Ma Guitong
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับจีนมาตลอดเวลา ดังนั้นชาวจีนจึงรู้จักภาคใต้ของไทย เหตุการณ์เกี่ยวข้องกับชาวจีนในสมัยอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2103-2113 คือ กลุ่มโจรสลัดชาวจีนจากฝูเจี้ยนนำโดยหลิมโต๊ะเคี่ยน (หลิน เต้า-เฉียน林道乾) ได้อพยพหลบหนีการปราบปรามของราชวงศ์หมิงแล้วไปยึดเมืองปัตตานีไว้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ พ.ศ. 2116 – 2163 จึงเกิดชุมชนจีนในปัตตานีมาแต่ครั้งอยุธยา ทำให้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาค้าขายและพำนักอยู่ภายในปัตตานีเป็นจำนวนมากนั้น (Skinner ,1957: 8)
สำหรับชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย มีข้อสังเกตการอพยพของคนจีน เป็นที่น่าสนใจว่า “ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากมณฑลทางภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้งมากที่สุด” (วัลภา บุรุษพัฒน์. 2517: 17) เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชาวจีนเหล่านี้ก็จะกระจายอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้เป็นแหล่งที่คนจีนเข้ามาและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ทางภาคใต้ชาวจีนได้เข้ามาติดต่อพักพิงตามท่าเรือต่าง ๆ และเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานตอนกลางสมัยอยุธยาเป็นอย่างช้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีของหลิมโต๊ะเคี่ยน ข้าราชการตงฉินที่ถูกคู่อริใส่ความความจนต้องไปเป็นโจรสลัด และนำสมัครพรรคพวกเข้าพึ่งพิงเจ้าเมืองปัตตานี ได้รับแต่งตั้งเป็นนายด่านก่อนเลื่อนตำแหน่งสูงขั้นเรื่อยๆ เพราะสามารถถ่ายทอดวิทยาการสมัยใหม่ ให้แก่ปัตตานีทางด้านการหล่อปืนใหญ่ สถาปัตยกรรมและการค้า เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชที่มีรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองตามจักราศีนั้นตรงตามคติเดียวกันกับชาวจีน (สถาบันทักษิณคดีศึกษา.2529 : 2854) ยิ่งไปกว่านั้นการแบ่งชนชั้นในสังคมศักดินาที่แบ่งออกเป็นสองชนชั้น คือ “ผู้ดี” และ “ผู้น้อย” กำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใหญ่ย่อมเสียสละคนเพื่อปกครองและผู้น้อยเสียสละเวลาเพื่อเป็นแรงงาน” (สงบ ส่งเมือง. 2528:13) สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลจีนในภาคใต้ระยะแรก ๆ ได้ระดับหนึ่ง ภาพของอิทธิพลจีนในภาคใต้ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อชาวจีนได้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้น
ต่อมา จากการที่มีชุมชนจีนหนาแน่นขึ้นในภาคใต้ ปรากฏว่ามีชาวจีนที่มาจากเมืองจีนโดยตรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง เท่าที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานมีเจ้าเมืองอย่างน้อย 2 คน ที่เป็นชาวจีนจากประเทศจีน คือ หลวงสุวรรณศิริสมบัติ (吴让เหยียง แซ่เฮ่า) เจ้าเมืองสงขลาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้าเมืองปัตตานี (林道乾หลิมโต๊ะเคี่ยม) การอพยพของคนจีนนั้น เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ทางเครือญาติและสังคมของคนจีนอพยพในประเทศไทยกับคนจีนในประเทศจีน จะไม่มีชาวหอบเสื่อหอบหมอนไปยังดินแดนที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเส้นสายอยู่เลย เพราะฉะนั้นยิ่งมีชาวจีนกลุ่มภาษาใดอยู่ในประเทศไทยมากก็จะย่อมดึงชาวจีนในกลุ่มภาษานั้นให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากเป็นลูกโซ่
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้น เพื่อรักษาด้านความมั่นคงของประเทศและรักษาสมดุลของมหาอำนาจชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ภายหลังการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ของประเทศไทยที่เป็นเส้นทางรถไฟสายยาวที่เชื่อมต่อตั้งแต่กรุงเทพฯ ลงไปจนถึงบัตเทอร์เวิร์ทของมาเลเซีย ซึ่งทางรถไฟสายใต้เป็นทางรถไฟอีกสายหนึ่งที่อังกฤษแสดงความประสงค์และกดดันให้ประเทศไทยสร้าง เนื่องจากต้องการเชื่อมต่อทางรถไฟไทยกับทางรถไฟของประเทศอังกฤษในบริเวณแหลมมลายู ก็ยิ่งทำให้ชาวจีนฮากกาที่อาศัยอยู่ทั้งทางตอนบนหรือตอนล่างของภาคใต้เดินทางเข้าสู่พื้นที่แห่งนี้ด้วยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น
