xs
xsm
sm
md
lg

เพลินภาพพู่กันจีน : แท่งหมึก มนตราภาพเขียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แท่งหมึก ถือเป็นงานศิลปะวัตถุรูปแบบหนึ่ง ในช่วงกลางสมัยราชวงศ์ซ่ง แท่งหมึกเริ่มถูกออกแบบให้งดงามประณีตขึ้น และบรรจุหีบห่ออย่างดี (ภาพ AliExpress.com)
แท่งหมึกจีนคือหนึ่งในสี่มนตราในภาพเขียนจีน มีวิวัฒนาการยาวนานเกือบ 2,000 ปี นับตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) และจนถึงวันนี้ เทคนิคอันซับซ้อนในกระบวนการผลิตแท่งหมึก ยังคงเป็นความลับของช่างฝีมือชาวจีน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันแต่เพียงว่า วัสดุสำคัญที่นำมาทำหมึกแท่งนั้นคือ เขม่าดำและกาว ซึ่งเขม่าดำที่มีคุณภาพดีที่สุด ได้จากการเผาไหม้น้ำมันพืช

ในอดีตเขม่าดำหรือเขม่าคุณภาพดีที่สุด เกิดจากการเผาต้นสนที่เลือกเฟ้นมาอย่างดีในเตาหลอมหมึก โดยช่างจะนำหม้อดินเผามารมควันโดยกลับไปมาเหนือเตาหลอม เมื่อเกิดเขม่าจับที่หม้อดินเผา ช่างจะใช้ขนแปรงปัดเขม่าที่ติดอยู่ที่หม้อเหล่านี้ แล้วนำมาผสมกับกาว ที่ทำจากเขาสัตว์หรือหนังสัตว์ โดยเฉพาะเขาของกวางวัยอ่อน เพราะมีความบริสุทธิ์มาก

บันทึกประวัติศาสตร์ ชี้ว่า ในช่วงต้นราชวงศ์ซ่ง ทั่วประเทศมีการตัดไม้สนจำนวนมากมายมหาศาล จนทำให้ต้นสนเกือบสูญพันธุ์ จึงได้มีการคิดค้นแท่งหมึกที่ได้จากเขม่าของน้ำมันดิบ แทนที่แท่งหมึกของเขม่าไม้สนในอดีตนับแต่นั้นมา

หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นเก่าแก่ ที่พบว่ามีร่องรอยการใช้น้ำหมึกจีนเป็นครั้งแรก อยู่ในสุสานที่ขุดพบในอำเภอหลินทง เขตมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งคาดว่าเก่าแก่ย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรมหยั่งเสา(仰韶文化) เมื่อราว 7,000 - 6,000 ปีก่อน โดยนักโบราณคดีขุดพบ ชุดเครื่องมือวาดเขียนที่ใช้หมึก ประกอบด้วย หินที่เชื่อว่าใช้ฝนหมึก และเศษของแท่งหมึกที่แตกหักหลงเหลืออยู่ในสุสานดังกล่าว

บันทึกทางประวัติศาสตร์ยังระบุอีกว่า ในสมัยโบราณหมึกจีนถูกนำไปใช้ในการทำนายอนาคต โดยพวกพ่อมดหมอผี หรือพวกเล่นแร่แปรธาตุ

เมื่อ‘ผู้วิเศษ’ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อทำนายอนาคต ต่อหน้าขุนนางในราชสำนักและสาธารณชนแล้ว จะสลักตัวอักษรและลงหมึกที่กระดองเต่า แล้วนำไปเผาไฟ หลังจากนั้นผู้วิเศษจะพินิจพิเคราะห์รูปร่างและรอยแตกบนกระดองเต่าอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วจึงตีความออกมาเป็นนิมิตหรือลางร้าย อันจะเกี่ยวเนื่องกับข้อความและคำถามใดใดก็ตามที่ถูกหยิบขึ้นมาให้เขาทำนายเถาจงอี๋ (ราวค.ศ.1329-1421) นักเขียนพู่กันจีนและกวีชื่อดัง ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หยวนต้นราชวงศ์หมิง เคยกล่าวไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์ซางมีการใช้น้ำหมึกกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากวิวัฒนาการของตัวอักษรจีนโบราณที่สุกงอมเต็มที่ ประกอบกับปริมาณแร่คาร์บอนในธรรมชาติที่มีอยู่มาก
ภาพวาดในบันทึก เทียนกง ไค่อู่  (天工開物) สมัยศตวรรษที่ 15 แสดงการเผาไม้สนเพื่อนำมาทำแท่งหมึกจีน
ใน ‘บันทึกหนันชุนฉั้วเกิง’(南村辍耕录) ที่เถาจงอี๋รวบรวมเรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์เอาไว้ ยังอ้างถึงการทำน้ำหมึก ที่จะนำแผ่นหมึกหนาๆ มาบดในถ้วยหิน หรือภาชนะดินเผา แล้วนำพู่กันมาจุ่มหมึกเขียนลงบนไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นริ้วๆ

