MGR ONLINE/ตุนหวง--หนังสือพิมพ์ประชาชนจีน หรือ พีเพิล’ส เดลี่) จับมือกับมณฑลกันซู่ จัด “งานช้าง” ฟอรัมความร่วมมือสื่อเพื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ปี 2017 (2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road) ณ เมืองตุนหวง มณฑลกันซู่ ซึ่งมีเป้าหมายผลักดันบทบาทเชิงบวกของสื่อโลก สนับสนุนหนึ่งแถบ หนึ่งเส้น
หนังสือพิมพ์ประชาชนจีน ได้จัดกิจกรรมใหญ่ซึ่งกินเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยโหมโรงด้วยกิจกรรมเตรียมการก่อนเปิดม่าน 2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road กลุ่มผู้สื่อข่าวและตัวแทนสื่อ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมฟอรัมฯ ซึ่งมี 3 กลุ่ม รวมกว่า 300 ราย จาก 127 ประเทศ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเตรียมการฯ ทั้งเวิร์คช็อป สัมมนา ทัศนศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหม กิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ฯลฯ
ผู้เขียนซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สื่อข่าวจากศูนย์ข่าวจีน-เอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ได้สวมบทบาทนักเดินทาง ท่องเส้นทางสายไหม ทั้งแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่ทำให้ได้มองย้อนถึงความรุ่งโรจน์ของเส้นสายสายไหมยุคโบราณ ได้แก่ ด่านจยาอี้ว์ เมืองจยาอี้ว์กวน ซึ่งเป็นด่านแรกของกำแพงเมืองจีนในภาคตะวันตก, พิพิธภัณฑ์การจาริกแสงบุญของพระเสวียนจั้ง (พระถังซำจั๋ง), ถ้ำพุทธศิลป์มั่วเกา เมืองตุนหวง, หมิงซาซัน หรือเนินทรายควรญ และทะเลสาบจันทร์เสี้ยวกลางทะเลทราย และชมการแสดงชุดใหญ่ “เส้นทางสายไหมและฝนดอกไม้” ทั้งเยี่ยมชมเขตพัฒนาสมัยใหม่ อย่างสวนอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่แห่งทะเลทรายโกบีและเขตทดลองการเกษตรสมัยทันเมืองจ่งไจ้, โครงการแหล่งพลังงานใหม่ (พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์) ของบริษัทพลังงานใหม่เคอลู่ เมืองอี้ว์เหมิน
2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road เปิดม่านในวันที่ 19 ก.ย. ณ ศูนย์การประชุมและจัดแสดงนิทรรศการเมืองตุนหวง ซึ่งประกอบด้วยพิธีเปิดในช่วงเช้า ตัวแทนจากคณะผู้จัดคือ หนังสือพิมพ์ประชาชนและมณฑลกันซู่ ตัวแทนสื่อจากประเทศต่างๆ และตัวแทนจากภาคธุรกิจ รวม 23 คน ได้ขึ้นกล่าวคำศรัย สนับสนุนการรายงานข่าวเชิงบวกเพื่อส่งเสริมการผลักดัน หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง วันเดีวกันยังมีพิธีเปิดศูนย์ความร่วมมือสื่อและโครงการรายงานข่าวร่วมข้ามพรมแดน (Belt and Road Cooperation Center & Cross-Border Joint Reporting Project) พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อต่างๆ โดยมีผู้เสวนาบนเวทีจากประประเทศต่างๆกว่า 10 ประเทศ
ก้าวต่อไปของความร่วมมือสื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
ผู้เขียนขอหยิบยกสาระใจกลางของฟอรัมความร่วมมือสื่อฯครั้งนี้ จากคำปราศรัยของ หยาง เจิ้นอู่ ( 杨振武) ประธานหนังสือพิมพ์ประชาชน และหลิน ตั๋ว(林铎) เลขาธิการคณะกรรมการแห่งมณฑลกันซู่ในพิธีเปิด 2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road ซึ่งแนะนำภูมิหลังและทิศทางของฟอรัมความร่วมมือสื่อเพื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และมณฑลกันซู่ เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์แห่งเส้นทางสายไหม อย่างไร
หยาง เจิ้นอู่ ได้กล่าวถึงภูมิหลังการจัดฟอรัมความร่วมมือสื่อ สืบเนื่องมาจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งทาง ซึ่งประกอบด้วย “เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” ในปลายปี 2013 เพื่อเปิดช่องทางความร่วมมือทั่วโลกที่สมประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งในการร่วมค้า ร่วมพัฒนาทั่วทุกด้าน ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์”
“ปีถัดมา (2014) หนังสือพิมพ์ประชาชนจีนได้ริเริ่มเปิดเวทีความร่วมมือสื่อ Media Cooperation Forum on Belt and Road ครั้งแรก เพื่อระดมความความร่วมมือสื่อทั่วโลกเร่งผลักดันความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง สำหรับ 2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road เป็นครั้งที่ 4 ของการจัดฟอรัมฯ โดยทำสถิติเป็นฟอรัมความร่วมมือสื่อขนาดใหญ่ที่สุดที่จัดโดยสื่อกระแสหลักของจีน โดยมีองค์กรในจีนและต่างประเทศเข้าร่วมมากที่สุด มีสื่อต่างประเทศเข้าร่วมมากที่สุด นับเป็นงานชุมนุมสื่อโลกที่ทรงพลังอิทธิพลมากที่สุด”
