมายประกอบต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่

สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมังกรให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากเพียงใด

เหลียวหลังมองความก้าวหน้าด้าน AI ของจีน
ชายหนุ่มมองหุ่นยนต์รุ่นใหม่ในนิทรรศการหุ่นยนต์การบริการนานาชาติครั้งที่ 6 ในนครเซี่ยงไฮ้อย่างสนใจ(ภาพซินหวา)
ในช่วงเวลาปี 2010 - 2014 ทางการจีนได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านปัญญาประดิษฐ์กว่า 8,410 รายการ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนฯ ในช่วงปี 2005 – 2009 ที่มีจำนวนการจดทะเบียนจำนวน 2,934 รายการ

สถาบันนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Science and Technology Policy) ของญี่ปุ่น ระบุว่าประเทศจีนมีปริมาณการเสนองานวิจัยด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขึ้นสู่เวทีสัมมนาของมหาวิทยาลัยชั้นนำในปี 2559 มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของจีนได้ท้าทายความล้ำหน้าด้านเอไอของแชมป์เก่าอย่างสหรัฐฯ โดยในเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้เผยแผนยุทธศาสตร์การค้นคว้าวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ใช่เป็นผู้นำโลกในเทคโนโลยีนี้แล้ว แต่กลับกลายเป็นจีน

แดนมังกรแหล่งอุดมจอมยุทธ์นักสร้างสมองกล
เด็กประถมจีนกำลังเพลิดเพลินกับเหล่าหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (ภาพจาก china.com.cn)
เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา “ลิงด์อิน” (LinkedIn) โซเชียลเน็ตเวิร์กด้านการทำงาน เผยรายงานการสำรวจระบุว่า จีนมีผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากถึง 50,000 คน ซึ่งมากที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ของโลก รองจากอันดับหนึ่งคือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากที่สุด ราว 850,000 คน ส่วนอันดับสอง ได้แก่ อินเดีย 150,000 คน ตามด้วยสหราชอาณาจักร 140,000 และแคนาดา 80,000 คน ในขณะที่ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และจีน มีประเทศละกว่า 50,000 คน

จีนยังให้ความสำคัญกับการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกลรุ่นใหม่ โดยร่างแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในยุคต่อไป ได้บรรจุรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น และวางแผนที่จะเพิ่มหลักสูตรดังกล่าวลงในสถาบันอาชีวะและสถาบันการศึกษาระดับสูงในจีน นอกจากนี้ จีนยังวางแผนสร้างความร่วมมือร่วมกับสถาบันชั้นนำทางด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับนานาชาติอีกด้วย

แรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากภาคเอกชนจีน
เทอรี่ กั่ว ผู้บริหารบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (ขวา) โรงงานผลิตสมาร์ทโฟน และสินค้าไฮเทคอื่นๆ ซึ่งเปลี่ยนระบบใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนจำนวนมาก กับแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา (ซ้าย) และมาซาโยชิ ซัน ประธานบริหารของซอฟต์แบงค์ (ภาพเอพี)
“เคพีเอ็มจี” (KPMG) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า จำนวนเงินลงทุนในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในเอเชียค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ของจีน ก็จะเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา “ไป๋ตู้” (Baidu) “อาลีบาบา” (Alibaba) และ เทนเซนต์” (Tencent) 3 บริษัทยักษ์ใหญ่จีนต่างแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของตนเองอย่างแข็งขัน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “ไป๋ตู้” ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอ็นจิ้นของจีนได้ดึงตัวนาย “ลู่ ฉี” อดีตผู้บริหารคนสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์ คอร์ป (Microsoft Corp) บริษัทซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) ของบริษัทไป๋ตู้ เพื่อผลักดันไป๋ตู้ไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลก พร้อมทั้งเปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality : AR) แห่งใหม่ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง

นอกจากนี้ ไป๋ตู้ ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ Bosch automotive และ Continental AG สองผู้นำด้านอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ สัญชาติเยอรมัน เพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านยานยนต์อัจฉริยะ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์ไร้คนขับของไป๋ตู้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไป๋ตู้ได้ประสบความสำเร็จในการนำรถไร้คนขับออกวิ่งถนนจริง ในงานอินเทอร์เน็ตโลก เมืองอูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียง ปี 2016

ทางด้าน “อาลีบาบา” ก็ได้นำ “หุ่นยนต์โกดัง” มาใช้ในคลังเก็บสินค้าสุดไฮเทค โดยการติดตั้งหุ่นยนต์ดังกล่าวไว้ใต้ชั้นวางของ เพื่อนำชั้นวางของเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ที่กำหนดได้ด้วยตนเอง และสามารถเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวาง อีกทั้งสามารถต่อคิวกับหุ่นยนต์ตัวอื่นๆได้ด้วย นอกจากนี้ อาลีบาบายังมีหุ่นยนต์ชนิดอื่นๆ เช่น หุ่นยนต์จัดวางสินค้าบนชั้นวางของอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ที่ช่วยติดใบสั่งของบนกล่องอีกด้วย