การผลิตแท่งหมึกเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) และราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907) มีการออกกฎพิเศษ ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมการผลิตแท่งหมึกโดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้น ช่างทำแท่งหมึกแห่งราชวงศ์ถัง ยังสามารถผลิตหมึกสีสันต่างๆได้มากขึ้น เช่นแดง และเหลือง

กระบวนการทำแท่งหมึกในเวลานั้นยังมีความซับซ้อนมากขึ้น อาทิ การทำแม่พิมพ์ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งรูปจัตุรัส กลม สี่เหลี่ยม วงรี และที่เป็นรูปร่างไม่แน่นอน และยังมีรูปภาพที่ประทับอยู่บนแท่งหมึกนั่นอีก ซึ่งเท่ากับเป็นงานศิลปกรรมชิ้นหนึ่งทีเดียว

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายสมัยราชวงศ์ถัง เกิดสงครามอย่างต่อเนื่องทางภาคเหนือ อุตสาหกรรมทำแท่งหมึกในครัวเรือนจึงเคลื่อนย้ายจากเหนือสู่ภาคตะวันออกของประเทศ หนาแน่นอยู่ที่มณฑลเจียงซู เจียงซี และอันฮุย ทำให้เทคโนโลยีการผลิตแท่งหมึกเริ่มกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทางตอนใต้ด้วย

เมื่อผลัดแผ่นดินเข้าสู่ราชวงศ์ซ่ง ความต้องการในการใช้หมึกจีนเริ่มขยายตัวถึงขีดสุด ตามการพัฒนาของระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการในสังคมศักดินา และความนิยมในศิลปะการเขียนภาพพู่กันและตัวอักษรจีนโบราณ ที่มีบทบาทอย่างมากในสังคมขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแท่งหมึกในเวลานั้น สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ศิลปะการผลิตแท่งหมึกในสมัยราชวงศ์ซ่งนี้ ถูกจัดว่าอยู่ในระดับก้าวหน้ามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่างฝีมือทำแท่งหมึกสามารถสร้างสรรค์แท่งหมึกมีกลิ่น โดยใส่วัตถุดิบที่เป็นยาบางตัวลงไปในหมึก ปัจจุบันยังมีการใช้แท่งหมึกมีกลิ่นพวกนี้ ในกลุ่มแพทย์แผนโบราณของจีน

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าอย่างมากในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง (ค.ศ.1368-1911) มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์แท่งหมึกของช่างฝีมือในยุคนั้น ทั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงวัสดุที่นำมาผลิตหมึก และคุณภาพของแท่งหมึกที่พัฒนาขึ้นตามลำดับด้วย

ปัจจุบันเราอาจหาชมชุดแท่งหมึกคุณภาพดีได้ ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม ในกรุงปักกิ่ง ชุดที่น่าสนใจ คือ ชุดแท่งหมึกหลากสีที่ทำถวายจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1644-1911) ซึ่งสลักเป็นภาพทิวทัศน์จำนวน 10 ภาพอย่างสวยสดมีชีวิตชีวา โดยหมึกแต่ละแท่งจะสลักคำกลอน ซึ่งเฉียนหลงฮ่องเต้ทรงนิพนธ์ขึ้น กล่าวถึงความงามของทิวทัศน์ทะเลสาบซีหูในเมืองหังโจว แห่งมณฑลเจ้อเจียง สีสันต่างๆ ที่แต่งแต้มลงบนแท่งหมึกเป็นสีแร่ธรรมชาติ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นสีแดง เหลือง เขียว น้ำเงิน น้ำตาล และขาว ทั้งนี้เพื่อถ่ายทอดความงามของทะเลสาบซีหูเมื่อ 200 ปีก่อน ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้


กำลังโหลดความคิดเห็น