xs
xsm
sm
md
lg

หนีประวัติศาสตร์ไม่พ้น! พบฟิล์มสงครามโลก หลักฐานเหยื่อบำเรอกามทหารญี่ปุ่นมีจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากฟิล์มภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเก็บรักษาที่ องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration) แสดงให้เห็นสตรีเหยื่อบำเรอกามชาวเอเชีย ที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นกักขัง ในเขตซงซาน มณฑลยูนนาน ขณะได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพพันธมิตรจีน-สหรัฐฯ
ไชน่าเดลี รายงาน (12 ก.ค.) การค้นพบครั้งแรกของต้นฉบับฟิล์มขาวดำที่เป็นหลักฐานสำคัญล่าสุด ที่ยืนยันว่ามีเหตุการณ์อัปยศของกองทัพญี่ปุ่น ที่ก่อกรรมบังคับสตรีเอเชียให้เป็นทาสบำเรอกามในกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ามีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

รายงานข่าวกล่าวว่า ฟิล์มภาพยนตร์ขาวดำชุดแรกนี้ มีความยาว 18 วินาที ถ่ายโดยช่างภาพกองทัพสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) ค้นพบด้วยความร่วมมือของรัฐบาลเกาหลีใต้ และคณะศึกษาค้นคว้านำโดยศาสตราจารย์ ชองชิน ซอง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล

ภาพเหตุการณ์ในภาพยนตร์ แสดงให้เห็นสตรี 6 คน ยืนอยู่นอกกระท่อมอิฐ ทุกคนล้วนเท้าเปล่าและอยู่ในอาการประหม่า โดยพวกเธอถูกถ่ายบันทึกขณะกองกำลังพันธมิตรจีน-สหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือปลดปล่อย หลังควบคุมสถานการณ์ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ยึดคืนพื้นที่จากการครอบครองของกองทัพญี่ปุ่น แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบชื่อของสตรีเหล่านั้น แต่ผู้ค้นคว้ามั่นใจว่า สตรีเหล่านี้อยู่ในบัญชีรายนามทาสกามารมณ์เกาหลี ที่กองกำลังพันธมิตรสหรัฐ-จีนได้จัดทำไว้ก่อนหน้า


(ฟิล์มภาพยนตร์ขาวดำชุดแรกนี้ มีความยาว 18 วินาที ถ่ายโดยช่างภาพกองทัพสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) ค้นพบด้วยความร่วมมือของรัฐบาลเกาหลีใต้ และคณะศึกษาค้นคว้านำโดยศาสตราจารย์ ชองชิน ซอง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล)

หลังจากค้นคว้าในฐานข้อมูลประวัติศาสตร์สงคราม ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นานกว่า 2 ปี คณะผู้ค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ได้พบหลักฐานสำคัญนี้ที่องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration) นักวิจัยระบุว่า สตรีที่เห็นในภาพยนตร์เหล่านี้ คือสตรีชาวเกาหลี โดยวิเคราะห์จากเสื้อผ้าและลักษณะใบหน้าเทียบกับภาพถ่ายหลักฐานประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ได้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยเป็นชุดภาพที่ถ่ายโดยหน่วยสัญญาณและบันทึกภาพ แห่งกองทัพสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ระบุว่า กองทัพญี่ปุ่นได้กักขังสตรีประมาณ 200,000 คน เพื่อเป็นทาสทางเพศตั้งแต่ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทว่าก่อนที่จะค้นพบภาพยนตร์นี้ หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับเหยื่อกามกองทัพญี่ปุ่น มีเพียงภาพถ่ายและคำบอกเล่าจากผู้รอดชีวิต อาจเคยมีภาพยนตร์เผยตัวทาสสตรีชาวจีน แต่ในส่วนของสตรีเกาหลี มีแต่ภาพถ่ายและเอกสารเท่านั้น

ลิลเลียน ซิง ประธานร่วม หน่วยงานเรียกร้องความเป็นธรรมสตรีผู้ตกเป็นเหยื่อกองทัพญี่ปุ่น และเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูง ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัว วิตกกังวลบนใบหน้า อย่างชัดเจน และจะเป็นหลักฐานที่ทรงพลังที่สุดในการพิสูจน์ชำระประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2487

"นี่เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์จริง เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต ไม่มีวันเสื่อมชรา และไม่มีทางปฏิเสธได้" ซิง กล่าว

ศาสตราจารย์ เพ่ยเพ่ย ชิว จาก Chinese and Japanese at Vassar College และผู้เขียนหนังสือ คำพยานทาสทางเพศกองทัพจักรวรรดิ์ (Chinese Comfort Women: Testimonies from Imperial Japan's Sex Slaves) กล่าวว่า ภาพยนตร์นี้เชื่อมโยงได้กับบันทึกสงครามต่างๆ ในสมรภูมิเมืองเถิงชง, ซงซาน และหลงหลิง ในมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นด่านปราการสำคัญของเส้นทางทหารในจีน

