โดย พชร ธนภัทรกุล
ทรรศนะการดูแลเสริมสร้างสุขภาพของชาวจีน สรุปง่ายๆสั้นๆได้เพียงสองคำ คือ ปรับกับเปลี่ยน
ปรับ หมายถึงต้องเข้าใจคุณสมบัติ (ฤทธิ์) ของผักเนื้อชนิดต่างๆพร้อมกับปรับให้เหมาะสมทั้งชนิดและสัดส่วน ควรรู้ว่า ผักเนื้อชนิดใดบ้างจัดไว้กินด้วยกัน เพื่อมิให้คุณสมบัติขัดหรือทอนกัน จนไม่เกิดผลดีหรืออาจกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ
เปลี่ยน หมายถึงการปรับเปลี่ยนชนิดอาหารไปตามฤดูกาล หรือปรับเปลี่ยนธาตุของอาหารนั่นเอง โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลตามหลักยินหยางด้วย
ครั้งนี้จะมาชักชวนให้คุณๆทั้งหลายมาทำอาหารจากฟักแฟงทานกัน
พอพูดถึงฟักแฟง หลายท่านอาจสงสัยว่า ฟักหน้าตาอย่างไร แฟงหน้าตาอย่างไร เหมือนหรือต่างกันอย่าไร
ฟักมีผลใหญ่รูปกลมหรือรี เมื่อแก่ผิวแข็งมีคราบขาว ยิ่งแก่เนื้อจะยิ่งแข็ง เรียกฟักแก่หรือฟักจีน เหมาะจะใช้ตุ๋นต้มทำแกงหรือซุป และเพราะผลใหญ่มากนี่เอง คนขายจึงมักตัดแบ่งขายกันเป็นชิ้นตามน้ำหนักที่คนซื้อต้องการ ชาวแต้จิ๋วเรียกฟักว่า ตังกวย (冬瓜) ยังมีอีกพันธุ์ผลเล็ก ผิวบางมีขน ชาวแต้จิ๋วเรียก หม่อกวย (毛瓜) แปลว่า ฟักขน แต่คนไทยเรียก แฟง หรือฟักเขียว
เมื่อก่อน ทุกครั้งที่ซื้อฟักแก่มาทำกับข้าว เปลือกฟักที่ปอกไว้นั้น อาม่าไม่เคยทิ้งเลย แต่จะเอามาต้มน้ำ ใส่ใบว่านกาบหอยและหนวดข้าวโพดลงไปด้วย ได้น้ำต้ม “แชเฉาจุ้ย” (青草水) หรือน้ำต้มสมุนไพรสดตำรับพื้นบ้าน ไว้ให้ทุกคนดื่ม เพื่อเป็นการ “เจียะเลี้ยง” (食凉) คือดื่มเพื่อบรรเทาภาวะร้อนภายในร่างกาย อันอาจเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้ร่างกายมีภาวะร้อนมากขึ้น ภาษาชาวบ้านคือ แก้ร้อนใน หรือช่วยดับร้อนถอนพิษ (ร้อน) นั่นเอง
อาหารรายการหนึ่งที่เมื่อก่อนทางบ้านทำกินกันค่อนข้างบ่อย คือ เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ตำรับเดิมๆ จะใช้แต่เป็ดกับมะนาวดองเท่านั้น จะใช้เป็ดแก่ทั้งตัว หรือถ้าหาซื้อแบบทั้งตัวไม่ได้ ก็ให้ใช้เนื้อเป็ดสัก 1 กิโลกรัม เก็บขนล้างให้สะอาด ต้มน้ำเดือดลวกเป็ดสัก 2-3 นาที เพื่อขจัดน้ำเลือดบนตัวเป็ดออก ล้างเป็ดที่ลวกแล้วอีกครั้ง จึงใส่หม้อตุ๋น เร่งไฟแรงให้น้ำเดือด เดือดแล้วหรี่ใช้ไฟอ่อนตุ๋นจนเนื้อเป็ดสุกนิ่ม ซึ่งใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง จึงใส่มะนาวดองลงไปตุ๋นด้วยสักครู่ใหญ่ มะนาวดองต้องเอาเมล็ดออกก่อน ไม่เช่นนั้น น้ำแกงจะขม ใส่เกลือปรุงรส ได้เป็ดตุ๋นมะนาวดองแบบตำรับแต้จิ๋ว อ้อ! น้ำมะนาวดองที่ได้มา ให้ใส่ลงไปด้วย จะช่วยให้รสชาติน้ำแกงดีขึ้น
