MGR Online / เอเจนซี - รายงานสำรวจของ EY หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเผย (23 ส.ค.) ว่า จีนเป็นประเทศที่เปิดรับฟินเทค เทคโนโลยีการเงินใหม่มากที่สุดในโลก ใน 20 จำนวนประเทศระดับแนวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้ โดยมีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 69 เปอร์เซนต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่อยู่ระดับ 33 เปอร์เซนต์
รายงานสำรวจของอีวาย (เอินส์ทแอนด์ยัง) EY FinTech Adoption Index 2017 The rapid emergence of FinTech จัดทำจากแบบสอบถามออนไลน์กับผู้สัมภาษณ์ 22,000 ราย ในปี 2017 เป็นครั้งแรก ขณะที่การใช้เทคโนโลยีฟินเทคทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 2 ปีก่อน (2015)
ตามรายงานสำรวจ EY FinTech 20 ประเทศระดับแนวหน้าฟินเทค ที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินมากที่สุดในปี 2017 ตามลำดับ ได้แก่ จีน (69%), อินเดีย (52%), สหราชอาณาจักร (42%), บราซิล (40%), ออสเตรเลีย (37%), สเปน (37%), เม็กซิโก (36%), เยอรมนี (35%), แอฟริกาใต้ (35%), สหรัฐอเมริกา (33%), ฮ่องกง (32%), เกาหลีใต้ (32%), สวิตเซอร์แลนด์ (30%), ฝรั่งเศส (27%), เนเธอร์แลนด์ (27%), ไอร์แลนด์ (26%), สิงคโปร์ (23%), แคนาดา (18%), ญี่ปุ่น (14%), เบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์ก (13%) โดยอัตราเติบโตโดยรวมในกลุ่มตลาดใหม่ ได้แก่ บราซิล, จีน, อินเดีย, เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ มีสัดส่วนที่ 46 เปอร์เซนต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 33%
รายงานฯ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของฟินเทคในจีน มีแรงผลักดันมาจากระบบการเงินในชีวิตประจำวัน การชำระเงินผ่านมือถือ การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น บริการโอนเงินและการชำระเงินเป็นปัจจัยผลักดันในการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย 64 เปอร์เซนต์ของผู้ใช้บริการฟินเทค กล่าวว่า พวกเขาต้องการใช้ช่องทางดิจิทัลในการจัดการ "ทุกด้านในชีวิตของพวกเขา" และ 13 เปอร์เซนต์ของผู้บริโภคที่มีการสำรวจ กล่าวว่า พวกเขาเป็นผู้ใช้งานทั่วไปของบริการฟินเทคราว 5 รายการ หรือมากกว่านั้น ซึ่งรวมถึงการโอนเงิน และการวางแผนการลงทุนเงินฝาก สินเชื่อ และการประกันภัย
รายงานฯ คาดว่าภายในสองปีข้างหน้า การเติบโตของฟินเทคจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีค่าเฉลี่ยการใช้บริการอยู่ที่ราว 52 เปอร์เซนต์ทั่วโลกแม้การใช้ฟินเทค ในภาคการประกันภัยยังค่อนข้างต่ำกว่าการชำระเงิน และการโอนเงิน แต่ก็มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดจาก 8 เปอร์เซนต์ในปี 2015 เป็น 24 เปอร์เซนต์ ในปี 2017 และคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 50 เปอร์เซนต์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ดิอีโคโนมิสต์ เคยเปรียบเทียบการพัฒนาระบบการเงินของจีนชนิดก้าวกระโดดว่า ในยุค 80 ฝ่ายบัญชี กิจการธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงใช้ลูกคิด และในยุค 90 พนักงานธนาคารก็ยังต้องดีดลูกคิดเป็น จึงจะเป็นพนักงานได้ แม้ในปัจจุบัน ตามหมู่บ้านชนบท ยังคงได้ยินเสียงแกร่กๆ ของลูกคิดแต่ละเม็ดที่นิ้วดีดขึ้นลงบ้าง แต่ความเป็นจริง ทุกวันนี้ ลูกคิดกลายเป็นสัญลักษณ์การเงินมากกว่าจะเป็นเครื่องมือคำนวณจริงๆ นอกจากเก็บลูกคิดไว้ในตู้โชว์ ยังเป็นการพัฒนาก้าวข้ามยุคบัตรเครดิต หรือเงินพลาสติกอย่างรวดเร็วมาสู่ยุคฟินเทค
จีนข้ามจากยุครางลูกคิดเป็นยักษ์ใหญ่ฟินเทคชนิดไม่มีใครต่อกร ไม่ว่าจะวัดกันในรายการไหน เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั่วโลก ครองระบบการกู้ยืมเงินหลักที่สัดส่วนราว 3 ใน 4 ของตลาดโลก ปีที่แล้ว 5 อันดับบริษัทฟินเทคที่มีนวัตกรรมมากที่สุดของโลก เป็นบริษัทจีน 4 แห่ง โดยแอนท์ไฟแนนเชียล บริษัทฟินเทคใหญ่ที่สุดของจีน มี “มูลค่าบริษัท” ราว 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับยูบีเอส ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์
ไชน่าเดลี รายงานเมื่อต้นปีว่า บริษัทฟินเทคจีน 7 ราย ได้ติดทำเทียบ 50 บริษัทฟินเทคโลก มีการลงทุนพัฒนามากขึ้นอย่างเข็มแข็ง โดยบริษัทฟินเทค 10 รายใหญ่ของจีนในปัจจุบัน ได้แก่ แอนท์ไฟแนนซ์ เซอร์วิส (Ant Finance services), เจดี อินเทอร์เน็ต ไฟแนนซ์ (JD internet Finance), ไอดีจี แคปิทัล (IDG Capital Partners), จ่งอั้น (ZhongAn), ฉูเฟินฉี (Qufenqi), เทนเซนต์ วีแชท (Tencent’s WeChat), วีแคช (WeCash), อี้เหรินไต้ (Yirendai), ลูแฟกซ์ (Lufax), แอร์วอลเล็กซ์ (Airwallex)
ปัจจุบัน จีนคือศูนย์กลางฟินเทคโลก ขณะที่ลอนดอน, นิวยอร์ก และซิลิคอนแวลลีย์ ชิงกันเองในระดับภูมิภาค การเติบโตของเทคโนโลยีฟินเทคในประเทศจีน มาถูกที่ ถูกเวลาอย่างยิ่ง ด้วยความพร้อมและนโยบายปฏิรูป กับการพัฒนาศูนย์กลางการเงินหลายแห่งในประเทศ อาทิ ซั่งไห่, หังโจว, เป่ยจิง และเซินเจิ้น ความเร็ว ความซับซ้อน และขนาดของการพัฒนาระบบนิเวศของฟินเทคในจีน อยู่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด ในขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินในตะวันตก พยายามมองหาแนวทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ หลังยุควิกฤติการเงินยุโรป แต่จีนได้นำปฏิวัติบริการการเงินในหลายๆ ด้านไปแล้ว
ทุกวันนี้ ลูกคิดกลายเป็นสัญลักษณ์การเงินมากกว่าจะเป็นเครื่องมือคำนวณจริงๆ ฟินเทคในจีนคือระบบที่กำลังเขย่าระบบธนาคารหลักเดิมๆ เพื่อสร้างระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก หลายปีมาแล้ว ที่จีนต้องมองดูแล้วทำสิ่งต่างๆ ตามประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับฟินเทคนี้ ทั้งโลกจะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ของจีน