xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีนเน้นกินอาหารให้สมดุลถูกธาตุ จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวจีนมีคติสอนใจว่า “รู้ตำรายา ไม่สู้รู้ตำราอาหาร” สำคัญที่ต้องกินให้เหมาะกับภาวะสุขภาพของตัวเอง ถึงจะกินดีมีสุขภาพดีได้
โดย พชร ธนภัทรกุล

เรามาถึงบทสุดท้ายของเรื่องธาตุในอาหารกันแล้ว ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของธาตุที่ 4 และ 5 คือธาตุโลหะและธาตุน้ำต่อจากได้เล่าไปแล้ว 3 ธาตุ คือธาตุไม้ ธาตุไฟ และธาตุดิน ทบทวนกันก่อนนะครับว่า ...

ไม้เกื้อไฟ ไฟเกื้อดิน ดินเกื้อโลหะ โลหะเกื้อน้ำ น้ำเกื้อไม้ …

ไม้ข่มดิน ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มโลหะ โลหะข่มไม้

เอาละ มาเข้าเรื่องกัน

ธาตุโลหะ (ปอด สีขาว รสเผ็ด อารมณ์เศร้า วิตก)

กลุ่มอวัยวะที่จัดอยู่ในธาตุโลหะได้แก่ ปอด ลำไส้ใหญ่ จมูก ผิวหนัง (รูขมขน) ปอดเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางดินหายใจทั้งระบบ ทำหน้าที่หายใจ เกี่ยวข้องกับหลอดลมและจมูก แต่การแพทย์จีนเชื่อว่าปอดทำงานมากกว่านั้น การทำงานของปอดสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ระบายทั้งของลำไส้ใหญ่และผิวหนัง หากปอดไม่แข็งแรง จึงมักมีอาการเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ท้องผูก หรือไม่ก็มีอาการทางผิวหนัง เช่น เกิดฝีพุพอง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ที่สำคัญยังเป็นเรื่องของระบบทางเดินหายใจ อาการสำคัญที่พบเห็นได้ เช่น ไอ เจ็บคอ มีเสมหะเหลือง ปากแห้ง ชอบดื่มน้ำเย็น กระทั่งอาจหายใจขัด แน่นหน้าอก หอบ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็ควรก็ดูแลปอดกันแล้ว

เบื้องต้นที่สุดคือ ควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในที่ที่มีความร้อนชื้นสูงหรือเย็นจัด เพื่อมิให้พิษชื้นพิษร้อน หรือความเย็นจัดเข้าแทรกสู่ปอด เพราะจะเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง ส่วนในแง่การดูแลด้วยอาหาร ควรดื่มน้ำให้มาก และเน้นกินอาหารสีขาว เพราะจะได้ช่วยสร้างความชุ่มชื้นและดูแลบำรุงปอดให้แข็งแรงขึ้น และยังระงับอาการไอได้ด้วย ควรกินให้มากขึ้น บ่อยขึ้นตามความเหมาะสม โดยเฉพาะผักผลไม้ต่างๆ เช่น แปะฮะ เห็ดหูหนูขาว หัวไชเท้า สาลี่ กล้วยหอม รากบัว น้ำผึ้ง มันฮ่อหรือวอลนัท ผลิตภัณฑ์จากนมวัว นมแพะ เป็นต้น

อาหารในธาตุโลหะได้แก่ หัวไชเท้า เห็ดหูหนูขาว งาขาว ถั่วงอก รากบัว หอมใหญ่ กระเทียมโทน ห่วยซัวหรือกลอยจีน ผักกาดขาว สาลี่ สาคู เนื้ออกไก่ ไส้ไก่ ไข่ไก่ เนื้อห่าน ปอดหมู ไส้หมู เนื้อวัว นมวัว เนย ชีส น้ำส้มหมัก และสมุนไพรจีนบางอย่าง เช่น เปลือกส้มแห้ง หล่อฮั้งก้วย รังนก แปะฮะ แปะก๊วย ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ขับพิษร้อนในปอด ฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของปอด ขับเสมหะได้

รายการอาหารเพื่อการดูแลปอด ขอเริ่มที่ตือฮวน(เกี่ยม)ฉ่าย อาหารโบราณของชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งก็คือเครื่องในหมูต้มผักกาดดอง ให้เน้นปอดและไส้ เครื่องในอื่นไม่มี ไม่เป็นไร ก๋วยจั้บน้ำข้นที่เน้นใส่ปอดและไส้หมู หัวไชเท้าต้มปอดหมูแทนซี่โครงหมู กระดูกสันหลังหมูต้มรากบัว บวบผัดไข่ไก่ ผักกาดขาวผัดซอสหอยนางรม ขาหมูเย็นหรือตือคาตั่ง อาหารเหล่านี้ช่วยสร้างความชุ่มชื้นแก่ปอด เหมาะสำหรับคนที่มีอาการไอแห้งเรื้อรัง มีเสมหะครับ
ขาหมูเย็นหรือหมูหนาว ภาพจาก http://www.lssp.com/doc/20425.html
มาดูของหวานกันครับ รายการแรกเห็ดหูหนูขาวต้มน้ำตาล ลวกหรือต้มเห็ดหูหนูขาว แปะก๊วย ลูกบัว สาคู ให้สุก ส่วนพุดซาจีนเชื่อมให้ผ่าซีกเตรียมไว้ ต้มน้ำใส่น้ำตาลกรวด ต้มไปคนไปให้น้ำตาลละลาย ชิมให้ได้รสหวานตามต้องการ แล้วใส่ทุกอย่างลงต้มอีกครั้ง ได้ของหวานที่กินขับพิษร้อนบำรุงปอดได้ดีไม่แพ้รังนกต้มน้ำตาล

น้ำสาลี่เชื่อมกัน ใช้สาลี่และพุดซาจีน อย่างละ 5-6 ผล หั่นหรือขูดละเอียด ขิงแก่เล็กน้อย ใส่น้ำต้ม เดือดแล้วลดเหลือไฟอ่อน ใส่น้ำตาลกรวดต้มต่ออีกครึ่งชั่วโมง ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น กรองคั้นเอาแต่น้ำ ส่วนกากทิ้งไป ใส่น้ำผึ้งลงผสมให้เข้ากัน เก็บใส่ภาชนะ ปิดฝาให้สนิท แช่ไว้ในตู้เย็น กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา จะกินแบบชงน้ำอุ่นหรือไม่ชงก็ได้ แต่ควรอมไว้ค่อยๆกลืนช้าๆ กินแก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงปอดให้แข็งแรงขึ้น

น้ำหล่อฮั้งก้วย ใช้หล่อฮั้งก้วย 1 ผล บิเป็นชิ้นเล็ก ชงน้ำเดือดเหมือนชงชา พักไว้ 10 นาที ก็ดื่มได้ ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาลเพิ่ม เพราะหล่อฮั้งก้วยมีความหวานในตัวอยู่แล้ว ดื่มแทนน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นได้ทุกเวลาทั้งร้อนและเย็น (แช่เย็น) ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ประโยชน์คือ ช่วยขับพิษร้อนในปอด ขับเสมหะ หล่อลื่นลำไส้ เหมาะเป็นเครื่องดื่มในหน้าร้อนและหน้าฝนอย่างยิ่ง
น้ำหล่อฮั้งก้วย ภาพจาก http://www.newrank.org/?p=8676
ธาตุน้ำ (ไต สีดำ รสเค็ม อารมณ์กลัว ตกใจ)
กลุ่มอวัยวะในธาตุน้ำคือ ไต กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ น้ำที่เรากินเข้าไป เมื่อถูกกรองกลายเป็นของเสีย จะไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะก็จะทำหน้าขับน้ำเสียนี้ออกมาเป็นน้ำปัสสาวะ โดยไตจะคอยทำหน้าที่กำจัดของเสียที่ว่านี้ ในทางการแพทย์จีน ไตยังมีหน้าที่เก็บสะสมพลังชีวิต ดูแลควบคุมน้ำในร่างกายด้วย และน้ำก็มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อไขกระดูก เนื้อเยื่อเลือด ไตจึงทรงความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำหน้าที่ทั้งเก็บ “ของดี” และระบาย “ของเสีย”

การแพทย์จีนมองว่า ปัญหาที่เกิดกับไตมีเพียงสองด้าน คือไม่ยินพร่องก็หยางพร่อง ไตที่มีอาการยินพร่อง หมายถึงไตทำงานหนักเกินไป อาการที่แสดงออกก็เช่น วิงเวียน หูอื้อ ปากแห้งคอแห้ง หงุดหงิด ใจร้อนวู่วาม คันตามผิวหนัง ปวดหลังเข่าอ่อน เหงื่อออกโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนไม่หลับ ฝันมาก ร้อนอุ้งมืออุ้งเท้า แต่ถ้าเป็นอาการหยางพร่อง นั่นก็หมายถึงไตหย่อนสมรรถภาพหรืออ่อนแอ จะมีอาการกลัวหนาว กลัวลม สีหน้าซีดหมองไม่มีสีเลือด แขนขามือเท้าเย็นไปหมด มีเหงื่อง่าย ปวดหลังเมื่อยเอว ไม่เบิกบาน เบื่ออาหาร ขัดเบา ตัวบวมน้ำ ท้องร่วงเป็นต้น

