"ลมปราณ" คือพลังงานแห่งปรากฏการณ์ชีวิต โดยมีร่างกายเปรียบเหมือนเสาอากาศ เป็นหน่วยรับและส่งผ่านกระแสพลังงานที่ไม่มีใครมองเห็น แต่ทว่าที่มีอยู่
"ร่างกายคือเสาอากาศรับ-ส่งพลังงาน"
ไมเคิล เจ.เกลบ์ (Michael J. Gelb) เจ้าของหนังสือศาสตร์การพัฒนาศักยภาพขายดี How to Think Like Leonardo da Vinci และเป็นวิทยากรที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับสากลต่างๆ อาทิ ไนกี้, ไอบีเอ็ม และไมโครซอฟต์ รวมถึงเป็นครูฝึกไท่จี๋ ชี่กง นอกจากนี้ยังฝึกศิลปะป้องกันตัวไอคิโด ระดับสายดำ 5 ดั้ง กล่าวถึงเรื่องลมปราณว่า "ร่างกายคือเสาอากาศรับ-ส่งพลังงาน ... ร่างกายของคุณเป็นเสาอากาศสำหรับชี่ และการปรับจิตใจ เจตจำนง มีส่วนสำคัญในการไหลผ่านหรือขัดขวางพลังงานชี่ ซึ่งตอบสนองอย่างอ่อนไหว"
นักวิทยาศาสตร์โลกตะวันตกจำนวนมากมาย ยอมรับในความมีอยู่ของพลังงานชี่นี้ ทั้งในการค้นคว้าและทางเชาวน์ปัญญาของตน อาทิ จอร์จ วอชิงตัน คาร์เวอร์ (George Washington Carver ค.ศ.1864-1943) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เคยบันทึกไว้ว่า ตนเองอยากจะคิดว่าธรรมชาตินั้นคือสถานีคลื่นอนันต์ ที่แผ่พลังงานอันไม่สิ้นสุด ผ่านพระเจ้าถึงเราในแต่ละวัน, ทุกชั่วโมง ทุกๆ ขณะจิตของชีวิต, ขอเพียงแต่เราปรับตัวของเราให้เข้ากับช่วงคลื่นความถี่เดียวกับพลังงานนี้ได้
จอห์น มุยร์ (John Muir ค.ศ. 1838-1914) นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน เชื้อสายสก็อตแลนด์ บันทึกว่า แท้จริงแล้วพลังแห่งจินตนาการของมนุษย์คือสิ่งไร้ขีดจำกัด พลังมโนมยิทธิ หรือพลังทางจินตนาการมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพกิจกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง
งานวิจัย "Mind Over Matter:Mental Training Increases" โดย เอริน เอ็มแชกเคล (Erin M' Shackell) และไลโอเนล จี.แสตนดิง (Lionel G. Standing) ได้แสดงให้เห็นว่า การฝึกจิต มีผล กับการพัฒนาศักยภาพร่างกายอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬา นอกจากนี้ งานวิจัยหลายร้อยชิ้น ยังทำให้สามารถสรุปได้ว่า "การฝึกจิตส่งผลให้เกิดการวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ" การฝึกลมปราณ ก็เช่นเดียวกัน
นิโคล่า เทสลา (Nicola Tesla ค.ศ.1856-1943) อัจฉริยะชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย นักประดิษฐ์, นักฟิสิกส์, วิศวกรเครื่องกล, วิศวกรไฟฟ้า และ นักทำนายอนาคต เจ้าของแนวความคิดไฟฟ้ากระแสสลับ ที่สามารถให้พลังไฟฟ้าในขอบเขตที่กว้างกว่าไฟฟ้ากระแสตรง ผู้เคยใช้ร่างกายเป็นสื่อตัวกลางพลังงาน จากความเชื่อของเขาที่ว่า ร่างกายมนุษย์คือหม้อแปลงที่สามารถรับและแปลงพลังงาน อันมีความลึกลับที่เกินกว่าความคิดความรู้มนุษย์จะไปถึง โดยนอกจากร่างกายมนุษย์ปัจเจกแล้ว เทสลา ยังเชื่อว่าโลกคือหม้อแปลงใหญ่เช่นกัน
มีคำโบราณกล่าวว่า "อย่าฝืนขืนสายน้ำ ด้วยมันมีวิถีของตนเอง" ผู้มีประสบการณ์ด้านการฝึกลมปราณ ล้วนกล่าวถึงข้อพึงพิจารณาพื้นฐานในการฝึกลมปราณ คือการเรียนรู้การปลดปล่อย กายใจให้ว่าง เพื่อไม่เป็นสิ่งกั้นขวางพลังงานและการไหลผ่านของชี่ "เหมือนสายลมโลมไล้ภูผา ดุจสายน้ำซอกซอนผ่านแก่งธาร ไหลลงสู่มหานที"
.......
เอกสารอ้างอิง -
1. Michael J. Gelb "Creativity On Demand: How to Initiate and Sustain the Fire of Genius," Sounds True.
2. John Muir. "The National Parks and Forest Reservations," Sierra Club Bulletin 1, no. 7 (January 1896), pp. 271-84.
3. Nikola Tesla. "The Problem of Increasing Human Energy," The Century Magazine, June 1900, p.179.