โดย พชร ธนภัทรกุล
นับแต่โบราณมาแล้ว ที่ชาวจีนจะนุ่งห่มขาวกันในงานพิธีศพและการไว้ทุกข์แก่ผู้ตาย สถานที่ตั้งศพและโต๊ะสถิตดวงวิญญาณสำหรับเซ่นไหว้ จะต้องจัดแต่งด้วยสีขาวล้วน เวลานำศพไปฝังยังสุสาน ก็ต้องมีริ้วธงขาวนำขบวน
ว่ากันจริงๆ เทศกาลกินเจที่จะหมดในวันนี้พรุ่งนี้ คือเทศกาลไว้ทุกข์ ชาวจีนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ จะนุ่งขาวห่มขาว บางคนยังเอาผ้าขาวโพกศีรษะ จึงยิ่งชัดเจนว่ามีเจตนาไว้อาลัยไว้ทุกข์แน่นอน
ไว้ทุกข์ให้ใคร
ไว้ทุกข์ให้แก่เก้าวีรบุรุษต้านชิงกู้หมิง (反清复明) ซึ่งก็คือกิ่วอ่องไต่เต (九皇大帝) หรืออาจจะเป็นจูอวี้เจี้ยน (朱聿键เสียงจีนกลาง) หรือในอีกนามหนึ่ง กิ๋วอ่องเอี๊ย (九皇爷) ของชาวฮกเกี้ยน
มีเกร็ดเล่านิดหนึ่งว่า จูอวี้เจี้ยนชอบสีขาว ไม่ชอบสีดำและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของราชวงศ์ชิง คนก็เลยนุ่งขาวห่มขาวกันในช่วงเทศกาลกินเจกัน นี่คงเป็นเรื่องบังเอิญ หรืออาจเป็นเรื่องแต่งขึ้นเพื่อเพิ่มสีสันก็ได้
เรื่องนุ่งห่มสีขาวของชาวจีน เป็นคนละเรื่องกับการนุ่งห่มสีขาวตามคตินิยมของพราหมณ์ เช่น พวกพราหมณ์ไศวนิกาย จะนุ่งห่มสีขาว ถือเพศพรหมจรรย์ ถือศีล ส่วนพวกพราหมณ์ไวษณวะนิกาย จะถือเพศพรหมจรรย์ กินมังสวิรัติ ไม่แตะต้องกายสตรี นุ่งห่มสีขาวหรือสีอื่นก็ได้ ซึ่งเป็นคตินิยมที่คนไทยรับมาใช้กัน ปัจจุบัน จึงมีคนพยายามบอกว่า การนุ่งขาวห่มขาวในช่วงกินเจ เป็นไปในความหมายเดียวกับคตินิยมของพราหมณ์ คือถือศีล ห่มขาว และกินผัก ซึ่งผิดถนัด
ทำไมต้องเป็นสีขาว
ในกฎของห้าธาตุ หรืออู่หัง (五行เสียงจีนกลาง) สีขาวตกธาตุโลหะ เป็นสีประจำทิศตะวันตก ซึ่งคนจีนถือเป็นทิศแห่งสงครามและความตาย สีขาว (และสีทอง สีเหลืองอ่อน) ยังเป็นสีประจำฤดูใบไม้ร่วงที่แล้งแห้งเหี่ยวเฉา ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความเศร้าเหงา ห่อเหี่ยว ความเหี่ยวเฉา ไร้สีเลือด ไร้ชีวิต ลางร้าย และความตาย
หลายคนอาจสงสัยว่า ฤดูหนาวที่ในซีกโลกเหนือมีหิมะตกจนแลขาวโพนไปหมด สีสัญลักษณ์ของฤดูนี้ น่าจะเป็นสีขาวไม่ใช่หรือ ไม่ใช่แน่นอน เหตุผลคือหิมะเป็นสถานะหนึ่งของน้ำ น้ำมีสีดำเป็นสัญลักษณ์ ดังนั้น ฤดูหนาวจึงมีสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มเป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่สีขาว
นอกจากนี้ จีนยังมีสัตว์เทพประจำทิศต่างๆมาแต่ครั้งโบราณ ซึ่งจัดไว้ตามหลักเกณฑ์ธาตุทั้งห้า อันได้แก่ มังกรเขียวประจำทิศตะวันออก เสือขาวประจำทิศตะวันตก นกเชี่ยแดงประจำทิศใต้ และเต่าดำประจำทิศเหนือ ซึ่งสัตว์เทพแต่ละตัว แท้จริงแล้วคือหมู่ดาว ๗ ดวงที่มองดูมีรูปร่างคล้ายสัตว์ต่างๆดังกล่าวในแต่ละทิศนั่นเอง และเสือขาวก็ถูกมองว่าเป็นสัตว์เทพแห่งสงคราม
