โดย พชร ธนภัทรกุล
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลกินเจ เรามาดูความหมายของคำว่า เจ กันก่อน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ 2554 อธิบายว่า เจ น.อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี, แจ ก็ว่า . (จ. ว่า แจ).
พจานานุกรมฯอธิบายชัดว่า ออกเสียงว่า แจ ก็มี ซึ่งเสียงนี้เป็นเสียงคำแต้จิ๋วมาจากคำจีน (齋) แสดงว่า พจนานุกรมฯเก็บเอาเสียงแต้จิ๋วมา แต่คำนี้มีเสียงหมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน) ว่า “ไจ่” และเสียงจีนกลาง ว่า “ไจ” “(齋)” ซึ่งพจนานุกรมฯไม่ได้เก็บเอาไว้
ในภาษาจีน เจหรือแจ คำนี้มีนิยามต่างไปจากพจนานุกรมไทย กล่าวคือ ถ้าใช้เป็นคำกริยา จะหมายถึง ชำระล้างร่างกาย กินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำจิตให้ผ่องแผ้ว ลดละกิเลสทั้งปวงให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกายทั้งใจ เพื่อแสดงถึงความศรัทธาตั้งใจจริงก่อนจะบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อีกนิยามหนึ่งคือ ใส่บาตรหรือเลี้ยงอาหารพระภิกษุ ดังบันทึกใน “จิ้วถังซู” (旧唐书) เขียนว่า “(พระเจ้าเต๋อจง)รับสั่งให้จัดเลี้ยงภัตตาหารแก่พระภิกษุตามวัดต่างๆ” (令于诸寺斋僧) ก็ใช้คำ “เจ” คำนี้
ส่วนถ้าใช้เป็นคำนาม จะหมายถึง 1.ซู่สือ (素食) หรืออาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ อาหารสำหรับถวายพระภิกษุ ในบทที่สองของวรรณกรรมเรื่อง ไซอิ๋ว เขียนไว้ว่า “หลังน้ำชาแส้ว ก็สั่งให้จัดอาหารถวายพระ” ข้อความในภาษาจีนคือ茶罢,又吩咐办斋 2.การประกอบศาสนกิจของพระภิกษุ เช่น สวดมนตร์ 3.ห้องหนังสือ ห้องเรียน 4.ชื่อร้านค้า โดยเฉพาะร้านหนังสือ ร้านขายงานภาพเขียน ภาพลายพู่กันจีน มักใช้คำนี้ประกอบเป็นชื่อร้าน
จะเห็นได้ว่า “เจ” ในภาษาจีนมีความหมายกว้างกว่าที่พจนานุกรมฯนิยามความหมายไว้มากนัก และมีกลิ่นอายของความเชื่อในลัทธิหรือศาสนา และหนังสืออยู่อย่างเข้มข้น
เอาละ เราคงเข้าใจความหมายองคำว่า เจ กันมากขึ้นแล้ว
ชาวแต้จิ๋วในไทยเรียกเทศกาลนี้ว่า เกาอ่วงแจหวย (九王齋會) อาม่าเคยบอกว่า กินเจเป็นเรื่องของฮกเกี๋ยงนั้ง หรือชาวฮกเกี้ยน (福建人) ซึ่งอาม่าก็พูดถูก เพราะในช่วงนี้ ชาวจีนฮกเกี้ยนตามชุมชนต่างๆทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต จะจัดงานไหว้กิ๋วอ๋องไต่เต หรือกิ๋วอ่องเอี๊ย (九皇大帝/九王爷เสียงฮกเกี้ยน) ยังศาลเจ้ากันอย่างเอิกเกริกใหญ่โตทุกปี
ในอดีตที่ผ่านมา ชาวฮกเกี้ยนรวมไปถึงชาวจีนในอีกหลายพื้นที่ในประเทศจีน เคยมีประเพณีกินผัก เพื่อเป็นเทวะบูชาต่อองค์กิ๋วอ๋องไต่เตกันมาเนิ่นนาน ในบางเมืองชาวบ้านถึงกับกินผักกันทั้งเมือง หากแต่ว่าประเพณีนี้ได้ค่อยๆเสื่อมลง จนทุกวันนี้ ประเพณีการกินผักได้สูญสิ้นไปจากจีนแล้ว
แต่ประเพณีการกินผักนี้กลับได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันอยู่ในไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ จนกลายเป็นงานเทศกาลใหญ่งานหนึ่งทั้งในระดับจังหวัด ระดับชาติ และระหว่างประเทศ คือมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเคยมีการเชิญธูปบูชาองค์กิ๋วอ๋องไต่เตจากศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ตไปตั้งบูชาอยู่ในศาลเจ้าไท้เป๋งในรัฐเคดาห์ และรัฐเปรัก รวมทั้งสิงคโปร์
