xs
xsm
sm
md
lg

วิสัยทัศน์ผู้นำไทยสู่ความสัมพันธ์ไทย-จีน หวังการลงทุนจากจีน ช่วยสร้าง “ไทยแลนด์ 4.0”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกอัครราชทูตไทยประเทศกรุงปักกิ่ง นาย พิริยะ เข็มพล (ภาพMGR ONLINE)
MGR ONLINE--หลังจากที่มีการลงนามสัญญาฉบับต่างๆระหว่างไทย-จีน ในการประชุมสุดยอด บริกส์ (BRICS) ที่เมืองซย่าเหมิน ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.ได้แก่ สัญญาออกแบบและการควบคุมงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, แผนปฏิบัติการสำหรับดำเนินความสัมพันธ์ไทย-จีน, และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

ความสัมพันธ์ไทย-จีน ยิ่งกระชับแน่น และจะดำเนินไปในทิศทางใด... เอกอัครราชทูตไทยประเทศกรุงปักกิ่ง นาย พิริยะ เข็มพล ได้ให้สัมภาษณ์ ชี้ถึงผลประโยชน์การพัฒนาประเทศจากความสัมพันธ์ไทย-จีน ยุค หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road)

ขณะนี้จีนเป็นแหล่งนักลงทุนรายใหญ่ของไทย มีศักยภาพสูงมากที่จะช่วยดึงไทยเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” จีนมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนนวัตกรรมในต่างประเทศ โดยส่งเสริมกลุ่มมณฑลที่มีศักยภาพ เช่น เจ้อเจียง เจียงซู เหอหนัน มณฑลเหล่านี้มีจำนวนประชากรพอๆกับประเทศไทย และมีกลุ่มนักลงทุนด้านนวัตกรรมจำนวนมาก นักธุรกิจหลายรายจากมณฑลเจียงซูก็ได้เข้าไปลงทุน ตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง

“จีนผลักดันความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง พร้อมกับจัดสรรกองทุนมากมาย ถ้านโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เกิดขึ้นโดยคนที่ไม่มีเงินไม่มีทุน ก็ไม่เกิดผลใด ไทยได้เชิญกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามา ก็หายๆหน้าไป เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เมื่อนักลงทุนจีนเข้ามา ไทยก็เปิดประตูรับ...”

“ถ้าไม่มีนักธุรกิจเข้ามาลงทุน ระเบียงเศรษฐกิจหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor)ไม่เกิด นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็ไม่สำเร็จ ไทยกำลังนำเข้าความสามารถพิเศษ (talent) ความเชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ขณะที่จีนมีนวัตกรรม มีบริษัทเทคโนโลยีสูง อย่าง อาลีบาบา หัวเว่ย เป็นต้น เมื่อนักลงทุนเหล่านี้เข้ามาพร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้คนไทยได้พัฒนาความสามารถเก่งขึ้น อยู่ที่ไทยจะใช้การลงทุนจากจีนพัฒนาประเทศอย่างไร”

ย้อนมองสมัยก่อนจีนได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนจากต่างประเทศ เริ่มจากการเชิญบริษัทจีเอ็ม บริษัทโบอิ้งมาลงทุน จนสามารถพัฒนาเครื่องบินของตัวเอง เชิญเยอรมนีเข้ามาลงทุน ต่อมาก็มีรถไฟพลังแม่เหล็กแม็กเลฟ เปิดบริการในเส้นทางจากใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ไปยังสนามบินผู่ตง การหลั่งไหลเข้ามาของทุนต่างชาติพร้อมกับมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในที่สุดจีนก็มีค่ายโทรศัพท์มือถือของตัวเอง เอาชนะค่ายโทรศัพท์มือถือต่างชาติ พัฒนารถไฟความเร็วสูง ขายตลาดทั่วโลก

“ผมไปดูโรงงานรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว จีนขายรถไฟในตลาด 102 ประเทศ ทั้งในอเมริกา ประเทศต่างๆที่เคยเป็นผู้ผลิตมาก่อน ก็กลายเป็นผู้ซื้อ ตอนนี้จีนผลิตเองได้ กลายเป็นผู้ขาย ผู้ส่งออกเทคโนโลยี ปัจจุบันไม่มีบริษัทข้ามชาติรายไหนที่ไม่มีฐานลงทุนในจีน”

“ไทยก็เช่นกัน เราไม่กลัวการลงทุน และกำลังเชื้อเชิญการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศ เช่น โรโบติก ไบโอเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เน้นการลงทุนที่มี R&D ที่จะช่วยดึงประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากดักทางรายได้ รายได้ประเทศไทยไม่กระเตื้องเลยมานานแล้ว เพราะเราไม่มีอะไรใหม่ๆ จะรอพัฒนาคนของเราเอง ก็ไม่ทัน ดังนั้น การนำเข้าความสามารถพิเศษ เทคโนโลยี ในลักษณะการลงทุนโดยตรงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นทิศทางเดียวกับที่จีนได้ทำสำเร็จมาแล้ว”

