Ma Guitong
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
วัฒนธรรมกวนซี่ (Chinese Guanxi) ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือข่ายหรือ “กวนซี่” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมลัทธิขงจื๊อ เป็นสิ่งตกผลึกจากท่ามกลางสังคมตามแนวคิดปรัชญาขงจื๊อ เป็นปรากฏการณ์พิเศษทางสังคมและวัฒนธรรม ในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์และอื่น ๆ ในทวีปเอเชียจนกระทั่งชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันเครือญาติและเครือเพื่อน การแสดงตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน เรื่องการค้าขายก็จะเป็นเหมือนการร่วมประสานและแบ่งปันผลประโยชน์กันในครอบครัว ในพวกพ้องเครือข่ายเดียวกัน
สังคมชาวจีนไม่ได้เป็นสังคมปัจเจกนิยม ก็ไม่ได้เป็นสังคมนิยมที่แท้จริง แต่เป็นสังคมเชิงกวนซี่นิยม (Guanxism) กวนซี่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของวัฒนธรรมและระบบทางสังคมของประเทศจีน คำว่า “กวนซี่” นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดสำหรับชาวจีน แต่ความหมายที่ลึกซึ้งในนั้นมีความซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายและเข้าใจ มันเป็นตัวเชื่อมโยงทางสังคมที่มีเอกลักษณ์ มีการความรู้สึกนึกคิดปะปนกัน
ฐานแนวคิดของ “กวนซี่” เป็นวัฒนธรรมของลัทธิขงจื๊อ นักปรัชญาขงจื๊อเคยได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ใต้ฟ้าทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกัน” ดังนั้น ชาวจีนมีความเข้าใจว่า การให้ความช่วยเหลือคนอื่นแบบไร้เงื่อนไขถือเป็นพฤติกรรมที่มีคุณธรรม แต่เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกมัดทางศีลธรรมหรือรักษาหน้า ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมักจะมีจิตใต้สำนึกว่าควรจะตอบแทนบุญคุณ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือกันเป็นวิธีแสดงความขอบคุณอย่างหนึ่งที่ผู้คนยอมรับกัน และวิธีการแบบนี้จึงได้กลายเป็นวิถีที่มีการเอื้อเฟื้อกันและกันระหว่างบุคคล
ชาวจีนมีความเชื่อเรื่องแนวคิด “หยินกับหยาง” คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีสองด้าน ซึ่งเรื่องชั่วร้ายกับเรื่องดีมักจักเหมือนกับเงาติดตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกเมื่อ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ “กวนซี่” เพื่อได้รับผลดี ถือได้ว่าเป็นวิธีการสะสมทรัพยากรในยามสงบสุขเพื่อป้องกันวิกฤติในยามทุกข์ (Yeung and Tung.1996 : 62) เพราะว่า ในช่วงชีวิตอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ สามารถอาศัยระบบ “กวนซี่” คว้าทรัพยากรที่หายากโดยผ่านความผูกพันและฐานะหน้าตาทางสังคม แต่ถ้านิยาม “กวนซี่” เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมของส่วนบุคคลนั้น ก็ควรจะแสดงความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในเครือข่าย “กวนซี่” ให้ชัดเจนก่อน สังคมตะวันตกปกติแล้วจะเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมในฐานะเป็นคนแปลกหน้าก่อน แล้วค่อย ๆ ศึกษาดูใจจนกลายเป็นคนที่สนิทสนมและใกล้ชิดกันได้ แต่ตรงกันข้ามในสังคมชาวจีน มักจะต้องเริ่มต้นพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมจากการยืนยันว่า บุคคลนี้เป็นสมาชิกหรือส่วนหนึ่งในเครือข่าย “กวนซี่” ของตนเองหรือไม่ก่อน แม้กระทั่งพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ก็ต้องสร้างบนพื้นฐานเครือข่าย “กวนซี่” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากเอา “กวนซี่” เปรียบเสมือนระลอกคลื่นที่เกิดจากก้อนหินที่โยนลงในน้ำ ก้อนหินนั้นก็เป็นสัญลักษณ์แทนของ “การเป็นสมาชิก” ในระบบ “กวนซี่” รากฐานของ “กวนซี่” คือ สายเลือด ถิ่นเกิด และอาชีพ ทั้งนี้ถือว่าเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน (Sun. 2004 : 25)
