xs
xsm
sm
md
lg

ตามล่าหาชื่อซาลาเปา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซาลาเปาไทยไส้หมูแดง
โดย พชร ธนภัทรกุล

ตั้งประเด็นให้เป็นเรื่องของชื่อ ก็ต้องยกอะไรบางอย่างที่ใช้เป็นหลักฐานได้มาอ้างอิง จึงขอยกพจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาอ้างซะเลย

ราชบัณฑิตท่านเก็บคำไว้ว่า

ซาลาเปา น. ชื่อขนมชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งสาลีปั้นเป็นลูกกลม ข้างในใส่ไส้ มีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม. (จ.)

อันที่จริง ในอดีต (น่าจะในสมัยรัชกาลที่หก) คนไทยเคยเรียกซาลาเปาเป็น ซาละเปา กาลาเปา ตะเลาเปา เป็นต้น แต่ชื่อพวกนี้ก็เลือนไปจากความนิยมในเวลาต่อมา จนไม่มีคนใช้กัน ทุกวันนี้ จึงมีการเก็บคำเหล่านี้ไว้

ตัวอักษร จ ในเครื่องหมายวงเล็บ หมายถึงเป็นคำที่ยืมมาจากคำจีน ส่วนคำจีนนี้จะเป็นคำในสำเนียงจีนใด จีนกลาง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ หรืออื่นๆ พจนานุกรมไม่ได้ระบุให้ชัดเจน คำถามคือ ไปเอามาจากคำจีนคำไหนในสำเนียงเสียงจีนใด

เป็นความเข้าใจตรงกันโดยทั่วไปว่า ชาวจีนเรียกขนมลักษณะนี้ว่า เปาจื่อ (包子) และถ้าต้องการระบุเจาะจงว่าเป็นเปาจื่อชนิดไหนใส่ไส้อะไร ก็จะเติมคำวิเศษณ์ระบุชนิดหรือไส้ที่ใส่ไว้ข้างหน้าคำว่าเปาจื่อ เช่น ไส้เนื้อเรียกว่า โหร่วเปาจื่อ (肉包子) ไส้ผักเรียกว่า ไช่เปาจื่อ (菜包子) ไส้หมูแดงเรียกว่า ชาซาวเปาจื่อ (叉烧包子) เป็นต้น (คำทั้งหมดใช้เสียงจีนกลาง)

ไม่มี “ซาลา” สองพยางค์นี้อยู่เลย แล้ว “ซาลา” มาจากไหน
ซาลาเปาฮ่องกงไส้ครีม ขอบคุณภาพจาก http://www.rensheng2.com/470000/463884.shtml
ขอพาข้ามไปดูประเทศเพื่อนบ้านสักหน่อยว่า เขาเรียกซาลาเปากันว่าอย่างไร พบว่าชาวฟิลิปปินส์เรียกซาลาเปาว่า "เซียวเปา" (Siopao) ซึ่งมาจากคำจีน (烧包เสียงฮกเกี้ยน) ซึ่งในเสียงจีนกลางคือ ซาวเปา (Shaobao) ความหมายคือซาลาเปา (นึ่ง) ร้อนๆ

อ่านพบในเน็ต มีคนอ้างว่า “ซาลา” สองพยางค์นี้มาจากคำจีน ซาลา (沙拉เสียงจีนกลาง) ที่จีนถอดเสียงและยืมความหมายมาจากคำอังกฤษ (Salad) ที่แปลว่าสลัดผัก การลากเอาคำซาลา (沙拉) มาประสมกับคำ เปาจื่อ (包子) เพื่อหวังให้เกิดคำใหม่เป็น ซาลาเปา (沙拉包) และเพื่อจะอ้างว่า นี่คือชื่อที่ไทยยืมเสียงคำมาใช้นั้น ดูออกจะเป็นเรื่องจับแพะชนแกะ และความจริงคือมันไม่เคยมีของกินที่ชื่อ ซาลาเปาจื่อ (沙拉包) ในสารบบอาหารจีน ที่จะให้เรายืมคำมาใช้ในภาษาไทยได้