เมื่อทางรถไฟสายใต้สำเร็จลุล่วงไปแล้วนอกจากการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสายใหม่จากทางใต้เข้าสู่เมืองหลวงเท่านั้น ทางรถไฟสายใต้ถูกสร้างขึ้นยังได้นำพาชาวจีนฮากกากลุ่มเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศสยามด้วยอีกเช่นกัน พร้อมกับการบุกเบิกพื้นที่สร้างพื้นที่ให้กับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย เช่น ยางพารา การอพยพเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยของชาวจีนจากมณฑลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนดังกล่าว หากพิเคราะห์พิจารณาลงไปมากขึ้นจะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของการอพยพของชาวจีนตามกลุ่มภาษาเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว จะเห็นได้ว่ามีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการแสวงหาแหล่งที่ทำมาหากินที่ดีกว่า
ชาวจีนฮากกาเหล่านี้ถ้าไม่ประกอบการค้า มักจะมาประกอบอาชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้าง เช่น แรงงานในโรงสี โรงเลื่อย โรงน้ำตาล แรงงานในการขุดคลอง ทำถนน และการก่อสร้างต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 5 ชาวจีนจำนวนมากได้รับจ้างเป็นแรงงานในการสร้างเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-สุไหงโกลก ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 จนกระทั่งแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2458 และจากกรณีดังกล่าวอาจเป็นการเริ่มต้นให้ชาวจีนทั้งกลุ่มแรงงานในการสร้างเส้นทางรถไฟและกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ซึ่งอาศัยความสะดวกในเส้นทางคมนาคมได้เดินทางไปยังส่วนต่าง ๆ ของภาคใต้ ดังเช่นที่ปรากฏในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (Skinner. 1957: 13-14)
แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468) นโยบายของรัฐบาลต่อชาวจีนได้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากกว่ารัชกาลที่ 6 ครองราชย์ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏ ร.ศ.130 ทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัย นอกจากนี้กระแสโลกในเวลานั้นก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยทั่วไป โดยเฉพาะประชากรชาวจีนในประเทศไทยเวลานั้นก็มีความนิยมในแนวคิดไตรราษฎร์ (การให้ความสำคัญกับประชาชนเหนือระบบกษัตริย์) ของ ดร.ซุนยัดเซ็น (ชาวจีนฮากกากวางตุ้ง) ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยถึง 2 ครั้ง เหตุการณ์นี้ทำให้ทรงเขียนบทความทางหนังสือพิมพ์ชื่อ ยิวแห่งบูรพาทิศโดยใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ” เพื่อทรงแสดงท่าที่ต่อชาวจีนในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวจีนปัญญาชนที่มีจำนวนพอสมควรที่อาจเป็นแกนนำสร้างพลังทางสังคมได้ ดังข้อความว่า “ในเมืองไทยเราเวลานี้มีบุคคลอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งรู้สึกภูมิใจในการเรียกตนว่า ไทยผสม คือข้าพเจ้ากล่าวถึงพวกที่เรียกตนว่า จีนในสยามหรือสยามจีนางกูรนั่นเอง” (ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย.2528:137) นอกจากนี้พระองค์ทรงยังออกพระราชบัญญัติที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของชาวจีนในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายของชาวจีนในไทยมาก (พรรณี บัวเล็ก.2545:429-430) อันรวมถึงชาวจีนฮากกาในพื้นที่ภาคใต้ด้วย กล่าวสรุปได้ว่า ถึงแม้รัชกาลที่ 6 มีทัศนะต่อต้านชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทยและมีพระราชบัญญัติที่เข้มงวดกว่าสมัยที่ 5 แต่รัชกาลที่ 6 ไม่มีนโยบายที่ห้ามชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานโดยเด็ดขาดและไม่มีการบีบคั้นในเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวจีนในประเทศไทย ชาวจีนส่วนใหญ่ยังสามารถเข้าออกจากดินแดนสยามได้
แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงขึ้นครองราชย์พ.ศ.2468 นโยบายที่มีต่อคนจีนของรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะเรื่องการหลั่งไหลของชาวจีนเข้าประเทศไทยมีความยุ่งยากมากขึ้นในสมัยพระองค์ รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง เพื่อจำกัดจำนวนชาวต่างด้าวในการเข้าเมือง เช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับพ.ศ.2470 ดังที่ พรรณี บัวเล็ก (2545: 431-432) กล่าวว่า “รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2470 พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจแห่งรัฐบาลในการกำหนดโควต้าชาวต่างด้าวในการเข้าเมืองในแต่ละปีจำนวนเท่าไหร่และห้ามมิให้ชาวต่างด้าวมีลักษณะต่อไปนี้เข้าเมืองโดยเด็ดขาด ดือ ไม่มีหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญแสดงสัญชาติอันถูกต้อง บุคคลที่เป็นโรคร้ายซึ่งรัฐประกาศ บุคคลที่ไม่ได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ บุคคลที่ไม่มีรายได้และไร้ซึ่งผู้อุปการะ มีร่างกายพิการ สติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบและบุคคลที่เป็นอันธพาล หรือน่าสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นอันตรายต่อประชาชนและราชอาณาจักร” อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศจีนและหลังสงครามครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญให้ชาวจีนฮากกาเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลภาคสนามจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พบว่า กลุ่มชาวจีนฮากกาได้อพยพเข้ามาที่นี้จนถึง พ.ศ.2492 อันเป็นช่วงสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว
พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูที่คาบระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่แปลกเลยที่พื้นที่แห่งนี้ได้ทำหน้าที่เปรียบประหนึ่งสะพานเชื่อมต่อให้กลุ่มคนทั้งสองฟากฝั่งเดินทางไปมาสู่กัน ดังเห็นได้บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลายนี้ ได้ปรากฏมีเมืองท่าสำคัญ ๆ หลายแห่งเกิดขึ้นและแตกดับหรือเจริญรุ่งเรืองขึ้นหลายเมืองตลอด แนวคาบสมุทรเหตุนี้เองภาคใต้ของประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีชาวจีนหลากหลายกลุ่มเดินทางเข้ามา ซึ่งในเวลานั้น มลายูเป็นอาณานิคม และเขตอิทธิพลของอังกฤษ และได้แผ่อิทธิพลเข้ามาประชิดหัวเมืองมลายูของไทย เช่น ไทรบุรี กลันตัน ตรัง กานู ปะลิส เปรัค เป็นต้น
การเข้ามาที่สะดวกและความต้องการแรงงานจีนส่งผลให้ชาวจีนฮากกาได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณที่มีกิจการเหมืองแร่ของภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เป็นต้น ชาวจีนฮากกาที่เข้ามาเป็นกรรมกรมักจะอยู่รวมกันในจุดใดจุดหนึ่งก่อน เช่นกรุงเทพฯ หรือภูเก็ต แล้วหลังจากนั้นมีนายหน้ามาว่าจ้างจัดส่งไปทำงานตามแหล่งต่าง ๆ โดยอาจอพยพมาจากจีนโดยตรง หรืออพยพมาจากประเทศที่สอง เช่น ปีนังและมะละกา ประเทศมาเลเซียหรือสิงค์โปร์ เป็นต้น ชาวจีนฮากกาได้กระจายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ กรุงเทพฯ ปราจีนบุรี ราชบุรี ภูเก็ต พังงา สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร เป็นต้น สำหรับชาวจีนฮากกาในภาคใต้ตั้งแต่ระนองลงไปจนถึงภูเก็ตบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ ชาวจีนฮากกาเพิ่มขึ้นลดลงตามปัจจัยในกิจการเหมืองแร่ ชาวจีนฮากกาในภาคใต้ของไทยนั้นจะรวมกลุ่มสร้างบ้านแถวบ้านเรือนกลายเป็นชุมชนชาวจีนฮากกา ในนั้นพื้นที่มีชาวจีนฮากกาจำนวนมาก ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา พวกชาวจีนฮากกาที่อพยพมาสู่ภาคใต้ต่อมาได้มีการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังพยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้อย่างรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย จนทำให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของการรวมกลุ่มทางสังคมที่โดดเด่นขึ้นมา
ดรุณี แก้วม่วง, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และเคี่ยม สังสิทธิเสถียร (2529: 818-834) กล่าวถึงการอพยพของชาวจีนฮากกาในภาคใต้ประเทศไทย สรุปได้ว่า ชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยทางภาคใต้ โดยอาศัยเรือเป็นพาหนะ ส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น สงขลา ภูเก็ต ระนอง ตรัง เป็นต้น และพวกเขาจะประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ทำเหมืองแร่ดีบุก ค้าขาย กรรมกร จำนวนคนจีนที่อพยพเข้ามามีหลายแซ่ หลายภาษา อาทิ ภาษาแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนกวางตุ้ง จีนฮกเกี้ยน และจีนไหหลำ เป็นต้น ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าชาวจีนมีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็มีความผูกพันกัน อันเนื่องมาจากมีภาษาพูดเดียวกัน แซ่เดียวกัน จึงทำให้คนจีนอพยพติดตามกันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมากมายในเมืองไทย ตั้งแต่ภาคกลางที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มากรองจากภาคใต้ ชาวจีนมีประเพณีวัฒนธรรมถือปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน เช่น ประเพณีกราบไหว้บรรพบุรุษ ประเพณีกินเจ เป็นต้น เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ จึงมีการปลูกฝังถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชาวจีนมีจริยธรรมในด้านความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี ความกตัญญูแฝงอยู่