ความหมายของกวนซี่สำหรับชาวจีนนั้น หมายถึง ชาวจีนถือตนเองเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ทางสังคม และมักจะมีการแบ่งความสำคัญใกล้ชิดและความห่างเหินของบุคคลเป็นหลายระดับโดยมีศูนย์รวมเดียวกัน ที่มีการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม คนที่ยิ่งสนิทสนมก็จะยิ่งใกล้ชิดกับศูนย์กลางของ “ตนเอง” และจะมีกฎระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างสำหรับคนอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดห่างเหินที่แตกแต่ง ทั้งนี้เป็นแนวคิด “ระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน” สำหรับแนวคิดกวนซี่ของผู้ที่ให้การนิยาม (Fei. 1985 : 12) กวนซี่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน คำว่า “กวนซี่” ประกอบด้วยอักษรจีนสองตัว คำว่ากวน (关Guan) หมายถึงประตู ด่านหรืออุปสรรค และคำว่า “ซี่” (Xi系) หมายถึง ผูก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ หรือการเชื่อมต่อ ดังนั้นกวนซี่ (Guanxi) หมายความว่า “ผ่านประตูหรือด่านและได้รับการเชื่อมต่อกัน” (Lee and Dawes. 2005 : 36) มันเป็นแนวคิดที่มีรากฐานในวัฒนธรรมของปรัชญาลัทธิขงจื๊อ นักปราชญ์ขงจื้อคิดว่า สังคมเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ แต่ละบุคคลต่างมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในวัฒนธรรมจีนนั้น การคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าส่วนบุคคล
แนวคิดวัฒนธรรมกวนซี่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครือข่ายทางสังคมของตะวันตก (Social Network Theory) แต่ต้นกำเนิดวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมตะวันตกทั้งสองนั้นจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แนวคิดเครือข่ายทางสังคมและแนวคิดกวนซี่ภายใต้สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมจีนนั้น ล้วนเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน แนวคิดเครือข่ายทางสังคมนั้นเป็นแนวคิดที่กำเนิดในวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นความคิดมนุษย์มีความความเท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด มุ่งเน้นความสำคัญของความเป็นปัจเจกนิยม และทั่วไปนิยม (Universalism) แต่แนวคิดวัฒนธรรมกวนซี่นั้นได้กำเนิดภายใต้วัฒนธรรมขงจื๊อที่เน้นสังคมวรรณะ มุ่งเน้นความสำคัญของการเป็นส่วนรวม และParticularism (อภิสิทธิ์นิยม) ดันนิ่ง และ คิม (Dunning and Kim. 2007 : 329-341) ได้ศึกษาวัฒนธรรมกวนซี่ของจีน พบว่า ปัจจัยทางสังคม Particularism (อภิสิทธิ์นิยม) อำนาจ และระเบียบกติกาและอื่น ๆ นั้น มีผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องกวนซี่ภายใต้ภูมิหลังวัฒนธรรมจีน เนื่องจากสังคมชาวจีนให้ความสำคัญกับความสมดุลเรื่อง “หยิน” และ “หยาง” ตามแนวคิดลัทธิเต๋า นอกจากนั้น ปรัชญาขงจื๊อได้เสนอแนวคิดระเบียบปฏิบัติความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น บิดา-มารดา-บุตร สามี-ภรรยา มิตรสหาย-มิตรสหาย พี่-น้อง ตลอดจนถึงราษฎร-ผู้ปกครองรัฐ ได้มุ่งเน้นว่าบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ละบุคคลนั้นต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างมีระเบียบ สังคมถึงจะได้สงบสุข มั่นคง และเกิดความสมดุล แต่ในทีนี้ คำว่า “มีระเบียบ” นั้นต้องเอาระบบ “กวนซี่” ตามแนวคิดปรัชญาขงจื๊อมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมและคุ้มครอง
