xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีนเน้นกินอาหารให้สมดุลถูกธาตุ (ธาตุดิน)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผัดฟักทอง ขอบคุณภาพจาก http://www.sohu.com/a/122242743_148173
โดย พชร ธนภัทรกุล

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าถึงเรื่องธาตุกับอาหาร ไปสองธาตุ คือ ธาตุไม้ กับธาตุไฟ ครั้งนี้ จะมาเล่าถึงธาตุดิน ทบทวนนิดหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติที่เกื้อและข่มกันของห้าธาตุไว้ตรงนี้

ไม้เกื้อไฟ ไฟเกื้อดิน ดินเกื้อโลหะ โลหะเกื้อน้ำ น้ำเกื้อไม้ …

ไม้ข่มดิน ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มโลหะ โลหะข่มไม้

ทีนี้เข้าเรื่องเลยครับ

ธาตุดิน (ม้าม สีเหลือง รสหวาน อารมณ์เครียด) อวัยวะที่อยู่ในธาตุนี้ได้แก่ ม้าม กระเพาะอาหาร ปาก ซึ่งทำหน้าที่สนองสารอาหารแก่ร่างกาย โดยม้ามกับกระเพาะอาหารทำงานสอดประสานกันได้ดี ร่างกายจึงจะเผาผลาญอาหารได้เป็นปกติ ไม่เช่นนั้น ร่างกายก็จะเผาผลาญอาหารได้ไม่ดี ซึ่งจะทำให้ร่างกายรับสารอาหารได้ไม่เต็มที่ และนั่นเป็นผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน

การทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารของม้ามและกระเพาะอาหาร เป็นปรากฏการณ์ที่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เรียกว่าต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ หากว่าม้ามและกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะหนักไปหรือหย่อนสมรรถภาพลง ย่อมก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อร่างกาย แสดงออกด้วยอาการปวดแน่นบริเวณชายโครง หลังและหน้าอก และอาจกระทบต่อการทำงานของปอดและอวัยวะอื่นในช่องท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนที่อากาศมีความชื้นสูงมาก ความชื้นอาจแทรกเข้าสู่ร่างกาย ไปทำร้ายม้ามและกระเพาะอาหาร อาการที่เห็นคือเบื่ออาหาร กินอะไรก็ไม่อร่อย ยิ่งกว่านั้น อาจรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสียถ่ายเหลว หรือปวดท้องบริเวณที่ตั้งของกระเพาะอาหาร เป็นต้น
ข้าวต้มธัญพืช ขอบคุณภาพจาก http://b0.rimg.tw/yeh0938/97547df8.jpg
ในกรณีที่ม้ามทำงานหนักไป มักปรากฏอาการให้เห็นได้จากในช่องปาก เช่น ลิ้นมีฝ้าเหลืองหนา ปากขม ปากแห้ง มีแผลในช่องปากตามกระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก หรือลิ้น เป็นต้น มักดื่มน้ำมากกว่าปกติ ส่วนกรณีที่กินดื่มมากไป จนม้ามและกระเพาะอาหารทำงานหนักหรือผิดไปจากปกติ จนเกิดอาการท้องอืดเฟ้อ แน่นท้อง ถ่ายเหลว อ่อนล้า หายใจลำบาก อึดอัดแน่นหน้าอก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อหย่อนยาน บวมน้ำ เป็นต้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็คงได้เวลาต้องหันมาใส่ใจดูแลม้ามและกระเพาะอาหารของตัวเองให้ดีแล้วครับ

เริ่มจากการเน้นกินอาหารที่มีฤทธิ์และรสละมุน ไม่มันเลี่ยน ย่อยง่าย เช่น รากบัว แครอท แอปเปิล นมวัว และเพื่อเสริมสร้างม้ามและกระเพาะอาหารให้แข็งแรงขึ้น การกินอาหารรสขมให้มากไว้ ก็จะช่วยได้ เหตุผลเพราะรสขมจัดอยู่ในธาตุไฟ ธาตุไฟเกื้อธาตุดินอยู่แล้วนั่นเอง

สีประจำธาตุดิน คือสีเหลือง และมักมีรสหวานในตัวเอง อาหารสีเหลืองที่มักมีรสหวาน จะช่วยดูแลช่วยเสริมสร้างม้ามและกระเพาะอาหารให้แข็งแรงขึ้น ทำงานดีขึ้น ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อการเผาผลาญอาหารและฟื้นฟูกำลังวังชา อาทิเช่น ถั่วเหลืองช่วยฟื้นฟูการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงเสริมสร้างร่างกาย ฟักทองช่วยเสริมสร้างกำลังวังชา ขณะที่ส้มช่วยขับลมและคลายเครียด มะนาวช่วยขจัดอาการอ่อนล้า ชะลอการเหี่ยวย่นของผิวหนัง เป็นต้น

อาหารในธาตุดิน ได้แก่ ลูกเดือย ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต เกาลัด กระจับ เผือกหอม เผือกหัวเล็ก มันเทศ รากบัว ฟักทอง พริกหวานสีเหลือง ถั่วงอกหัวโต (ที่เพาะจากถั่วเหลือง) ดอกไม้จีน ข้าวโพดอ่อน กุยช่ายขาว เกาลัด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่น เต้าหู้แผ่นสีเหลือง เต้าหู้อ่อน เต้าหู้ทอด เต้าหู้พวง ฟองเต้าหู้ เต้าหู้ยี้ (หู่ยู่) น้ำเต้าหู้ เต้าฮวย หมี่กึงในรูปแบบต่างๆ เช่น ไส้หมูเจ เนื้อหมูเจ เนื้อไก่เจ เนื้อเป็ดเจ ลูกชิ้นเจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีมะนาว ส้มสีเหลืองชนิดต่างๆ ผลไม้สุกต่างๆ เช่น กล้วยหอม มะละกอ มะเฟือง มะม่วง ทุเรียน พลับจีน มะปราง มะยงชิด สับปะรด แอปเปิล กีวีเนื้อเหลือง แตงโมเนื้อเหลือง เกรปฟรุต (grapefruit เป็นผลไม้ลูกผสมส้มกับส้มโอ แต่มักเรียกส้มโอ ในที่นี้ให้เลือกชนิดเนื้อเหลือง) อ้อย แคนตาลูบ แปะก้วย ถั่วลิสง วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ น้ำผึ้ง น้ำมันจากพืช ไข่แดง เนย ชีส นมวัว เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อเป็ด เนื้อห่าน เนื้อหมูส่วนที่เป็นเนื้อแดง เป็นต้น