อีกอย่างคำนี้เป็นเสียงจีนกลาง ซึ่งในอดีตคำจีนที่ไทยเก็บรับมาใช้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่เสียงจีนกลาง แต่เป็นเสียงจีนท้องถิ่น โดยเป็นเสียงแต้จิ่วมากที่สุด ยกเว้นช่วง 10-20 ปีมานี้ ที่ภาษาจีนกลางเริ่มเข้ามาในไทยมากขึ้น เราถึงได้เห็นมีการใช้คำจีนเสียงจีนกลางกันมากตามไปด้วย เช่น เสี่ยวหลงเปา (小笼包) หมาล่า (麻辣) เป็นต้น แต่ซาลาเปาเป็นคำที่ไทยเรายืมมาใช้กันมานานก่อนหน้าที่คำจีนกลางจะเริ่มเข้ามาในไทยมากทีเดียว

เรากลับมาสืบค้นจากคำจีนเลยดีกว่า ชาวจีน โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งมีอาหารดังอย่างหนึ่งเรียกว่า ซาวล่า (烧腊เสียงจีนกลาง) คือพวกเนื้อย่างเนื้อรมควัน แยกเป็นชาซาวโหร่ว (叉烧肉) คือเนื้อหมูย่าง กับล่าโหร่ว (腊肉) คือเนื้อหมูรมควันหรือผึ่งลม

ชาซาวโหร่ว (叉烧肉) ที่เรารู้จักกันดี คือหมูแดง (ย่าง) ชนิดที่ใส่ในบะหมึ่เกี๊ยวนั่นแหละ แล้วทีนี้ ซาลาเปาก็มีไส้หมูแดงที่ว่านี้ (ทั้งในจีนและในไทย) เสียด้วย ชาวจีนเรียกว่า ชาซาวเปา (叉烧包เสียงจีนกลาง) ก็เลยมีคนทึกทักเอาว่า ซาลาที่อยู่หน้าคำซาลาเปา ก็น่าจะมาจากคำ ซาวล่า (烧腊) นี่แหละ ฟังดูเข้าเค้า แต่เรามาดูเสียงคำเหล่านี้ในเสียงจีนท้องถิ่นกันก่อน

烧腊  เสียงจีนกลาง: ซาวล่า เสียงกวางตุ้ง: ซิ้วหลาบ เสียงแต้จิ๋ว:เซียละ เสียงฮกเกี้ยน:เซียวหละ

叉烧  เสียงจีนกลาง: ชาซาว เสียงกวางตุ้ง: ช้าซิ้ว เสียงแต้จิ๋ว:แชเซีย เสียงฮกเกี้ยน:ชะเซียว

ทีนี้ ตามที่พจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุมาว่า ซาลาเปาเป็นคำจีน ก็เชื่อได้ว่า เสียงคำจีนที่ได้นี้ น่าจะได้จากชาวจีนในไทย ซึ่งชาวจีนที่อพยพมาไทย เกือบทั้งหมดไม่พูดเสียงจีนกลางกัน ต่างพูดสำเนียงท้องถิ่นของตน
ซาลาเปาไส้ผัก ขอบคุณภาพจาก http://2.bp.blogspot.com/-Zpqm3xuPbLE/VO84y2fXDQI/AAAAAAAAKiw/ADzBjK0e1eM/s1600/ok2.JPG
ดังนั้น เสียงคำซาลาเปาที่ยืมมาจากคำจีน จึงไม่ใช่เสียงจีนกลาง แต่น่าจะเป็นเสียงจีนอื่น (เหมือนเช่นที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกเซียวเปาตามเสียงฮกเกี้ยน ที่กล่าวไว้ข้างต้น) แต่จากตารางเทียบเสียงที่ให้ พบว่า มีเพียงคำ烧腊ในเสียงแต้จิ๋วกับเสียงฮกเกี้ยนเท่านั้น ที่ดูจะให้เสียงใกล้เคียงกับเสียง “ซาลา” ที่สุด หรือชื่อซาลาเปาจะมาจากคำ 烧腊包 ตามเสียงแต้จิ๋วหรือฮกเกี้ยนจริงๆ แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องมันยังไม่จบแค่นี้