ในระบบสังคมเชิงกวนซี่นิยม (Guanxism) ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เน้นการปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ประเด็นหลักอยู่บนพื้นฐานกวนซี่มากกว่า (Liang. 1987:58) สุย, ฟาร์และซิน (Tsui, Farh, and Xin. 2000 : 9) ได้ศึกษากวนซี่ขององค์กรชาวจีนโพ้นทะเล สรุปได้ว่า มี 6 ลักษณะ ดังนี้ 1) มีสถานะเป็นสมาชิกในองค์กรเดียวกัน 2) รู้จักบุคคลฝ่ายที่ 3 ร่วมกัน 3) มีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยครั้ง 4) มีความสัมพันกันแต่มีการคบแบบโต้ตอบน้อย 5) เป็นเพื่อนที่ไม่มีภูมิฐานเดียวกัน 6) เน้นคุณภาพของกวนซี่
เนื่องจากแบบแผนการศึกษาของตะวันตกนั้นมีข้อจำกัดและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมตะวันตก แนวคิดเครือข่ายทางสังคมยังอธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมกวนซี่ในสังคมชาวจีนได้ยาก ดังนั้น วงการทฤษฏีต้องการแนวคิดและมุมมองใหม่เพื่อที่จะศึกษาวัฒนธรรมกวนซี่อย่างลึกซึ้ง หลัว (Luo. 2000 : 21) ได้ศึกษาแนวคิดวัฒนธรรมกวนซี่และสรุปคุณลักษณะของกวนซี่มีทั้งหมด 7 ประการ ดังนี้
1. สามารถสืบทอดกันได้ หมายถึง คนสองฝ่ายที่ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรงแต่สามารถรู้จักกันและสร้างความสัมพันธ์ได้ผ่านบุคคลที่สามได้
2. มีลักษณะเกื้อกูลกัน หมายถึง การคบค้าสมาคมและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างบุคคล ซึ่งการแลกเปลี่ยนนั้นอาจไม่ได้มีความเท่าเทียมกันในด้านจำนวนหรือมูลค่าเสมอ เช่น ในระหว่างทางสองฝ่าย ฝ่ายที่เป็นผู้อุปถัมภ์ที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลจะมีมากกว่าการตอบแทนจากผู้รับอุปถัมภ์ แม้กระทั่งผู้รับอุปถัมภ์อาจไม่ได้มีการตอบแทนซึ่งกันและกันด้านวัตถุหรือด้านเงิน แต่ฝ่ายที่เป็นผู้อุปถัมภ์คิดว่าข้อผูกมัดนั้นเป็นเรื่องที่มีหน้ามีตา
3. มีลักษณะที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ หมายถึง ระหว่างทั้งสองฝ่ายของกวนซี่นั้นต้องรับข้อผูกมัดที่จับต้องไม่ได้ เช่น เชื่อใจ อดทน และเกื้อกูลเอื้อเฟื้อกัน เป็นต้น
4. ยึดถือเรื่องมีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นประเด็นสำคัญ หมายถึง ความสัมพันธ์เชิงกวนซี่นั้นมีเป้าหมายที่มุ่งผลประโยชน์ร่วมกัน มุ่งเน้นเกื้อกูลเอื้อเฟื้อกันที่เป็นผลประโยชน์ด้านวัตถุและจิตใจ นอกเหนือจากการผูกพันกันและกัน
5. มีความพิลึกตามสถานการณ์ หมายถึง แบบโต้ตอบของทั้งสองฝ่ายของกวนซี่นั้นต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ส่งของขวัญเพื่อแสดงน้ำใจ ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การส่งของขวัญเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่ให้สินบน ซึ่งอาจมิชอบด้วยกฎหมาย
6. มีลักษณะระยะยาว หมายถึง กวนซี่ที่ดีนั้นต้องผ่านการขัดเกลาและพิสูจน์ระยะยาวระหว่างทั้งสองฝ่ายถึงจะมั่นคง ทั้งสองฝ่ายของกวนซี่ต้องกระชับความสัมพันธ์ผ่านพฤติกรรมให้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างซ้ำ ๆ เพื่อเสริมสร้างกวนซี่ที่ดี หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระงับภาระผูกพันและความรับผิดชอบ กวนซี่แบบเดิมอาจอ่อนตัวลงหรือเจือจาง จนกระทั่งถูกทำลาย
7. มีลักษณะความเป็นส่วนบุคคล เนื่องจากว่ากวนซี่นั้นสร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบที่เป็นปัจจัยหลายด้าน เช่น ความเชื่อใจ ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อกัน การเคารพ และฐานะทางสังคม เป็นต้น ดังนั้น ความซื่อสัตย์ระหว่างบุคคลนั้นจะชัดเจนกว่าของคนในองค์กร เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระดับบุคคลนั้นตามปกติแล้วมีความสำคัญยิ่งกว่าระดับองค์กร การศึกษาความสัมพันธ์บุคคลในองค์กรต้องสร้างอยู่บนฐานส่วนบุคคลไว้ก่อน