“ขณะนี้ไทยให้สิทธิพิเศษด้านภาษี และมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ เพื่อนำเข้าความสามารถพิเศษ สร้างการวิจัยและการพัฒนา ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุน มีคนสนใจมาลงทุน ไม่เฉพาะจีน ญี่ปุ่น อเมริกัน และชาติอื่นๆจากตะวันตก ก็เข้ามา ในขณะที่เรากำหนดทิศทางว่าจะใช้การลงทุนด้านนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคใหม่...เป็นเกษตรกร 4.0 เป็นแรงงาน 4.0 เป็นทุกอย่างที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แบบเดิมๆ”

เรียนรู้จากการลงทุนต่างชาติ สู่สองความฝันจีน

จีนสามารถยกระดับรายได้ประชาชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะนี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังพัฒนาประเทศเพื่อบรรลุ “ความฝันร้อยปี สองความฝัน” ฝันแรกคือ ร้อยปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ (ปีก่อตั้ง ค.ศ.1921) จีนจะเป็นสังคมพอกินพออยู่อย่างถ้วนหน้าในปี ค.ศ. 2020 คำว่า “ถ้วนหน้า” คือทุกคน

ฝันที่สอง คือร้อยปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน(ปีก่อตั้ง ค.ศ.1949) จีนจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี ค.ศ. 2049 เป็นประเทศโลกที่หนึ่งภายใต้ระบบการปกครองสังคมนิยมแบบจีน ไม่ใช่ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบตะวันตก ทุนนิยม

“จีนจะทำให้ประชาชนกว่า 1,300 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน โดยใช้คอนเนคทิวิตี้ (connectivity) เชื่อมโยงพื้นที่กว้างใหญ่เทียบเท่าทวีป จีนได้เชื่อมเมืองใหญ่เมืองเล็กในชนบท ด้วยเครือข่ายเส้นทางรถไฟ กว่า 20,000 กิโลเมตร ตัดผ่านเขตต่างๆ เจาะภูเขา เจาะอุโมงค์ ข้ามเหว ข้ามแม่น้ำ เชื่อมจุดที่ด้อยพัฒนาที่สุดจากภาคตะวันตกไปภาคตะวันออกที่มั่งคั่ง จากภาคเหนือไปภาคใต้ ทำให้การเดินทางติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ความเจริญเกิดขึ้นทั่วประเทศ”

“ยังไม่นับอี-คอมเมิร์ช จีนยังมีการเชื่อมโยงด้าน “อี-คอนเน็คทิวิตี้” ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวขายของได้ สามารถติดต่อสื่อสารจนเกือบจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสด (cashless society) ด้วยการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องมีบัตรเครดิต ชาวนาในชนบทสามารถขายของได้ด้วยนวัตกรรมโทรศัพท์มือถือ”

จีนสร้างบิ๊กดาต้ารวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่งของประชาชน ตรวจสอบพฤติกรรมผู้บริโภค สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆนำมาบริหารประเทศ จีนมาไกลขนาดนี้แล้ว เราสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาของจีนได้มาก

ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และกำลังก้าวสู่อันดับหนึ่งในอีกไม่นาน จีนมีทั้งพลังการเงิน พลังความคิด ขณะที่รายอื่นมีแต่ความคิดแต่ไม่มีเงินลงทุน ทิศทางการลงทุนการพัฒนาต่างๆจึงมาจากจีนมากกว่า

ความท้าทายจากกระแสลงทุนจากจีน

“การเข้าร่วม ความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ถ้าถามว่านักท่องเที่ยวจีนที่มายังไทยปีละ 8-9 ล้านคน ดีไหม ทุกคนก็บอกว่าดีต่อเศรษฐกิจ อยากให้นักท่องเที่ยวจีนมามากขึ้น”

“แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย ซึ่งไทยก็รู้และเตรียมพร้อมรับมือ โดยกำหนดกฎกติกา จัดระเบียบ ปฏิรูประบบต่างๆ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด อย่าให้มีบริษัทนอมินีมาบังหน้าทำธุรกิจอื่นหรือสิ่งผิดกฎหมาย แก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ดูแลบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การหลบหนีเข้าเมืองก็ต้องน้อยลง ฝ่ายไทยต้องกระชับมาตรการต่างๆเพื่อรักษาความเป็นธรรมให้แก่ทุกคน”

“ในจีนเอง นักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเที่ยวจีน เค้ามีระบบจัดการไม่ให้มีชาวต่างชาติตกค้างในประเทศ หรือหลบหนีเข้าเมือง โดยต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองเกิน 7 วัน ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ วีซ่าขาด ปรับวันละ 500 หยวน กฎหมายจีนเข้มมาก คนทำผิดกฎหมายในจีนยาก นักธุรกิจโกงได้ยาก การปราบคอรัปชั่นที่เด็ดขาดในกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทำให้คนกลัว ไม่กล้า ดังนั้น จึงมีการเชื่อฟังกฎหมายสูง”

*หมายเหตุ เนื้อหารายงานเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ เอกอัครราชทูตไทยประเทศกรุงปักกิ่ง นาย พิริยะ เข็มพล


กำลังโหลดความคิดเห็น