สำหรับชาวจีนที่อพยพมายังประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ที่เหลือมาจากมณฑลไหหลำ เพราะว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ร่วมกันของมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง ก็ย่อมส่งผลที่ไม่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งเกาะไหหลำที่มีขนาดพื้นที่จำกัด ด้วยความยากลำบากในการใช้ชีวิตเช่นนี้เองทำให้มณฑลฮกเกี้ยนนับเป็นแหล่งส่งออกชาวจีนออกสู่ภายนอก ประกอบกับพื้นที่อยู่อาศัยเกี่ยวเนื่องอยู่กับท้องทะเลทำให้ผู้คนอาศัยอยู่ในมณฑลตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรืออย่างสูงและเป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าทางทะเลอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนจากมณฑลแถบนี้จึงเป็นพื้นที่ภูมิลำเนาเดิมชาวจีนกลุ่มสำเนียงต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เช่น แต้จิ๋ว ฮากกาหรือแคะ ไหหลำ ฮกจิว ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นกลุ่มอพยพและเดินทางออกมาจากถิ่นฐานเดิมในบริเวณใกล้เคียงกันทั้งสิ้น
ชาวจีนที่มาจากมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำทั้ง 3 มณฑลนี้ ต่างไม่ได้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เพราะมีภาษาพูด วัฒนธรรม ประเพณีปลีกย่อยบางอย่างแตกต่างกัน ดังนั้น ชุมชนชาวจีนที่เกิดขึ้นในเมืองไทยจึงมักมีการรวมกลุ่มกันตามกลุ่มภาษาของตนและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด กลุ่มจีนฮากกามีภูมิลำเนากระจัดกระจายในหลายมณฑลของจีน ชาวจีนฮากกาที่อพยพมายังประเทศไทยสามารถจำแนกเป็นกลุ่มย่อยตามภูมิลำเนา คือ จากมณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้งและรอบ ๆ เมืองแต้จิ๋ว เป็นต้น ชาวจีนแคะ (ฮากกา) ในประเทศไทยมักประกอบอาชีพทำเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น ตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่เช่นเดียวกับชาวจีนแต้จิ๋ว ภาษาพูดของชาวจีนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้ชาวจีนแต่ละกลุ่มไม่สามารถสื่อสารกับจีนกลุ่มอื่นด้วยภาษาพูด ได้แต่สามารถสื่อสารกันได้ด้วยตัวอักษรจีน เพราะไม่ว่าชาวจีนจะพูดด้วยภาษาจีนสำเนียงใดก็ตาม แต่จะใช้ระบบตัวอักษรแบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของภาษาจีน (ศุภการ สิริไพศาล, 2550: 7-8)
จากทั้งหมดดังกล่าว เห็นได้ว่าชาวจีนฮากกก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ชาวจีน” อีกจำนวนมากที่ได้ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองภาคใต้ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ได้ทำให้เราพบกับ “ชาวจีนฮากกา” ซึ่งในนามที่ถูกเรียกรวมกับกลุ่มจีนอื่น ๆ กันว่า “ชาวจีน” ได้เข้ามาร่วมปะทะสังสรรค์เป็นคนในอยู่ภาคใต้ของสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน
เอกสารอ้างอิง :
ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย. (2528 ). อิทธิพลของวรรณกรรมจีนต่อวรรณกรรมและสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์. โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วัลภา บุรุษพัฒน์. (2517). ชาวจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.
พรรณี บัวเล็ก. (2545). ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ.2457-2482: บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม. กรุงเทพฯ: พันธกิจ.
ศุภการ สิริไพศาล (2550). จีนหาดใหญ่. สงขลา: ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทักษิณ.
สงบ ส่งเมือง. (2528). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก . สงขลา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้.
สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (2529). สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้.
Skinner, G. (1957). Chinese Society in Thailand : An analytical History. New York : Cornell University.