วัฒนธรรมเก่าแก่นี้นอกจากได้รับรักษาไว้แล้ว ยังได้รับการเผยแผ่ออกไปอีกอย่างคาดไม่ถึง
ชาวฮกเกี้ยนในไทย โดยเฉพาะทางใต้ คือผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสืบทอดผลักดันให้ประเพณีความเชื่อนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากที่ได้ “ตาย” ไปจากเมืองจีนแล้ว
ไม่ว่า ความเชื่อเรื่องการกินเจของชาวฮกเกี้ยนจะมีเรื่องเล่าสักกี่เรื่องก็ตาม แต่ความจริง ก็คือ ชาวจีนกินเจกันมานานนมแล้ว อาจย้อนกลับไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาพุทธเจริญมาก และศาสนาพุทธ คือแหล่งที่มาสำคัญหนึ่งของอาหารเจ
อาหารเจของชาวพุทธคืออะไร
อาหารเจในนิยามทั่วไป คืออาหารทำจากธัญพืช ผัก ถั่ว งา ผลไม้ ที่ปราศจากเนื้อสัตว์ คล้ายอาหารมังสวิรัติ แม้จะคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี เพราะอาหารมังสวิรัติ คืออาหารที่ทำจากพืชล้วนๆปราศจากเนื้อสัตว์ โดยไม่อิงความหมายทางศาสนา จะเน้นเรื่องสุขภาพ การกลับคืนสู่ธรรมชาติ การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก เป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่ง ที่ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศแต่ละภาษา อาหารมังสวิรัติจึงอาจมีไข่ นม หรือน้ำผึ้ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสองอย่างสามอย่างได้
แต่อาหารเจในนิยามทางศาสนา คืออาหารสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการกินเจถือเป็นการปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนึ่งทั้งในแง่ของการรักษาศีลข้อเว้นจากการฆ่าหรือเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น และในแง่ของการปฏิบัติธรรม เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นต้น
ส่วนในแง่เนื้อหาของอาหาร นอกจากเป็นอาหารพวกพืชผัก ถั่วงา ผลไม้ที่ปราศจากเนื้อสัตว์แล้ว อาหารเหล่านี้ยังต้องปราศจากพวกที่มีกลิ่นฉุนรสเผ็ด เช่น กระเทียม หัวหอม กุยช่าย หลักเกียว (กระเทียมป่า) เป็นต้นอีกด้วย ภิกษุจีนไม่เพียงไม่ฉันเนื้อสัตว์ แต่ยังไม่ฉันสิ่งที่ได้จากสัตว์อีกด้วย เช่น ไขมัน เนย นม แม้กระทั่งไข่ลมหรือไข่สัตว์ปีกที่ไม่มีเชื้อผสมที่ใช้เป็นอาหารกันทั่วไป อาหารเหล่านี้ ภิกษุจีนไม่ฉันทั้งสิ้น และชาวพุทธจีนที่เคร่งครัดก็ไม่กินด้วยเช่นกัน
นอกจากไม่กินเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุนแล้ว ภิกษุและชาวพุทธจีนยังไม่ดื่มสุราเมรัย และของมึนเมาทุกชนิด ทั้งไม่กินขนมจุบจิบ เพราะภิกษุควรวางตัวสำรวมเสมอ
ในอดีต ตามวัดจีนต่างๆจะมีโรงอาหารเรียกว่า โรงเจ หรือ แจตึ๊ง (斋堂) เป็นสถานที่ที่ภิกษุจีนใช้หุงข้าวและประกอบอาหารเจเลี้ยงพระในวัด ตลอดจนญาติโยมที่มาไหว้พระหรือมาปฏิบัติธรรมที่วัด เหตุที่ภิกษุจีนต้องหุงหาอาหารเอง ก็เพราะภิกษุจีนจะไม่ออกบิณฑบาตดังเช่นพระไทย