รายการอาหารที่ขอแนะนำมีเป็ดต้มฟัก เป็ดสับชิ้นใหญ่ ฟักเขียวหั่นชิ้นโต ลูกเดือยและเห็ดหอมแช่น้ำไว้สักพักใหญ่ก่อน เปลือกส้มแห้งหรือขิงแก่ ใส่เป็ด ฟักเขียว เห็ดหอมลงหม้อ เติมน้ำให้มากไว้ ต้มเดือดแล้วค่อยใส่เปลือกส้มแห้งหรือขิงแก่ เกลือ เหล้าจีน และปรุงรสตามชอบ หรี่ไฟอ่อนต้มต่ออีกสัก 30 นาทีจนเนื้อเป็ดนุ่ม ได้แกงจืดเป็ดต้มฟัก ที่ช่วยขับลดพิษร้อน ขับน้ำในร่างกาย บำรุงม้ามและกระเพาะอาหารให้แข็งแรงขึ้น

ข้าวต้มธัญพืช เราจะใช้ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพดต้มสุกแกะเม็ด ฟักทองหั่นเต๋า เผือกหอมนึ่งสุกหั่นเต๋า ข้าวกล้องกับลูกเดือยควรแช่น้ำไว้ 1 คืน จะได้หุงสุกง่าย หุงข้าวกล้องกับลูกเดือยให้สุกก่อน จึงใส่ข้าวโพด เผือกและฟักทอง ต้มต่อสักครู่ให้ฟักทองสุก ได้ข้าวต้มธัญพืชเพื่อสุขภาพ เพราะทั้งข้าวกล้องและลูกเดือยช่วยขับความชื้นและบำรุงเสริมสร้างม้ามและกระเพาะอาหารให้แข็งแรงได้ดี
น้ำต้มรากบัว ขอบคุณภาพจาก http://4.share.photo.xuite.net/chun87210428/14b1aac/12304417/601300619_m.jpg
ฟักทองผัดหวาน หั่นฟักทองเป็นชิ้น ไม่ต้องหนามากนัก กระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมัน พอน้ำมันร้อนใส่ใบหอมซอยลงเจียว จนได้กลิ่นหอม ค่อยใส่ฟักทองลงผัด ใส่เกลือเล็กน้อย เติมน้ำเล็กน้อย จากนั้นใส่น้ำตาลทรายในปริมาณมากพอสมควร เคี่ยวผัดไปจนกว่าน้ำจะงวดแห้ง และน้ำตาลละลายเหนียวเคลือบฟักทองไว้ทุกชิ้น ได้ฟักทองผักหวานที่เหมาะสำหรับบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารที่อ่อนแอหย่อนสมรรถภาพ

รายการอาหารยังมีอีกมากมาย รวมทั้งของว่างด้วย เช่น เผือกทอด ทั้งชนิดขูดเป็นเส้นชุบแป้งแล้วปั้นทอด ชนิดหั่นเป็นชิ้นยาวชุบแป้งทอด และชนิดขูดเป็นเส้นคลุกผสมด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ห่อใส่แผ่นฟองเต้าหู้ นึ่งสุกแล้วทอด รวมทั้งเผือกทอดตำรับติ่มซำด้วย ของหวานก็มีลูกเดือยเปียกเผือก เผือกหิมะ มันเทศเชื่อม ของว่างเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ดีต่อการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารทั้งสิ้น

ส่วนเครื่องดื่มและผลไม้ ก็เช่น น้ำต้มรากบัว นอกจากได้น้ำต้มไว้ดื่มแล้ว รากบัวที่ต้มแล้ว ยังนำมาเคี่ยวน้ำตาลทราย ทำเป็นรากบัวเชื่อมได้ด้วย น้ำต้มรากบัวและรากบัวเชื่อม ช่วยขับพิษร้อนให้ความชุ่มชื้น และช่วยฟื้นฟูม้ามและกระเพาะอาหารที่หย่อนสมรรถภาพให้กลับมาทำงานดีขึ้น ผลไม้สีเหลืองเนื้อเหลือง มีอยู่มากมาย เลือกกินได้ตามชอบเลยครับ

ฝากไว้นิดหนึ่งว่า เนื้อ ผัก ผลไม้ต่างๆ ส่วนใหญ่มักไม่ได้จัดอยู่ในธาตุใดธาตุหนึ่งเพียงธาตุเดียว แต่มักมีมากกว่าหนึ่งธาตุเสมอ โดยธาตุผสมในอาหารมักเกื้อกันไม่ข่มกัน เช่น เนื้อแดงเป็นทั้งธาตุไฟและธาตุดิน ซึ่งก็เกื้อกัน ดังนั้น สาระสำคัญคือควรเลือกอาหารในธาตุที่เหมาะกับธาตุของตัวเอง เพราะอาหารเพื่อสุขภาพอยู่ที่คุณเลือกเอง กินดีถูกธาตุ สุขภาพดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น