ส่วน “เทนเซนต์” บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้พัฒนา “วีแชท” (WeChat) แอพพลิเคชั่นแชตยอดฮิตของชาวจีน ซึ่งมีผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 846 ล้านคนทั่วโลก ก็ได้ตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมวงพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยได้สร้างห้องปฎิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีฯขึ้น พร้อมกับระดมจ้างนักพัฒนาชั้นแนวหน้ามาร่วมผลักดันการพัฒนาในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา “ไฟน์อาร์ต” (FineArt) หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งพัฒนาโดยเอไอแล็บ (AI Lab) ของเทนเซนต์ ได้ทำการแข่งขันหมากล้อมโดยสามารถล้ม “อิชิริกิ เรียว” (Ichiriki Ryo) ยอดฝีมือแชมป์หมากกระดานระดับ 7 ดั้งจากแดนอาทิตย์อุทัยได้อย่างเด็ดขาด

ผลกระทบต่อภาคการผลิตจีน
มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด คาดว่าสัดส่วนงานต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัตินี้ มีถึงราวร้อยละ 77 ในจีน (ภาพซินหวา)
“แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาทำนาย ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ปกนิตยสารไทม์ จะนำภาพของหุ่นยนต์ขึ้นปกในฐานะผู้บริหารที่ดีที่สุดแห่งปี เพราะการปฏิวัติหุ่นยนต์ทำให้จักรกลสามารถทำงานได้รวดเร็วและมีเหตุผลมากกว่ามนุษย์ อีกทั้งไม่มีความหวั่นไหวทางอารมณ์

"จักรกลจะทำในสิ่งที่มนุษย์ ไม่สามารถทำได้" หม่า กล่าวฯ และว่า "จักรกลจะเป็นผู้ร่วมงานของมนุษย์มากกว่าจะเป็นศัตรู" พร้อมเตือนว่า ผู้นำองค์กรที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ควรสรรหาคนหนุ่มรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อรับมือกับยุคที่จะมาถึง และเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โลกต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษา และสร้างวิธีการทำงานกับหุ่นยนต์ไว้

สมาคมหุ่นยนต์นานาชาติ (International Association of Robot) ระบุว่าทวีปเอเชียมีความต้องการหุ่นยนต์เพื่อกิจการอุตสาหกรรม (Industrial robot) เป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2557 โดยจีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภคหุ่นยนต์ประเภทดังกล่าวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการเติบโตกว่า 54 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันหุ่นยนต์กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคมจีน นอกจากจะสามารถช่วยลดภาระแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังสามารถช่วยงานที่มีความเสี่ยงต่างๆ เช่น การกู้ภัยในสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตราย ไปถึงงานบริการในภัตตาคารได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การทำงานของหุ่นยนต์ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานมนุษย์ไม่มากก็น้อย

บริษัทฟอกซ์คอนน์ ยักษ์ใหญ่อิเลคทรอนิกส์แห่งไต้หวัน ซึ่งเป็นซับพลายเออร์ให้แก่บริษัทไอทีโลกอย่าง แอปเปิล และซัมซุง ได้นำหุ่นยนต์ 60,000 ตัว มาทำงานแทนแรงงานมนุษย์ที่โรงงานแห่งหนึ่ง ในอำเภอคุนซัน มณฑลเจียงซู ในขณะที่กลุ่มบริษัทอีกว่า 600 รายในคุนซัน ก็มีแผนลดแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์เช่นกัน โดยนโยบายดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโตของบริษัทในยุคปัจจุบันไปแล้ว

แม้ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นจะสูง แต่การใช้หุ่นยนต์มีข้อได้เปรียบกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ ดังเช่น กรณีของฟอกซ์คอนน์ ซึ่งตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องคนงานกระโดดตึกตายจากความเครียดในการทำงาน โดยพวกเขาสามารถอุ่นใจได้ว่า หุ่นยนต์จะไม่กระโดดตึกตาย ไม่ว่าจะได้รับแรงบีบคั้นจากการทำงานขนาดไหน

สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics - IFR) คาดว่าในปี พ.ศ. 2560 จีนจะใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตมากกว่าประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union : EU) และอเมริกาเหนือ นอกจากนี้จะมีการเพิ่มจำนวนหน่วยการผลิตจากปัจจุบันเป็นสองเท่า หรือจาก 200,000 หน่วย เป็น 400,000 หน่วย

ในขณะที่ เวิร์ล อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) คาดการณ์ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่สี่ นี้ ได้เริ่มต้นแล้วในปี 2016 โดยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้เข้ามาเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลก และวิธีทำงานของคน ซึ่งมีแนวโน้มว่าตำแหน่งงานราว 5 ล้านตำแหน่งกำลังถูกเลิกจ้างไปภายในปี 2020 ขณะที่ผลวิจัยร่วมของ Citi และ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด คาดว่าสัดส่วนงานต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัตินี้ มีถึงราวร้อยละ 77 ในจีน และร้อยละ 57 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD ซึ่งมีจำนวน 30 ประเทศ

การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีนยังคงเป็นประเด็นถกเถียง ว่าจะกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการทำงานของมนุษย์หรือไม่ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังก่อให้เกิดความกังวลใจต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และความน่าสะพรึงกลัวหากมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้กับการผลิตยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติก็เป็นได้




กำลังโหลดความคิดเห็น