จิต-ลมปราณ-ร่างกาย เป็น 3 ปัจจัยหลักของการเขียนภาพจีน โดยจิต กับ ใจ คือเจตจำนง หรือเจตนา ปรากฏการณ์ต่างๆ ชี่ หรือ ลมปราณ ลมหายใจ คือพลังงานแห่งปรากฏการณ์ชีวิตแต่ละขณะ
การเคลื่อนไหวข้อมือ วาดพู่กันนั้น ผู้เชี่ยวชาญฯ ต่างแนะนำว่า ลมหายใจ หรือ ชี่ คือศูนย์กลางปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น ลากพู่กันขึ้นพร้อมจังหวะหายใจเข้า ลากพู่กันลงพร้อมการหายใจออก การหายใจเข้าเมื่อลงพู่กัน สั้น รวดเร็ว และหายใจออก เมื่อลากเส้นยาวๆ และช้าๆ
การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจนั้น จำเป็นต้องมีการฝึกฝน เพื่อให้กลายเป็นธรรมชาติ ไร้การบังคับฝืน ความลับของลมหายใจ และแนวทางการฝึกบริหารลมหายใจสัมพันธ์ร่างกายนี้ ชาวจีนหรือชาวตะวันออกมีความคุ้นเคยมาแต่โบราณ อาทิ ภาวนาสมาธิ กายานุปัสสนา โยคะ ไท่จี๋ ชี่กง ก่อนที่การแพทย์ตะวันตกจะค้นพบในพันปีต่อมาว่า การหายใจ คือขบวนการนำออกซิเจนเข้าไปในปอด ซึมเข้าไปทั่วร่างกาย พร้อมทั้งการนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นขับออกจากร่างกายทางปอด
การฝึกชี่กง แบบปาต้วนจิน ก็เป็นอีกหนึ่งแบบฝึกฝน ที่ทำให้เรียนรู้การขยับร่างกาย เคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับลมหายใจ แต่การจะเป็นหนึ่งเดียวกันได้ จำเป็นต้องฝึกฝนและใช้เวลา การเคลื่อนพู่กันบนกระดาษบางนั้น แทบจะไม่สามารถแก้ไขซ้ำได้อีก ดังนั้นความสมบูรณ์ของข้อมือกับลมหายใจจึงเป็นเทคนิคที่สำคัญ
ด้วยข้อจำกัดของการเขียนพู่กันจีนบนกระดาษนี้ จึงไม่เพียงเป็นรอยวัดความสมบูรณ์ของกาย แต่ยังหยั่งความสงบของใจด้วย แม้กระทั่งนักบวชยังใช้เป็นวิถีแห่งการภาวนาเช่นกัน
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซนชาวเวียดนามจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เคยกล่าวถึงศิลปะแห่งลมหายใจว่า ไม่เพียงประกอบอยู่ในทุกย่างก้าวเดิน แต่ยังรวมการภาวนากับลายพู่กัน เป็นส่วนหนึ่งของภาพเขียนและวิถีชีวิต เป็นวิถีแห่งการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ด้วย
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เริ่มต้นการวาดลายพู่กัน ด้วยการหายใจเข้าเมื่อวาดครึ่งวงกลม และหายใจออก เมื่อลากเส้นวาดครึ่งวงกลมหลัง ระหว่างที่วาดภาพลายพู่กันเป็นวงกลมนั้น จินตนาการถึงบรรพบุรุษ พ่อ แม่ พระอาจารย์ และพระพุทธเจ้า ไม่มีอัตตาตัวตนที่แยกออกมา เวลาเขียนลายพู่กัน ชีวิตจึงอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริงในทุกขณะจิต
เส้นพู่กันวงกลมนี้ ยังเป็นวิถีแห่งภาพเขียนพู่กันญี่ปุ่น หรือ ภาพสุมิเอะ (墨絵) ที่สอดคล้องวิถีปฏิบัติแห่งเซน เมื่อจุ่มน้ำหมึกลากเส้นวงกลมในจังหวะเดียวต่อเนื่อง วาดแล้ววาดเลย ไม่อาจเปลี่ยนแปลงย้อนซ้ำได้อีก
การวาดพู่กันที่สะท้อนความสัมพันธ์จิตใจนี้ มีมิติต่างๆ ที่สะท้อนอยู่ในความงามของลายเส้น หรือสุนทรียศาสตร์ของภาพน้ำหมึกญี่ปุ่น อาทิ วะบิ-ซะบิ หรือ ความงามตามจริงของสรรพสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่คงทน ไม่เสร็จสมบูรณ์ ความเรียบง่าย ไร้ปรุงแต่งประดิษฐ์ประดอย ความเงียบสงบ ฯลฯ