หากเกิดอาการต่างๆเหล่านี้ขึ้น แสดงว่าได้เวลาที่ต้องหันมาดูแลไตกันแล้ว

เริ่มต้นกันที่ควรพยายามควบคุมอารมณ์อย่าให้ตื่นตกใจง่าย หรืออารมณ์เสียง่าย ควรปล่อยวางเรื่องไม่สบายใจโดยเร็ว อย่าได้เก็บกดหรือระเบิดอารมณ์ออกให้เห็น นอกจากนี้ ช่วงที่ไตอ่อนแอมากนี้ ต้องไม่ตรากตรำงานจนดึกดื่นหรืออดหลับอดนอน ควรพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ

ในเรื่องของอาหาร ให้เน้นอาหารสีดำมีรสเค็มเล็กน้อย รสเค็มเพียงเล็กน้อยจะช่วยกระตุ้นให้ไตและกระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ขับระบายของเสียได้ดีขึ้น แต่ถ้าเค็มจัดเกินไป ก็จะเป็นผลร้ายต่อไตได้ จึงไม่ควรกินเค็มจัด อาหารสีดำส่วนมากมักช่วยเสริมบำรุงไตได้ดี

อาหารในธาตุน้ำ เช่น ถั่วดำ งาดำ ลูกจ๊อดำหรือพุดซาดำ บ๊วยดำ เห็ดหอม บลูเบอร์รี่ เห็ดหูหนูดำ ฟักเขียว แตงโม มะระ แตงร้าน บวบ น้ำเต้า มะเขือสีม่วง เต้าหูอ่อน ไตหมู/เซ่งจี๊ สมองหมู ลิ้นหมู ไส้เป็ด ไส้ห่าน พวกสัตว์น้ำ เช่น หอยเป๋าฮื้อ ปลิงทะเล สาหร่ายทะเล แมงกะพรุน กุ้ง หอยขม ปลาช่อน และอื่นๆ เช่น ถั่งเช่า (สมุนไพรจีน) น้ำผึ้ง รังนก นมวัว นมเปรี้ยว โยเกิร์ต น้ำผลไม้ เป็นต้น

หากท่านต้องการดูแลบำรุงไต ให้กินปลาดีที่สุด เพราะปลาทุกชนิด ไม่ใช่แค่ปลาช่อนคืออาหารชั้นยอดในการบำรุงไต แถมกินปลายังช่วยให้มีความจำดีขึ้นด้วย จะต้ม นึ่ง ทอด เผา ย่าง ทำปลาดิบ ได้ทั้งนั้น รายการนี้ขอเป็นสูตรใครก็สูตรใคร ปรุงเอาเองตามใจชอบครับ

ไตหมูผัดดอกกุยช่าย ลิ้นหมูต้มมะระ ไส้เป็ด/ห่านพะโล้ แกงจืดเห็ดหูหนูดำ เต้าหู้อ่อนใส่ไตหมู หมูสับ ผัดปลิงทะเล กุ้งสดกับหน่อไม้ฝรั่งกระป๋อง รายการนี้ต้องลงแป้งมันละลายน้ำเล็กน้อย เพื่อความข้นและมันเงาของน้ำปรุง ของหวานก็เลือกเอาจากนมเปรี้ยว โยเกิร์ต รังนกต้มน้ำตาล เครื่องดื่มก็ได้น้ำผลไม้ หรือใช้ถั่งเช่าสัก 5-6 ตัว ต้มใส่กาน้ำชา ดื่มแบบสบายๆ น้ำหมด เติมน้ำต้มใหม่ น้ำต้มใสแล้วก็เลิก
รังนกต้มน้ำตาลกรวด ภาพจาก http://www.nipic.com/show/1/60/7835701k24769dff.html
แกงจืดเห็ดหูหนูดำ ภาพจาก http://www.ziqicompressor.com/post/15.html
ชาวจีนมีคติสอนใจว่า “รู้ตำรายา ไม่สู้รู้ตำราอาหาร” สำคัญที่ต้องกินให้เหมาะกับภาวะสุขภาพของตัวเอง ถึงจะกินดีมีสุขภาพดีได้ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น