ไชน่าเดลี (11 ส.ค.) - สารคดี บีบีซี ชาแนล 4 เผยความลับทางสถาปัตยกรรมของพระราชวังต้องห้าม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกยุคกลาง
สารคดีบีบีซี Secrets of China's Forbidden City กล่าวว่า พระราชวังต้องห้ามซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อสร้างอย่างยิ่งใหญ่ในยุคราชวงหมิง (ค.ศ.1368-1644)
พระราชวังต้องห้าม มีอาณาเขตกว้างใหญ่กว่า 178 เอเคอร์ส (ใหญ่กว่าพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส 10 เท่า) โดยมีอาคาร 900 หลัง มีห้อง 9,999 ห้อง โดยห้องที่ 10,000 นั้นสงวนไว้สำหรับสวรรค์
ความมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของพระราชวังต้องห้ามนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไรในช่วงเวลาที่มีเพียงเครื่องมือช่างไม้พื้นฐานเท่านั้น นอกจากนั้นยังดำรงคงอยู่มานานกว่า 600 ปี ท่ามกลางสงครามแลถภัยธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เฟซบุ๊ก Channel 4 สื่อโทรทัศน์ของอังกฤษเผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 3.06 นาที เป็นเนื้อหาบางตอนของสารคดีเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างในพระราชวังต้องห้ามแห่งกรุงปักกิ่ง ที่ถูกรังสรรค์มาตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง หรือราว 600 กว่าปีก่อน โดยคำถามคือ เหตุใดสิ่งก่อสร้างในพระราชวังแห่งนี้ถึงรอดพ้นจากเหตุแผ่นดินไหวมาได้มากกว่า 200 ครั้ง
ทั้งนี้ในจำนวน แผ่นดินไหว 200 ครั้งนั้น รวมถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แห่งศตรวรรษที่ 20 นั่นก็คือ แผ่นดินไหวใหญ่ที่ถังซาน มณฑลเหอเป่ย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2519 (ค.ศ.1976) ซึ่งมีความรุนแรงกกว่า 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ โดยจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากปักกิ่งเพียงไม่ถึง 200 กิโลเมตร
ในการตอบคำถามดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์ได้ย่อส่วนโครงสร้างอาคารในพระราชวังต้องห้าม และสร้างอาคารไม้เลียนแบบขึ้นมาในขนาด 1:5 จากนั้นจึงนำโครงสร้างไม้ดังกล่าวมาประกอบบนเครื่องทดสอบแผ่นดินไหวในห้องทดลองของเทศบาลนครปักกิ่ง
สำหรับเทคนิคในการสร้างอาคารโบราณของช่างชาวจีนที่นำมาใช้กับพระราชวังต้องห้ามคือการออกแบบ เสาและคานรับน้ำหนักให้สามารถเคลื่อนได้หากเกิดแผ่นดินไหว โดยวิศวกรชาวตะวันตกพบว่าคานไม้รูปดอกไม้ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเสากับหลังคานั้นเป็นมากกว่าชายคาที่สวยงาม แต่ถูกออกแบบอย่างซับซ้อนเพื่อให้สามารถรองรับภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเสาไม้ก็ถูกวางอย่างลอยๆ ไว้บนฐานหิน โดยไม่ได้มีการตอกเสาเข็มลงไปในพื้นดิน
ผลการทดสอบถือว่าน่าตกใจอย่างยิ่ง อาคารจำลองสามารถรองรับแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากได้อย่างไม่มีปัญหา ทั้งยังสามารถรองรับแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งถือเป็นขนาดของแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยบันทึกเอาไว้
สุดท้ายการทดสอบไปสิ้นสุดที่ แผ่นดินไหวขนาด 10.1 ตามมาตราริกเตอร์ และอาคารก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ล้มพังลงมา ทำให้วิศวกรฝรั่งถึงกับชื่นชมว่าอาคารทรงจีนในพระราชวังต้องห้ามได้พิสูจน์ได้ชาวโลกเห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของสถาปนิกชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณ
นอกจาก สารคดีบีบีซี Secrets of China's Forbidden City มุ่งหาความลับของความคงกระพันของสถาปัตยกรรม ยังตั้งคำถามถึงการใช้ตระกูลไม้ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า หนานมู่ (楠木) จำนวนมหาศาล ว่าขนส่งมาอย่างไร
หนานมู่ คือชื่อเรียกตระกูลไม้ขนาดใหญ่ที่หายากที่สุดในจำนวนไม้ทั้งหมด เป็นไม้ที่ใช้อย่างแพร่หลายในการสร้างพระราชวัง ในยุคราชวงศ์หมิงและชิงตอนต้น เนื่องจากเนื้อไม้แน่นและมีความงาม พบมากในป่าเจิ้นเจียง อานฮุย เจียงซี และบางส่วนในมณฑลเจียงซู โดยมีรายงานการส่งไม้หนานมู่ นับหมื่นต้น ล่องน้ำมาจากป่าห่างไกลจากปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ราว 18,000 กิโลเมตร ยิ่งกว่านั้น กระเบื้องทองที่ปูพื้น ก็นำมาจากทางใต้ ห่างออกไป 1,000 กิโลเมตร ขณะที่ก้อนหินขนาดใหญ่ น้ำหนักก้อนละ 24 กิโลกรัม จำนวน 18 ล้านก้อน ได้ถูกจัดส่งมายังเมืองหลวงเช่นกัน นับเป็นภารกิจก่อสร้างที่ยากสำเร็จในยุคที่ยังไม่ใช้เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม
คลองใหญ่เริ่มจากศูนย์กลางการค้าของเมืองหังโจว ไปทางทิศใต้ ผ่านแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลือง เข้าสู่ปักกิ่ง โดยต้นซุงหนานมู่ จะถูกส่งลอยมาทางแม่น้ำ จนถึงกรุงปักกิ่งพร้อมด้วยกองเรือ 20,000 ลำ บรรทุกเมล็ดข้าวเปลือกสำหรับทำอาหารให้คนงานนับล้านคนในแต่ละปี
ชาวจีนโบราณ มีภูมิปัญญาที่จะเอาชนะอุปสรรคนี้ได้ โดยการขุด คลองต้ายวิ่นเหอ หรือ คลองใหญ่ (Grand Canal) คลองขุดฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่าและเก่าแก่โบราณกว่าคลองปานามา และคลองสุเอซ ในประเทศอียิปต์
ความลับของงานไม้ของช่างจีนโบราณนับได้ราวกับว่าสั่งสมภูมิปัญญามานานกว่า 2,000 ปี ก็ว่าได้ และพัฒนามาถึงจุดสุดยอดในงานสร้างพระราชวังต้องห้าม ซึ่งก็คงเป็นประจักษ์ถึงมรดกภูมิปัญญาจีนโบราณ และมีปริศนาให้ค้นพบลำดับต่อไปอีกนานแสนนาน