มีข้อมูลว่า ในอดีต ชาวบ้านในหมู่บ้านกึงโอ่วชุง (广湖村) ตำบลเตี่ยอัน (潮安镇) เขตเตี่ยจิว (潮州区) เรียกของกินที่ทำด้วยแป้งสาลี ปั้นเป็นแผ่นกลม ห่อไส้ แล้วปั้นขึ้นรูปเป็นก้อนกลมฐานเรียบ นึ่งสุก รูปทรงคล้ายเต้านม มีทั้งไส้หวานและไส้เค็มว่า “ซอลอเปา” กันมาหลายชั่วคน

ข้อเท็จจริงอีกเรื่องที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัว คือผมเกิดและโตมาจากชุมชนชาวจีน (แต้จิ๋ว) ได้ยินได้ฟังคนในชุมชนและญาติผู้ใหญ่ (ซึ่งถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็มีอายุเกินร้อยกันหมดแล้ว) ต่างเรียกของกินนี้ว่า “ซอลอเปา” เหมือนเช่นที่ชาวบ้านในหมู่บ้านกึงโอ่วชุงเรียกกัน เคยถามญาติผู้ใหญ่หลายคนว่า ทำไมถึงเรียกชื่อนี้กัน ก็ไม่ได้คำตอบที่กระจ่าง คงได้ความแค่ว่า เขาเรียกอย่างนี้กันมานานแล้วเท่านั้น

ถึงจะไม่ได้ความกระจ่างว่า ชื่อ “ซอลอเปา” ที่ชาวบ้านกึงโอ่วชุงและชาวแต้จิ๋วเรียกกันนั้นมาจากคำใดในคำแต้จิ๋ว แต่ก็อยากฝากคำแต้จิ๋วไว้ตรงนี้สักคำสองคำ เพื่อประกอบการพิจารณา

คำแรกคือ ซอ (挱)แปลว่านวดๆคลึงๆ หรือนวดปั้นก้อนแป้ง เช่น ปั้นบัวลอย เรียกว่า ซออี่เกี้ย (挱丸子) แล้วถ้านวดปั้นซาลาเปาล่ะ ก็น่าจะเรียก ซอเปาเกี้ย (挱包子) ซึ่งในภาษาปากอาจพูดว่า ซอลอเปา (挱啰包) ก็ได้ (หมายเหตุ คำ “ลอ” ไม่มีความหมาย เป็นเพียงคำสร้อยเท่านั้น)

อีกคำคือ เซีย (烧) แปลว่าร้อน คือร้อนในระดับที่พอจะหยิบถือได้ ไม่ร้อนถึงขนาดลวกมือพอง ชาวแต้จิ๋วมักพูดถึงความร้อนในระดับนี้ว่า เซียลอ (烧啰) โดยมักใช้คำซ้ำกันเป็น เซียลอเซียลอ (烧啰烧啰) แปลว่า ร้อนๆ แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะพูดถึงซาลาเปาร้อนๆว่า เซียลอเปา (烧啰包) ก่อนจะเปลี่ยนหรือเพี้ยนเสียงเป็น “ซอลอเปา“

ทั้งหมดนี้ ผมเพียงนำข้อมูลที่อาจโยงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของที่มาคำว่า ซาลาเปา โดยเฉพาะ “ซาลา” สองพยางค์แรก โดยไม่สรุปลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นคำ ซาลา (沙拉) ที่แปลว่าสลัดผัก ที่ต้องขอยืนยันว่า ไม่อาจเชื่อมโยงมาถึงชื่อซาลาเปาได้แน่นอน

สรุปความว่า ซาลาเปา ชื่อนี้อาจมาจากคำ 烧腊包 ตามเสียงแต้จิ๋วหรือฮกเกี้ยน หรืออาจมาจากคำ ซอลอเปา (挱啰包) หรือเซียลอเปา (烧啰包) กระทั่งว่า ไม่ได้มาจากคำใดเลย เป็นเพียงภาษาปาก (ที่ไม่มีตัวอักษร) ที่ชาวบ้านกึงโอ่วชุงและชาวแต้จิ๋วเรียกกันก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น