สำหรับชาวจีนนั้น ดวงจันทร์เปรียบได้กับความงดงามสว่างไสว และนุ่มนวลอ่อนโยน ซึ่งสะท้อนความฝันอันงดงามของชีวิต และในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน จะถือเป็น “วันจงชิว” หรือ “วันไหว้พระจันทร์” เพื่อระลึกถึงเทพธิดาแห่งพระจันทร์ และนับฤกษ์งามยามดีสำหรับการอยู่ร่วมกันของ "ครอบครัว" อันมีนัยยะกว้างไกลจากระดับคู่รัก เครือญาติวงศ์ตระกูล ชนชาติเผ่าพันธุ์ ไปจนถึงธรรมชาติสรรพสิ่ง โดยวันไหว้พระจันทร์ในปี พ.ศ.2560 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 4 ตุลาคม
การมาอยู่ร่วมชื่นชมจันทร์ในคืนเช่นนี้ โต๊ะอาหารกลมในบ้านเรือนต่างถูกนำออกมาตั้งไว้ รอจนถึงเวลาจันทร์เพ็ญลอยกระจ่างฟ้า จึงจัดวางอาหารหลากหลายเพื่อให้บนโต๊ะนั้นมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ กลมเกลียว พร้อมทั้งโชคลาภบริบูรณ์ ดุจเช่นคำกล่าวของนักปราชญ์จีนว่า "ดวงจันทร์กลมสว่างเต็มดวงคราใด เสมือนดังความกลมเกลียวสมบูรณ์ของครอบครัวปรากฎ"
ตามประเพณีดั้งเดิมของวัฒนธรรมจีน ดวงจันทร์เป็นดั่งโคมสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ โดยมีตำนานเรื่องเล่า และปรัชญามากมายที่อธิบายว่าทำไมชาวจีนจึงชื่นชมศรัทธาในดวงจันทร์ อาทิเช่น จันทราเทวีฉางเอ๋อ กับกระต่ายหยก และเฒ่าจันทรา ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่า คือผู้ถือบันทึกดวงชะตาแห่งบุพเพฯ และรายชื่อเด็กเกิดใหม่ทุกคนไว้ เป็นผู้หยั่งรู้อนาคตของคู่สมรส และลิขิตของท่านไม่มีอาจมีผู้ใดลบล้าง ความเชื่อตามตำนานนี้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เสริมส่งให้ดวงจันทร์มีบทบาทยิ่งในชีวิตของชาวจีนเสมอมา
ถ้าเป็นในสมัยโบราณที่คนยังอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ผู้ที่อยู่ใกล้ภูเขา ก็จะปีนป่ายเดินทางขึ้นไปชมแสงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่กลางฟ้า หากเป็นคนริมฝั่ง ก็จะชวนกันไปนั่งชมเงาจันทร์สะท้อนผืนน้ำ อธิษฐานขอพรให้สมปรารถนา
ในคืนเช่นนี้ จะถือว่าเป็นสุขยิ่ง หากคู่รักทั้งหลายได้แบ่งปันความหวานหอมของขนมไหว้พระจันทร์ จิบชา และชื่นชมเดือนเพ็ญเต็มดวง บ้างอาจแหงนมองท้องฟ้าส่งความคิดถึงไปยังคนไกล ดั่งเช่นที่ปรากฏในบทกวีโบราณของทั้ง หลี่ไป๋ ตู้ฝู่ และ ซูซื่อ (ซูตงโพ) กวีสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเคยได้ประพันธ์ไว้ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วงของปีค.ศ. 1076 ขณะเพิ่งจะสูญเสียภรรยาและพลัดพรากจากถิ่นอาศัย โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า
转朱阁 低绮户 照无眠
不应有恨 何事长向别时圆 (别时圆)
人有悲欢离合
月有阴晴圆缺
此事古难全 但愿人长久 千里共婵娟
เดือนเคลื่อนคล้อยสาดแสงแดงชาดจนผู้คนมิอาจหลับใหล
ไม่ควรคั่งแค้นไม่ว่าเรื่องใด เมื่อห่างกันไกลต่างคลี่คลาย
อันมนุษย์ล้วนมี สุข-ทุกข์ พบ-พราก
ดั่งเดือนขึ้น-แรม เต็มดวงหรือเพียงเสี้ยว เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน
เพียงหวังให้คนห่างไกลมีชีวิตยืนยาว
ในพันลี้ได้ร่วมชมแสงจันทร์กระจ่างด้วยกัน*
แม้ว่าในปัจจุบัน ความสำคัญของดวงจันทร์ในการกำหนดฤดูเก็บเกี่ยว มีน้อยลง และผู้คนอาจจะให้ความสำคัญกับพระจันทร์ไม่มากเท่า "ขนมไหว้พระจันทร์" แต่จิตวิญญาณของความรัก ความกลมเกลียวซึ่งมีให้แก่กันยังคงสามารถพบเห็นได้เสมอในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างตนเองกับวิถีธรรมชาติ (แสดงความกตัญญูต่อคุณูปการของดวงจันทร์ ที่ประพรมน้ำอมฤตลงมาบนพื้นโลก กำหนดวันเวลาเพาะปลูก-เก็บเกี่ยว) ความรักของคู่รัก (ตำนานความรักอมตะ "ฉางเอ๋อ" กับ "โหวอี้") และความกลมเกลียวของครอบครัว ไปจนถึงความสามัคคีของชนเผ่าเชื้อชาติ (ดั่งเรื่องราว "จดหมายกู้ชาติในขนมไหว้พระจันทร์" ขับไล่ชาวมองโกลออกจากแผ่นดินจีน โดยมีผู้นำคือ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง)
หากสืบย้อนดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า จีนเป็นชาติที่แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากดวงจันทร์เสมอมา อาทิ ตำนานของ ฉางเอ๋อ และจิตรกรรม ปฏิมากรรมสลักหินนางอัปสร บนผนังในโถงถ้ำโบราณ "ตุนหวง" มณฑลกันซู่ หรือบทกวีโบราณต่างๆ ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โครงการอวกาศสำรวจดวงจันทร์ของจีน ก็มีชื่อว่า "ฉางเอ๋อ" นอกจากนี้ ประเพณีไหว้พระจันทร์ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่งนี้ ยังได้รับการประกาศจากทางการจีน ให้เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 ด้วยเหตุเหล่านี้ คงจะบอกได้ดีถึงความผูกพันของชาวจีนที่มีต่อ "ดวงจันทร์" ว่าลึกซึ้งเพียงใด
มุมจีนขอฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ปีนี้ และอธิษฐานขอให้ทุกๆ ท่านประสบความสุข มีโชคลาภ และพลานามัยสมบูรณ์ตลอดไป ด้วยใจหวังเพียงคนใกล้-ไกล ได้ชมจันทร์กระจ่างร่วมกัน
(อ่าน-วันไหว้พระจันทร์...ทำไมต้องคืนเพ็ญเดือนแปด)
*หมายเหตุ - บทประพันธ์ซูตงโพ แปลโดย ดวงพร วงศ์ชูเครือ
เชิญฟังบทเพลง "ต้านย่วนเหริน(เหยิน)ฉางจิ่ว 但愿人长久: ขอให้มีชีวิตยืนยาว" ที่นำบทประพันธ์ของซูตงโพมาขับร้องโดยเติ้งลี่จวิน