ทีนี้ พอทำบ่อยครั้งเข้า มีบ้างบางครั้งที่ใส่ฟักแก่ลงไปตุ๋นด้วย หลังๆไม่ใส่มะนาวดอง เลยออกมาเป็นฟักตุ๋นเป็ดไป ซึ่งก็ใช้ขั้นตอนวิธีทำเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากมะนาวดองมาเป็นฟักแก่ ดูรายละเอียดข้างล่าง
เมื่อใดที่คุณเริ่มรู้สึกอ่อนล้า ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกแน่นร้อนบริเวณหน้าอก แสดงว่าคุณกำลังถูกพิษความชื้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเล่นงานเข้าแล้ว อย่างนี้ ต้องทำฟักตุ๋นเป็ดกินแก้อาการเสียแต่เนิ่นๆ
ใช้ฟักแก่ 1 กิโลกรัม เนื้ออกเป็ดครึ่งกิโลกรัม หรือจะใช้เป็ดครึ่งตัวตัวก็ได้ หั่นฟักเป็นชิ้นใหญ่ หั่นหรือสับเป็ดเป็นชิ้นใหญ่ ลวกหรือทอดเป็ดก่อน โดยใส่น้ำมันในกระทะเล็กน้อย แล้วเอาเป็ดลงทอด โรยเกลือและพริกไทยในระหว่างทอดด้วย จะช่วยลดกลิ่นสาบของเป็ดได้
จากนั้นใส่เป็ดลงต้มให้นุ่มก่อน จึงใส่ฟักตามลงไป ตุ๋นไฟอ่อน จนทุกอย่างสุกนิ่มดีแล้ว ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย ถ้าใส่เห็ดหอมรวมน้ำแช่เห็ดด้วย และน้ำมันงาเล็กน้อย จะช่วยเพิ่มรสชาติให้ดีขึ้น กินได้ทั้งเนื้อทั้งน้ำ และที่ใช้เนื้อเป็ด เพราะเนื้อเป็ดมีฤทธิ์เย็นช่วยลดภาวะร้อนในร่างกายอันเนื่องมาจากอากาศร้อน ชาวจีนใช้เพื่อถอนพิษร้อนในร่างกาย เป็นอาหารบำรุงที่ดีอย่างหนึ่ง
อาหารรายการนี้ จะใช้ฟักแก่ผลใหญ่ หรือจะใช้แฟงหรือฟักเขียวแทนก็ได้ เพียงแต่ฟักเขียวจะเปื่อยนิ่มง่ายกว่า จึงควรตุ๋นเป็ดให้เปื่อยนุ่มก่อน จึงใส่ฟักเขียวลงต้มสักครู่ พอฟักสุก ก็ยกหม้อลงจากเตาได้ ความร้อนของน้ำแกงจะทำให้ฟักเขียวนิ่มเอง ฉะนั้น อย่าต้มจนฟักนิ่มแล้วค่อยยกหม้อลง เพราะฟักเขียวอาจนิ่มจนเละ ซึ่งจะไม่น่าทาน
ใครไม่ชอบเป็ด ให้ใช้กระดูกหมูแทนได้ เพราะกระดูกหมูมีฤทธิ์เย็นเช่นกัน จึงใช้ดับร้อนถอนพิษได้เช่นกัน และยังเป็นอาหารบำรุงที่ดี ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ บำรุงผิวพรรณ บำรุงเลือด เสริมสร้างกระดูกได้ด้วย
ถ้าใส่ลูกเดือยและสมุนไพรจีนเขี่ยมซิก (芡实) ลงไปด้วย อย่างละ 30-50 กรัม จะให้ผลดีขึ้น เพราะของสองอย่างนี้ช่วยขจัดความร้อนและความชื้นในร่างกายได้ แต่จะไม่ใส่ก็ได้