ในประวัติศาสตร์จีน สงครามปราบกบฎต่างๆมักเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง เช่นเดียวกับการประหารชีวิตนักโทษที่มักกระทำกันในช่วงนี้ สีขาวจึงกลายเป็นสีแห่งความตาย ไร้ชีวิตเลือดเนื้อ และเป็นลางร้าย ต่อมา สีขาวได้ถูกขยายความต่อไปยังมิติอื่นๆที่มีความหมายในเชิงลบ อัปมงคล ล้มเหลว ล้าหลัง โง่เขลา สูญเปล่า ชั่วร้าย อำมหิต ด้อยความรู้และด้อยประสบการณ์ เช่น
ไป๋ชือ (白痴) หรือเปะยิ้ง (白人เสียงแต้จิ๋ว) โง่ ปัญญาอ่อน
ไป๋หมัง ไป่เฟ่ยลี่ ไป๋กั้น (百忙/白费力/白干) เหนื่อยเปล่า เสียแรงเปล่า
ไป๋เหลี่ยน (白脸) ตัวโกง ตัวร้าย (ในงิ้วปักกิ่ง)
ไป๋อี/ไป๋ติง (白衣/白丁) ชาวบ้าน ตาสีตาสา(ที่ไม่รู้หนังสือ)
ไป๋เมี่ยนซูเซิง (白面书生) คนที่พออ่านออกเขียนได้และด้อยประสบการณ์
และสุดท้าย เป็นคำจีนแต้จิ๋วคือ เปะเจี๊ยะ (白食เสียงแต้จิ๋ว) เงินกินเปล่า เงินให้เปล่า เพื่อหวังผลประโยชน์บางประการ การทุจริตฉ้อฉลรูปแบบหนึ่ง ที่เราเรียกทับศัพท์กันว่า แป๊ะเจี๊ยะ นั่นเอง
การที่สีขาวถูกกำหนดให้เป็นสีแห่งความตายมาแต่โบราณ คนจีนจึงเรียกงานศพว่า “ไป๋ซื่อ” (白事) หรือ “เปะสื่อ” (เสียงแต้จิ๋ว) ความหมายตามตัวอักษรคือ งานสีขาว ลูกเมียของผู้ตายจักต้องไว้ทุกข์ด้วยการใส่ชุดผ้าดิบสีขาวคลุมด้วยชุดคลุมผ้าป่านทอหยาบๆหรือชุดกระสอบ ห้องโถงตั้งศพ รวมทั้งโต๊ะสถิตย์ดวงวิญญาณ ต้องจัดแต่งให้เป็นสีขาวทั้งหมด ต้องประดับโคมขาวไว้เหนือประตูหน้าบ้าน เพื่อแสดงให้รู้ว่า บ้านนี้กำลังมีงานศพ เวลาส่งศพไปฝังยังสุสานยังต้องมีริ้วธงผ้าสีขาวนำทาง
บันทึก “จดหมายเหตุเมืองเฉาหยัง” (เฉาหยังอยู่ในเขตแต้จิ๋ว-ผู้เขียน) เขียนไว้ว่า “(ในสมัยพระเจ้ากวงสู ปี1871-1908) พอมีงานศพก็จักจัดโต๊ะเลี้ยงแขก นี่เป็นค่านิยมที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้าเต้ากวง (ปี1821-1851) บัดนี้ในชนบทที่ไกลออกไป ๓๐-๔๐ ลี้ การจัดเลี้ยงโต๊ะจีนในงานศพดูจะลดน้อยและประหยัดกว่าเมื่อก่อนอยู่บ้าง”
ความตอนนี้บอกให้รู้ว่า คนจีนจัดงานเลี้ยงในงานศพกันมานับร้อยปีแล้ว และดูเหมือนจะฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองมากเสียด้วย กระทั่งในช่วงทศวรรษ 1940 ก็ยังคงมีตระกูลใหญ่ในเมืองเจี๋ยหยัง (揭阳เสียงแต้จิ๋ว) จัดงานศพกันอย่างใหญ่โต งานเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงไปจนถึงค่ำมืด เจ้าภาพจะเชิญแขกทุกคนทั้งที่เป็นญาติสนิทมิตรสหาย ข้าราชการท้องถิ่น ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป ให้อยู่รอกินโต๊ะจีนกันก่อน โดยไม่สนใจว่าใครจะให้เงินช่วยเหลือเท่าใด หรือมาช่วยงานตั้งแต่กี่โมงกี่ยาม โดยเจ้าภาพจะเตรียมอาหารไว้รอท่าอยู่แล้ว
แขกจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8 คนจัดให้หนึ่งโต๊ะ ทั้งโต๊ะและตะเกียบจะต้องไม่ทาสีชักเงา ไม่มีสุรา อาหารจะถูกจัดขึ้นโต๊ะไล่ลำดับไปทีละรายการ และคนที่มีตำแหน่งราชการหรือวัยสูงสุดในกลุ่มจะได้นั่งในตำแหน่งตั่วอุ่ยหรือที่นั่งใหญ่ของโต๊ะ โต๊ะจีนงานศพอาจจัดได้มากถึงหลายสิบโต๊ะทีเดียว
รายการอาหารที่จัดเลี้ยงในงานศพต้องจัดไว้เป็นจำนวนคี่เสมอ ส่วนอาหารจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น เต้าหู้ขาว ผัดผัก เนื้อหมูไก่ปลา เครื่องดื่มใช้น้ำเปล่า (白水 เปะจุ้ย-เสียงแต้จิ๋ว) หรือเหล้าขาว (白酒เปะจิ้ว-เสียงแต้จิ๋ว) ทั้งนี้ชาวจีนแต่ละท้องถิ่นก็มีธรรมเนียมปฎิบัติต่างกันไป เช่น ชาวกวางตุ้งจะจัดอาหารโต๊ะละ 7 รายการ เพราะเลข 7 เป็นเลขที่เกี่ยวข้องกับคาถาไสยเวทย์ วิญญาณ และความตาย จึงเชื่อกันว่า หลังตายไปแล้ว 7 วัน วิญญาณผู้ตายจะกลับมาบ้านก่อนจะไปยังยมโลก เป็นการกลับมารอบ 7 วันรอบแรก โดยจะวนเวียนอย่างนี้ถึง 7 รอบด้วยกัน ชาวกวางตุ้งจึงมีการเซ่นไหว้ผู้ตายเมื่อครบรอบ 49 วัน ซึ่งชาวกวางตุ้งในไทยใช้วิธี “ทำบุญเลี้ยงพระ” แทน พร้อมจัดเลี้ยงญาติมิตรที่มาร่วมงานด้วย
ในสมัยก่อน ยังต้องจัดเลี้ยงโต๊ะจีนอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นงานศพ และได้เปลี่ยนโคมขาวหน้าบ้านเป็นโคมแดง คนแต้จิ๋วเรียกการกินโต๊ะจีนแบบนี้เรียกว่า “เจียะเช็งขี่” (食清气) หมายถึงกินเพื่อให้เกิดบรรยากาศสดชื่นขึ้น ซึ่งครั้งนี้ ต้องใช้โต๊ะและตะเกียบที่ทาสีชักเงา ต้องมีอาหารที่มีผักเนื้อสีแดงด้วย
เมื่องานเลี้ยงสิ้นสุดลง แขกเหรื่อจะทยอยแยกย้ายกันกลับโดยไม่ต้องบอกลาเจ้าภาพแต่อย่างใด การเลี้ยงนี้จัดขึ้น เพื่อให้เกิดสิริมงคลและบรรยากาศสดชื่น ปัดเป่าความโศกเศร้าออกไป และบอกให้ทุกคนรู้ว่า งานศพที่น่าเศร้าสลดใจได้จบลงแล้ว
สำหรับชาวจีนในไทย ปัจจุบันยังคงมีการจัดอาหารเลี้ยงขอบคุณบรรดามิตรสหายและผู้ที่ช่วยเหลืองานศพทุกคน ชาวแต้จิ๋วเรียกโต๊ะจีนงานศพว่า “เปะสื่อเตาะ” (白事桌) หรือ โต๊ะจีนงานสีขาว โดยจะต้องไม่จัดเลี้ยงอยู่ในตัวอาคารหรือห้องจัดเลี้ยงใดๆ แต่จะตั้งโต๊ะเลี้ยงกันในที่กลางแจ้ง เช่น ลานบ้าน ลานวัด เป็นต้น
