กลุ่มสื่อจีนรายงาน (10 ธ.ค.) จีนเตรียมปักธงชัยสร้างสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์เพิ่มแห่งที่ 5 เหนือดินแดนขั้วโลกใต้อย่าง “ทวีปแอนตาร์กติก” อันหนาวเหน็บ เร่งพัฒนาความรู้ความสามารถของนักวิจัยในชาติให้ก้าวทันเวทีโลก
รายงานระบุว่า จีนกำลังจะเริ่มโครงการก่อสร้างสถานีวิจัยแห่งใหม่ในภาคพื้นทวีปแอนตาร์กติก ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2565 และเป็นฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งที่ 5 ของจีนในดินแดนขั้วโลกใต้ โดยสถานีวิจัยฯ นี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างการวิจัยที่ขาดหายไปของสถานีวิจัยอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ จีนได้ส่งทีมนักสำรวจและนักวิจัยเดินทางไปกับเรือ “มังกรหิมะ”หรือเสวี่ยหลง (Xuelong - 雪龙) โดยบรรทุกทีมนักวิทยาศาสตร์จีน ไต้หวัน ไทย ตลอดจนเจ้าหน้าที่และลูกเรือ รวม 256 ชีวิต เดินทางสู่ทวีปแอนตาร์กติก เพื่อปฏิบัติภารกิจจำนวน 30 รายการตาม “โครงการสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 30” ระยะเวลา 155 วัน ก่อนจะกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้งในเดือน เม.ย. 2557
นอกจากนี้ จีนยังเดินหน้าวิจัยเรือตัดน้ำแข็งสำหรับเดินทางสำรวจขั้วโลก เรือตัดน้ำแข็งลำใหม่ที่จีนจะสร้างเองนี้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่มีกำลังในการตัดฝ่าผืนน้ำแข็งมากกว่าเสวี่ยหลง ซึ่งสามารถแล่นตัดฝ่าทะเลน้ำแข็งที่มีความหนา 1.2 เมตรได้ที่ความเร็ว 1.5 น็อต แต่เรือลำใหม่ออกแบบมาเพื่อตัดน้ำแข็งได้หนาถึง 1.5 เมตร ด้วยความเร็วที่ 2 - 3 น็อต
“แม้จีนจะเป็นชาติลำดับหลังๆ ที่เข้าสำรวจทวีปแอนตาร์กติก แต่เราจะเร่งพัฒนาเพื่อก้าวทันนานาชาติ” ฉี่ว์ ทั่นโจว ผู้อำนวยการศูนย์อาร์กติกและแอนตาร์กติก สำนักสมุทรศาสตร์แห่งชาติ กล่าว โดยจีนได้ส่งทีมสำรวจชุดแรกเข้าสู่อาณาจักรขั้วโลกใต้ในปี 2527 ก่อนจะก่อตั้งสถานีวิจัยแห่งแรกขึ้นในปีถัดมา ซึ่งปัจจุบันจีนมีสถานีวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกแล้วทั้งสิ้น 4 แห่ง
อย่างไรก็ดีบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างวิพากษ์วิจารณ์โครงการสำรวจวิจัยของชาติต่างๆ ว่าเป็นการรุกรานพื้นที่อยู่อาศัยของวาฬ แมวน้ำ เพนกวิน ตลอดจนสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอีกกว่า 16,000 ชนิด และคำนึงถึง “ผลประโยชน์ส่วนตน” เพียงอย่างเดียว