วัฒนธรรมกวนซี่ที่กล่าวมานี้ ต้องกล่าวถึงการจัดระเบียบทางสังคมทำให้มีความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่า ระหว่างบุคคลกับบุคคลมักจะเกิดปฏิสัมพันธ์กัน ด้วยความรู้สึกทางจิตใจต่อผู้คนที่ใกล้ตัวที่สุดไปหาคนที่ไกลตัวที่สุด คือ ลักษณะความสัมพันธ์ระบบครอบครัวและเครือญาติ นิยพรรณ วรรณศิริ (2540 : 179-182) ได้กล่าวถึงลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมว่า เริ่มจากเริ่มจากตัวของมนุษย์เองก่อน มนุษย์จะมีความรักหรือให้ความสำคัญกับตนเองมากที่สุด แล้วก็มีความสัมพันธ์ผูกพันกับบุคคลอื่น ขยายออกไปอันเกิดจากความรู้สึกรักและชอบพอกัน (หากจะจำลองภาพเป็นวงกลมแล้ว) มนุษย์ก็จะรักลูก และภรรยา หรือสามี ในรูปจำลองที่ถัดจากตัวของเราออกไปก็คือกลุ่มในครอบครัวเดี่ยว ซึ่งเป็นครอบครัวของตัวเราเอง และความสัมพันธ์ในระดับถัดไปนั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราต่อพ่อแม่ พี่น้อง และเครือญาติทุกฝ่ายของเราเอง ในแผนภาพจำลองวงกลมนี้ สามีเปรียบเทียบได้กับสมาชิกในครอบครัวขยาย ซึ่งยังนับว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกันอยู่ ความสัมพันธ์ถัดไปอีกวงกลมหนึ่ง อันได้แก่ ญาติสมมติและญาติห่าง ๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครือญาติกันอยู่ แผนภาพจำลองวงกลมลักษณะความสัมพันธ์ในระดับนี้ จะแทนกลุ่มครัวเรือนหรือกลุ่มเพื่อนบ้าน ถัดออกไปอีกวงกลม ได้แก่ บุคคลที่เราพอจะรู้จักกันบ้าง ไม่รู้จักกันบ้าง หรือหากจะมีเครือญาติหลงเหลืออยู่แทบจะนับญาติกันลำบาท ต้องสืบสาวเครือญาติกันอยู่นาน จึงจะรู้ว่าเป็นญาติกัน กลุ่มบุคคลหรือชุมชนในระดับนี้ก็คือ กลุ่มชนในหมู่บ้านเครือญาติ (Kin Village) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระยะห่างของความสัมพันธ์ทางสังคมที่นับจากตัวเราเองเป็นหลักก็ถือว่าเป็นขอบเขตความสัมพันธ์ท้ายสุดของการจัดลำดับความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ถัดจากคนในชุมชนออกไป เป็นบุคคลอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์ทั้งสายเลือด และทางจิตใจกันอีกเลย หากจะต้องสัมพันธ์กันก็จะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหนึ่งกับผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติกัน และความสัมพันธ์แบบทางการ โดยใช้เขตแดน (Territory) เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ เรียกว่า เป็นความสัมพันธ์ทางการปกครอง ส่วนในแผนภาพจำลองวงกลมก็คือ วงกลมสุดท้ายจะแทน “หมู่บ้านปกติ” นั่นเอง ซึ่งระยะถี่ห่างของความสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์นับจากตัวเองเป็นศูนย์กลาง ได้กล่าวมาโดยละเอียดแล้วนั้น ก็คือการจัดระเบียบทางสังคมในเรื่องครอบครัวและเครือญาตินั่นเอง ตามภาพที่ 1
เอกสารอ้างอิง
นิยพรรณ วรรณศิริ. (2540). มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Dunning J. H. and Kim C. (2007), “The Cultural Roots of Guanxi: An Exploratory Study,” The World Economy, 30 (2), 329-341.
Fei, X.T. (1985). “New Pathway for Modernization,” Rural China. 34(1), 13-14.
Lee,D.Y.,and Dawes,P.L., (2005). “Guanxi,Trust,and Long-term Orientation in Chinese Business Mand Arkets,” Joural of International Marketing. 13 (2), 28-56.
Liang S.M. (1987). The essence of Chinese Culture. ShangHai: Shanghai Academia Press.
Luo, Y.D. (2000). Guanxi and Business. New York: World Scientific.
Sun L.P. (2004). Cleavage: Chinese Society since 1990s , Beijing: Social Sciences Academic Press.
Tsui, A.S. Farh, J.L and.Xin,K. (2000). “Guanxi in the Chinese Context” . Li, J.T. Tsui, A.S. and Weldon, E. (Eds.), Management and Organizations in the Chinese Context. London: MacMillan.
Yeung, I. Y. M., and Tung, R. L. (1996). “Achieving Business Success in Confucian Societies: The Importance of Guanxi (Connections),” Organizational Dynamics, 24 (3), 54–65.