ญาติโยมที่ได้กินอาหารเจจากโรงเจในวัด ก็จำเอาไปหุงทำกินเองบ้าง อาหารเจจึงได้แพร่จากวัดสู่บ้าน จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวจีนทั้งที่เลื่อมใสและไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา วัดจีนจึงเป็นแหล่งต้นธารอาหารเจทั้งปวงที่แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวจีน และอาหารเจก็กลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของพุทธศาสนาในจีน ซึ่งแม้ในประเทศที่เรียกขานตนเองว่า เมืองพุทธอย่างไทย พม่า ศรีลังกา ก็ยังไม่มีเอกลักษณ์นี้
ยังมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ยังเซ่นผีไหว้เจ้า ตั้งแต่ผีปู่ย่าตายาย ไปจนถึงเทพเจ้าต่างๆในตำนานพื้นบ้าน เทพเจ้าจากสัตว์บางชนิด เช่น เสือ ม้า งู หรือเทพเจ้าจากสิ่งหรือพลังอำนาจ รวมทั้งปรากฏการณ์บางอย่างที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ สายฟ้า ป่าเขา นอกจากนี้ยังมี เทพเจ้าจากคนดังหรือวีรบุรุษในอดีต เช่น เทพเจ้ากวนอู และเทพเจ้าอื่นๆเช่น พระโพธิสัตย์กวนอิม เทพเจ้าโป๊ยเซียน ไฉ่สิ่งเอี๊ยหรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ แม้กระทั่งเทพเจ้าจากวรรณคดี เช่น เห้งเจีย ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นเทพเจ้าได้ทั้งนั้น นี่เป็นลัทธิบูชาผี
สำหรับชาวบ้าน การมีเทพเจ้ามากมายอย่างนี้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะ “ใช้ให้ถูกกับงาน” เช่น ไหว้เทพเจ้าหั่วเทาะ (คนเดียวกับที่เป็นหมอประจำตัวของโจโฉ) หรือเปะฮุ่งเต่าเจี้ยง นักบวชในศาสนาเต๋า เพื่อขอพรให้หายเจ็บหายไข้ ไหว้เจ้าแม่กวนอิมหรือพระไต้ฮงกง เพื่อให้ได้เกิดในชาติภพที่ดีขึ้น ไหว้พระจี้กง (ชาวจีนเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์) แทนการสวดมนต์ ไหว้ขงจื๊อ เพื่อขอพรให้เรียนหนังสือเก่ง เป็นต้น
ชาวจีนบางส่วนจะบูชาเหล่าเทพเจ้าเหล่านี้ด้วยผลไม้ ใบชา ไม่เซ่นด้วยเนื้อสัตว์ ไม่เผากระดาษเงินกระดาษทอง ไม่ต้องคุกเข่ากราบไหว้ เพียงยืนตรงคำนับก็พอ พวกเขาจะกินเจหรือกินแต่ผัก ไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด
แต่สำหรับชาวบ้านจีนส่วนใหญ่ที่มากราบไหว้เทพเจ้าเหล่านี้ ไม่ได้ถือเคร่งอะไรกับเรื่องกิน พวกเขาจึง “ไปศาลเจ้าเข้าโรงเจกินแต่ผัก อยู่บ้านกินทั้งผักทั้งเนื้อ” ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไป
อาหารเจจากวัดจีนได้แพร่จากวัดสู่บ้าน แล้วยังได้แทรกตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มองค์กรหรือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาเต๋า กระทั่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาเติบใหญ่ในเมืองไทย จนคนไทยทั่วทุกหัวระแหงรู้จักอาหารเจกันเป็นอย่างดี
นอกจากเหตุผลด้านศาสนาแล้ว ในอดีต อาหารเจเป็นอาหารที่มีประโยชน์และประหยัด ซึ่งมีส่วนทำให้อาหารเจแพร่หลายอย่างกว้างขวาง แต่ทุกวันนี้ อาหารเจไม่ใช่อาหารที่มีราคาประหยัดอีกต่อไปแล้ว เพราะดูจะขายแพงกว่าอาหารทั่วไปเสียอีก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังอยากเชิญชวนทุกคนมากินอาหารเจกันสัปดาห์สักวัน จะกินด้วยเหตุผลด้านศาสนา หรือด้านสุขภาพก็ดีด้วยกันทั้งนั้น