ถ้ามีอาการบวมน้ำตามแขนตามขา ใช้เปลือกฟัก 100 กรัม หนวดข้าวโพดและแปะเหม่ากึง (白茅根) อย่างละ 30 กรัม แปะเหม่ากึงหาซื้อได้ตามร้านขายยาจีนทั่วไป แต่ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ไม่ต้องใส่ เอาแค่เปลือกฟักกับหนวดข้าวโพดสองอย่างก็พอ ต้มน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ ง่ายกว่านี้คือใช้ฟักหรือเปลือกฟัก จะใช้ทั้งสองอย่างหรืออย่างใดอย่างก็ได้ ต้มน้ำดื่ม เพราะฟักมีคุณสมบัติช่วยขับน้ำในร่างกายอยู่แล้วนั่นเอง
ซุปฟักลูกเดือย ใช้ฟัก 500 กรัม ลูกเดือย 50 กรัม ควรแช่ลูกเดือยไว้สักหนึ่งคืน ใส่น้ำต้มรวมกัน กินได้ทั้งน้ำต้ม ฟัก และลูกเดือย ซุปนี้มีคุณสมบัติดับร้อนถอนพิษ (ร้อน) ขับปัสสาวะ ไล่ความชื้นในร่างกาย ชาวจีนใช้แก้ผดผื่นคันต่างๆ แก้อาการเหน็บชา ปัสสาวะขัดหรือมีสีเข้ม
ไออันเนื่องจากปอดมีภาวะร้อน เสมหะเหลืองเหนียวข้น ใช้ฟัก 500 กรัม ใบบัวสด 1 ใบ ต้มจนฟักสุกนิ่ม กินฟักและน้ำต้ม วันละ 2 ครั้ง
เมื่อต้องอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด กระทั่งเป็นลมแดด หรือตัวร้อนมีไข้ ใช้ฟัก 500 กรัม ต้มน้ำให้ได้น้ำต้ม 3 ชามใหญ่ แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง
ใครมีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ไตอักเสบเรื้อรัง ใช้เมล็ดฟัก 15-30 กรัม ต้มน้ำดื่มช่วยบรรเทาอาการได้
ไส้ในฟักที่ลอกออกมา ก็อย่าเพิ่งทิ้ง เอาเมล็ดออก แล้วนำไส้ฟักไปตากแห้ง ใช้ครั้งละ 30 กรัม ต้มสักครึ่งชั่วโมง ดื่มได้ตลอดเวลา ใช้บรรเทาอาการปัสสาวะถี่จากโรคเบาหวาน บรรเทาการบวมน้ำ ขัดเบา
ฟักคั้นน้ำใส่น้ำผึ้งเล็กน้อย ดื่มแก้อาการปัสสาวะขัดในหญิงมีครรภ์ได้
มีข้อมูลด้านสมุนไพรจีนระบุว่า ฟักมีคุณสมบัติทางยา คือ มีรสหวานออกจืด มีฤทธิ์เย็นเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของม้าม ปอด กระเพาะปัสสาวะ แก้ภาวะร้อนภายในร่างกาย เท่ากับช่วยถอนพิษร้อนไปในตัว และยังช่วยขับปัสสาวะ ขับน้ำในร่างกาย ละลายเสมหะ นั่นเท่ากับช่วยขจัดความชื้นร่างกายได้ด้วย ชาวจีนจึงใช้ฟักเพื่อแก้กระหายน้ำ ปัสสาวะขัด อึดอัดแน่นร้อนบริเวณหน้าอก อันเนื่องมาจากปอดทำงานผิดปกติ แก้ไอ ขับเสมหะเหนียวข้น โดยใช้ต้มหรือคั้นน้ำดื่ม ครั้งละประมาณ 500 กรัม
จะเห็นได้ว่า รายการอาหารแก้โรคจากฟักที่แนะนำมานี้ ไม่มียาจีนหรือสมุนไพรอื่นใดเข้ามาเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย เป็นรายหารอาหารล้วนๆ ที่ให้ผลดีต่อโรคที่เป็นอยู่