ซินหวา--หุ่นยนต์สำรวจทางทะเล “ทั่นซั่ว” ที่พัฒนาและผลิตโดยจีน ทำการปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในน่านน้ำทะเลจีนใต้ เมื่อวันจันทร์( 24 ก.ค.)
ทั้งนี้ เรือ “เคอเสวีย” (科学)เรือปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้ขนอุปกรณ์ปฏิบัติการสำรวจใต้ทะเลลึก ได้แก่ หุ่นยนต์ “ทั่นซั่ว” (探索)และเรือดำน้ำไร้คนขับ “ฟาเซี่ยน” (发现) แล่นออกจากท่าเรือเมืองซย่าเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยนับเป็นภารกิจช่วงที่สองของปฏิบัติการสำรวจฯ กินเวลานาน 20 ชั่วโมง
“ทั่นซั่ว” เป็นหุ่นยนต์รูปปลา ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 3.5 เมตร สามารถดำน้ำได้ลึก 4,500 เมตร ส่วนเรือดำน้ำไร้คนขับ ยังมีอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ คือ ราเมน สเปคโทรมิเตอร์ (raman spectrometer) สำหรับเก็บตัวอย่างองค์ประกอบทางกายภาพและทางเคมี และถ่ายภาพพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยตามพื้นทะเล
สำหรับภารกิจช่วงที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ส่งโดรนใต้น้ำ 12 ชุด ไปทำการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ในทะเลจีนใต้ และส่งข้อมูลกลับมา ณ เวลาจริง (real time) นับเป็นการส่งปฏิบัติการโดรนใต้น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในอาณาบริเวณ