เซาท์ไชน่ามอร์นิง โพสต์ รายงาน (24 ส.ค.) ว่าเที่ยวบินเคแอลเอ็ม จากกรุงอัมสเตอร์ดัม คือเครื่องบินโดยสารลำเดียวที่บินลงสู่ท่าอากาศยานฮ่องกง เมื่อเช้าวันพุธที่ 23 สิงหาคม ระหว่างช่วงเวลา 5 ชั่วโมง ของการเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นฮาโตะพัดฮ่องกง
รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อเวลา 10.33 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ในช่วงเวลาเตือนภัยไต้ฝุ่น กัปตันเครื่องบินโดยสารสายการบินเคแอลเอ็ม เที่ยวบิน 887 จากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ควบคุมเครื่องบินลงจอดท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง ในสภาพอากาศเผชิญความเร็วลมปะทะทางด้านหน้า ระหว่าง 80 - 113 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ช่วงเวลาดังกล่าว สายการบินเอธิโอเปียน ซึ่งบินจากเมืองแอดดิส อาบาบา เที่ยวบิน 672 ตัดสินใจยกเลิกลงจอดสนามบินฮ่องกง โดยบินไปลงที่สนามบินเซี่ยะเหมิน
เพื่อความปลอดภัยจากพายุไต้ฝุ่นซึ่งสำนักงานพยากรณ์อากาศของฮ่องกง ยกระดับเตือนภัยไต้ฝุ่นสู่ขั้น 10 ซึ่งมีการเตือนในระดับนี้เพียง 3 ครั้งเท่านั้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาการเตือนภัยนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 9.10 น. ถึง 14.10 น. รวม 5 ชั่วโมง ตลอดทั้งวันพุธที่ 23 สิงหาคม จึงมีเที่ยวบินที่เดินทางมาถึงและเดินทางออกจากฮ่องกง เพียง 400 เที่ยวบิน ลดลงถึง 65 เปอร์เซนต์
ข้อมูลบันทึกสังเกตุการณ์บิน ที่วิเคราะห์โดยเจเรมี่ แทมมั่น-โฮ ระบุว่า เที่ยวบินเคแอล 887 ซึ่งต้องบินสวนทางลมแรงปะทะด้านหน้า (Headwinds) ไม่เอื้ออำนวยในการลงจอด
แทม กล่าวว่า มันคงเป็นเรื่องยากที่จะลงจอดได้ หากเจอลมที่พัดขวางทางวิ่ง (Crosswinds ) ปัญหาต่อมาคือ หลังเครื่องลงจอดแล้ว กัปตันจำเป็นต้องให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินทางสะพานเทียบเครื่องบิน และถ้าพายุแรงเกินไป ก็เป็นไปได้ที่จะไม่สามารถเปิดประตู
ความเร็วลม ณ เวลาที่เครื่องบินดังกล่าว ลงจอดนั้นอยู่ที่ 80 - 113 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าแรง แต่สิ่งที่กำหนดจริงๆ ว่านักบินสามารถลงจอดได้หรือไม่ อยู่ที่ทิศทางของลม เช่นเดียวกับทัศนวิสัยที่พอรับได้ควรอยู่ในระยะ 1.7 กิโลเมตร
"ไม่มีเหตุผลที่จะไม่พยายามลงจอด และไม่ใช่เป็นการตัดสินใจที่หุนหัน หรือไม่รอบคอบแต่อย่างใด" แทม กล่าวเสริมฯ
สายการบินเคแอลเอ็ม แถลงการณ์ว่า นักบินไม่ได้พบปัญหาใดในการนำเครื่องลงจอด และเครื่องบินก็ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอ ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนไปลงยังสนามบินอื่นหากจำเป็น
"ความปลอดภัยคือความสำคัญสูงสุดของเรา และเราไม่เคยประนีประนอมเรื่องนี้" สายการบินแถลงฯ และชี้แจงว่า "เที่ยวบินนี้ ได้ลงจอดก่อนช่วงเวลาที่แรงสุดของลมพายุ"
ทั้งนี้ ไต้ฝุ่นฮาโตะ ก่อคลื่นสูงหลายเมตรซัดชายฝั่งของฮ่องกง และชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ด้วยลมกระโชกสูงสุด 207 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขุดรากถอนโคนต้นไม้และบานกระจก และเครนตลอดจนอุปกรณ์ก่อสร้างทั้งใหญ่เล็กบนตึกระฟ้าบางแห่งในเมืองจูไห่ ไม่อาจต้านทานแรงพายุ หลุดร่วงสู่พื้น ขณะที่ต้นไม้ที่หักโค่นบางส่วน ล้มลงมากีดขวางตัดขาดการจราจรของถนนหลายสาย