xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรเงียบ! ผลวิจัยชี้มลพิษทางอากาศทำชาวจีนอายุสั้นลง 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนในเมืองเสิ่นหยัง มณฑลเหลียวหนิงขณะผจญกับมลพิษทางอากาศ (ภาพรอยเตอร์)
กลุ่มสื่อจีนรายงาน (13 ก.ย.) เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยประจำสถาบันนโยบายพลังงาน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ระบุว่า มลภาวะทางอากาศที่ย่ำแย่ของประเทศจีน ทำให้พลเมืองจีนอายุสั้นลง 1 ปี ซึ่งหากรัฐบาลจีนสามารถควบคุมมลภาวะให้สอดคล้องตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) กำหนด พลเมืองมังกรก็จะมีอายุยืนยาวได้มากขึ้นอีกโดยเฉลี่ย 3.5 ปี ในขณะที่ชาวปักกิ่งจะมีอายุยืนขึ้น 6.4 ปี และชาวฮาร์บินจะมีอายุยืนขึ้นอีก 6.9 ปี

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาในวารสารเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา Proceedings of the National Academy of Sciences โดยระบุว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศจีนมีอายุสั้นกว่าชาวภาคใต้เฉลี่ย 3.1 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากมลภาวะทางอากาศ

ในปีที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) เผยผลการวิจัยระบุ มลพิษจากอุตสาหกรรมพลังงาน ทำคนจีนอายุสั้นลงเฉลี่ย 25 เดือน โดยคนจีนรายร้อยละ 97 สูดหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในปริมาณมากกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) กำหนด ส่งผลให้มีคนจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนับล้านคนทุกปี

นอกจากนี้ มลพิษภาคครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการเผาวัสดุต่างๆเพื่อใช้ความร้อนทำอาหาร หรือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลคุณภาพต่ำเพื่อสร้างความอบอุ่นในบ้าน ก็สร้างมลภาวะในอากาศ ส่งผลให้มีคนจีนเสียชีวิตราว 1.2 ล้านคนต่อปี

รายงานระบุว่า ปัญหามลภาวะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปก่อนเวลาอันควรราว 6.5 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ PM 2.5 หรือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน เป็นสาเหตุหลักของโรคที่เกิดจากมลภาวะทางอากาศ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด การติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ และโรคร้ายอื่นๆ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ไม่สามารถกรองฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้ฝุ่นละอองฯ สามารถเดินทางเข้าไปได้ลึกถึงระดับถุงลม ก่อให้เกิดพิษต่ออวัยวะต่างๆโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปอด ตับ หรือไต และลดความสามารถของร่างกายในการจัดการเชื้อแบคทีเรีย โดยทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจง่ายขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น