“2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road ยังจัดขึ้นภายใต้พลังจิตวิญญาณของการประชุมใหญ่ “Belt and Road Forum for International Cooperation” ที่จัดเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีกลุ่มผู้นำจากประเทศต่างๆทั่วโลกมาร่วมปรึกษาความร่วมมือฯ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ซึ่งจะสร้างแนวคิดใหม่สำหรับธรรมภิบาลโลก เปิดกว้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างรูปแบบใหม่ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน”
หยาง ได้สรุปความก้าวหน้าของ Media Cooperation Forum on Belt and Road ตลอด 4 ปีมานี้ มีทั้งด้านการสร้างแนวคิดใหม่สำหรับความร่วมมือ การบุกเบิกเวทีความร่วมมือที่สมประโยชน์ทุกฝ่าย ตลอดจนสร้างพื้นฐานความร่วมมือโดยการมีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับสื่อ 33 ราย จาก 23 ประเทศ เป็นต้น
สำหรับก้าวต่อไปของความร่วมมือสื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หยางได้ประกาศแผนปฏิบัติการ 6 ได้แก่ 1) ออกหนังสือปกน้ำเงินสำหรับความร่วมมือสื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” 2) เปิดศูนย์วิจัยปัญหาระหว่างประเทศ 3) สร้างศูนย์ความร่วมมือสื่อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และกลไกร่วมรายงานข่าว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” 4) จัดตั้งสหภาพความร่วมมือระดับภูมิภาค “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” 5) จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” 6) เผยแพร่ชุดหนังสือสองภาษาจีน-อังกฤษ: รายงานความสำเร็จการสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
ย้อนมองประวัติศาสตร์ความรุ่งโรจน์และเดินหน้าเส้นทางสายไหมแห่งกันซู่
หลิน ตั๋ว เลขาธิการคณะกรรมการมณฑลกันซู่ กล่าวว่า “เมื่อกล่าวถึงมณฑลกันซู่ สิ่งแรกที่พวกเรานึกถึงคือ เส้นทางสายไหมยุคโบราณที่ทอดยาวไกลข้ามสหัสวรรษ พาดผ่านมณฑลกันซู่เป็นระยะทางถึง 1,600 กิโลเมตร บนเส้นทางสายไหมนี้ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนการค้าและวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้มีการจัด “การแสดงนิทรรศการนานาชาติ” (万国博览会)ที่เขาเยียนจือ เมื่อ 1,400 กว่าปีที่แล้ว”
“เมื่อก้าวเท้ามาถึงตุนหวง...ถ้ำพุทธศิลป์มั่วเกาที่เปรียบดั่งราชวังแห่งศิลปะ ก็ปรากฏแก่สายตา... เส้นทางประวัติศาสตร์ “ระเบียงเหอซี” (河西走廊)...สิ่งที่หลั่งไหลเข้าสู่ในสมองของเราคือประวัติศาสตร์อันยาวนานของการผสมผสานวัฒนธรรมนานาประเทศ กันซู่เป็นท่าการค้าและเส้นทางยุทธศาสตร์ของเส้นทางสายไหม เป็นเขตเปิดกว้างการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรม และการหลอมรวมชนชาติต่างๆของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
“กันซู่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นดินใหญ่ เป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมหลากหลายของชนชาติจีน ได้แก่ วัฒนธรรมแม่น้ำเหลือง(黄河文化) วัฒนธรรมการเกษตรเพาะปลูก(农耕文化)วัฒนธรรมเส้นทางสายไหม(丝路文化)วัฒนธรรมบรรพชน(始祖文化)วัฒนธรรมยา(医药文化)การแลกเปลี่ยนบนเส้นทางสายไหมยังมอบมรดกวัฒนธรรมโลก 7 แห่ง อาทิ ถ้ำพุทธศิลป์มั่วเกา กันซู่เป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่ ภูมิประเทศหลากหลาย เป็นเขตที่บรรจบของที่ราบสูงมองโกเลีย ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ทะเลทรายโกบี ขุนเขาสูง ป่าไม้ทุ่งหญ้า แม่น้ำเหลือง ภูเขาหิมะธารน้ำแข็ง เป็นต้น จึงได้ฉายา “พิพิธภัณฑ์แห่งทัศนียภาพธรรมชาติที่แปลกตา””
“ระเบียงเหอซีเป็นเส้นทางบกแลกเปลี่ยนการค้าระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป มีแหล่งสำรองทรัพยากรเหมืองแร่ลำดับที่ 5 ของประเทศจีน ถ่านหิน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ อีกทั้งเป็นแหล่งพลังงานแรงอาทิตย์ พลังงานลม ตลอดจนแหล่งพืชสมุนไพรยาจีน จนได้รับฉายา “ดินแดนแห่งแร่ธาตุ” และ “ดินแดนแห่งโอสถพันปี” ”
เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ไม่เพียงแต่เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ในความร่วมมือร่วมในประเทศตามเส้นทางสายไหม ยังได้เปลี่ยนรูปแบบการเปิดกว้างภาคตะวันตกจีนสู่ต่างแดน
ชมภาพกิจกรรมเตรียมการก่อนเปิดฟอรัม 2017 Media Cooperation Forum on Belt and Road (ภาพ MGR ONLINE)