ไชน่า เดลี่/ซินหวา--ยานสำรวจน้ำลึกรุ่นใหม่ของจีน บรรลุการทดลองใต้ท้องทะเลลึกครั้งแรกในบริเวณทะเลจีนใต้ และกลับสู่ท่าเรือในเมืองซันย่า มณฑลไห่หนัน เมื่อวานนี้(3 ก.ย.)
ยานสำรวจน้ำลึกรุ่นใหม่นี้เป็นรุ่นใช้คนบังคับ มีชื่อว่า “เซิ้นไห่หย่งซื่อ” ซึ่งมีความหมายว่า “นักรบแห่งทะเลลึก” ได้ปฏิบัติการทดลองใต้ท้องทะเลที่ระดับลึก 4,500 เมตร เป็นเวลา 50 วัน เพื่อทดลองระบบและการทำงานของยานฯ
ไป๋ ชุนลี่ ประธานสถาบันศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งจีน กล่าวว่า “ยานสำรวจน้ำลึกรุ่นนี้ เป็นรุ่นฯที่ทันสมัยที่สุดในโลกรุ่นหนึ่ง จีนได้กลายเป็นชาติที่มีความสามารถปฏิบัติการใต้น้ำลึกขนาดใหญ่”
สำหรับชาติอื่นๆที่พัฒนาเทคโนโลยีปฏิบัติการใต้ท้องทะเลลึก ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส รัสเซีย และญี่ปุ่น
ในปี 2002 จีนเริ่มพัฒนาโครงการปฏิบัติการสำรวจน้ำลึกโดยมีคนบังคับ ต่อมาในปี 2010 ยานสำรวจใต้น้ำ เจียวหลง (มังกรทะเล) ได้ออกปฏิบัติการสำรวจฯ โดยในปี 2012 ประสบความสำเร็จในปฏิบัติการสำรวจที่ระดับลึกที่สุด 7,062 เมตร ณ บริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench)
ยานสำรวจใต้ทะเลลึกรุ่นใหม่นี้ สร้างจากความสำเร็จของเจียวหลง ขณะที่เจียวหลงสร้างจากชิ้นส่วนอุปกรณ์นำเข้า ยาน "นักรบแห่งทะเลลึก"นี้ ใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ ราว 90% โดยชิ้นส่วนหลักเป็นของที่ผลิตในประเทศทั้งสิ้น จากข้อมูลกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ขณะนี้ จีนได้ตั้งเป้าปฏิบัติการสำรวจใต้ทะเลลึกที่ระดับ 10,000 เมตร โดยนักรบแห่งทะเลลึก จะเป็นพื้นฐานการบ่มเพาะปัญญาในอนาคต และพัฒนาการสำรวจใต้ทะเลลึกยิ่งกว่านี้