เมื่อเริ่มประกอบพิธีกงเต๊กในช่วงประมาณเที่ยงวัน ซึ่งบรรดาลูกหลานของผู้ตายจะถูกกันตัวไว้ทำพิธีอยู่แต่ในบริเวณที่มีการประกอบพิธีกงเต๊ก ช่วงเวลานี้ จึงเป็นเวลาที่เหมาะจะจัดเลี้ยงญาติมิตรอื่นๆที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมนี้โดยตรง
พิธีกงเต๊กจะดำเนินไปจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งจะมีการหยุดพักเป็นช่วงๆ เจ้าภาพที่มีกำลังทรัพย์และมีญาติมิตรมาร่วมงานมาก จึงอาจจัดเลี้ยงกันตั้งแต่เที่ยงวันถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียว เมื่องานเลี้ยงสิ้นสุดลง ญาติมิตรจะพากันกลับโดยไม่ต้องรอบอกลาเจ้าภาพแต่อย่างใด
แต่งานเลี้ยงโต๊ะจีนสีขาวที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าภาพจริงๆ จะมีขึ้นในวันเคลื่อนศพไปยังสุสาน โดยจัดเลี้ยงกันในช่วงเช้าก่อนเที่ยง ซึ่งมักมีการเลี้ยงพระเพลในระหว่างเลี้ยงโต๊ะจีนด้วย โดยจัดให้พระสงฆ์ที่นิมนต์มานั่งฉันโต๊ะหนึ่งต่างหาก และนี่คืออิทธิพลประเพณีไทยที่สอดแทรกเข้าไปอยู่ในประเพณีของชาวจีนในไทย ส่วนญาติมิตรก็กระจายกันไปนั่งในแต่ละโต๊ะตามลำดับอาวุโส อาหารจะจัดตามความนิยมเคยชินของจีนแต่ละสำเนียง สำหรับคนแต้จิ๋วจะต้องมีของหวานด้วยอย่างน้อย 1 รายการเสมอ
ลูกหลานของผู้ตายจะไม่ได้มานั่งกินร่วมโต๊ะกับญาติมิตรและแขกเหรื่อที่มาช่วยงานแต่อย่างใด ต้องแยกไปนั่งกินกับพื้นกันต่างหากโดยไม่มีการตั้งโต๊ะ ทั้งนี้เพราะลูกหลานต่างต้องถูกกันตัวไว้ในบริเวณประกอบพิธี เพื่อทำพิธีกงเต๊ก พอทุกคนกินกันเสร็จ จึงช่วยกันเคลื่อนศพเดินทางไปยังสุสานประกอบพิธีฝัง หลังเสร็จพิธีแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับ โดยเจ้าภาพต้องเอาเงินใส่ซองขาว เรียกว่า “เปะเปา” (白包) มอบเป็นสินน้ำใจแก่ญาติมิตรที่มาร่วมส่งศพด้วย เช่นนี้จึงถือว่างานเสร็จสิ้นลงโดยสมบูรณ์
ปัจจุบัน ชาวจีนในไทยจำนวนมากทีเดียว ที่จัดงานศพตามอย่างธรรมเนียมไทย คือเป็นการสวดศพและเผาศพ แทนการฝังศพ) และหลายๆรายอาจไม่จัดโต๊ะจีนเลี้ยง แต่จะจัดอาหารว่างเลี้ยงหลังฟังพระสวดหรือระหว่างประกอบพิธีกงเต๊ก อาหารที่จัดเลี้ยงจึงมักเป็นอาหารจานเดียวแบบง่ายๆ ที่นิยมกัน ก็มีกระเพาะปลา ข้าวต้มหมู ข้าวต้มกุ้ง เกี๊ยวน้ำ ข้าวผัด อาหารกล่อง ติ่มซำ หรือแม้กระทั่งพวกขนมคุกกี้ เค้ก พาย ก็ยังมี ทั้งนี้ก็แล้วแต่เจ้าภาพว่า จะจัดอะไรบ้างมาเลี้ยงแขก จะเลี้ยงโต๊ะจีนให้สมฐานะเจ้าภาพ หรือเลี้ยงอาหารว่าแบบประหยัดก็ได้ทั้งนั้น ขอเพียงให้งานอยู่ในกรอบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดสีขาวเป็นธีมงานก็พอ