ตามรายงานของสมาคมวิจัย West Yunnan NGO Research Association for the Unresolved Issues of the Anti-Japanese War ระบุว่า กองทัพญี่ปุ่นได้ยึดครองเขตหลงหลิง ในปี พ.ศ. 2485 และภายใน 2 สัปดาห์แรก ก็ตั้งสถานบำเรอกามให้กองทัพที่นี่

ข้อมูลของ ชิว ระบุว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ขนย้าย "เหยื่อกามกองทัพ" ราว 100 คน จากไต้หวัน และเพิ่มสถานบำเรอกามเพิ่มอีก 2 แห่ง ในวัดและโบสถ์

ทหารญี่ปุ่นจับผู้หญิงท้องถิ่นข่มขืนและคุมขังพวกเธอไว้ พร้อมกับตั้งสถานบำเรอกามเพิ่มอีก นอกจากผู้หญิงท้องถิ่น ประชาชนจีนยังได้เห็นผู้หญิงญี่ปุ่น และเกาหลี ในสถานบำเรอเหล่านั้น

"ภายหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่าเหยื่อบำเรอกองทัพในสถานที่เหล่านั้น แม้จะมีรายงานอยู่บ้างว่า บริเวณใกล้กับเมืองหล่าเมิ่ง และเถิงชง ทหารญี่ปุ่นได้บังคับให้เหยื่อสตรีเกาหลีกินยาพิษ ขณะเดียวกันก็ยิงและฆ่าเหยื่อสตรีชาวจีน" ศาสตราจารย์เพ่ยเพ่ย ชิว กล่าว และว่า ปัจจุบัน สตรีจีนผู้ตกเป็นเหยื่อกามทหารญี่ปุ่นเหล่านั้น ยังคงมีชีวิตเหลือเพียง 22 คน และมีอีก 37 คน ในเกาหลีใต้ ดังนั้น ความยุติธรรมไม่สามารถล่าช้าได้อีกต่อไป" ซิง กล่าว



ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2554 สภาเกาหลีเพื่อสตรีซึ่งถูกเกณฑ์เป็นทาสบำเรอกามทหาร (Korean Council for the Women Drafted for Military Sexual Slavery) เคยนำประติมากรรมสำริดรูปเด็กสาวที่มีผีเสื้อเกาะอยู่บนไหล่ไปตั้งไว้ตรงข้ามสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลมาแล้ว

ประติมากรรมชิ้นดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทน “สตรีเพื่อการบำเรอกาม” (comfort women) ที่ถูกบังคับให้ทำงานในซ่องโสเภณีเพื่อบำบัดความกำหนัดแก่ทหารญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โดเซิล จอง นักเคลื่อนไหวจากองค์กรดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า ประติมากรรมลักษณะเดียวกันนี้จะนำไปติดตั้งที่จีน, มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย และว่านักประวัติศาสตร์ประเมิน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสตรีชาวเกาหลี, จีน, ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ รวมกว่า 200,000 ราย ที่ถูกเกณฑ์เป็นโสเภณีตามสถานบริการทางเพศของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชีย

รายงานข่าวไชน่าเดลี เมื่อปีพ.ศ. 2558 ระบุจากการเปิดเผยของซู่ จื้อเหลียง อาจารย์ของมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของนางบำเรอกองทัพญี่ปุ่นว่า หญิงจีนผู้ประสบเคราะห์กรรม ซึ่งรอดชีวิตจากสงครามมาไม่ถึง 100 คนในมณฑลทางภาคใต้ของจีนนั้น มีอายุยืนยาวเหลือมาถึงทุกวันนี้เพียง 8 คน และในช่วงสงคราม สตรีบนดินแดนจีนถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอในกองทัพญี่ปุ่นราว 200,000 คน ลำพังเฉพาะในมณฑลไห่หนัน หรือไหหลำ ซึ่งถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกรานเมื่อพ.ศ. 2482 และยึดครองอยู่นาน 6 ปี ผู้หญิงราว 10,000 คน ถูกบังคับเป็นทาสปรนเปรอกามารมณ์ตามสถานบำเรอกามกองทัพญี่ปุ่น ที่มีอยู่ประมาณ 60 แห่ง

หญิงเหล่านี้เป็นชนเผ่าลี และเหมียว ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกทรมาน ส่วนที่เหลือรอดมาก็อยู่ในสภาพบอบช้ำสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจ

ประเด็นเรื่อง เหยื่อบำเรอกามกองทัพญี่ปุ่น ยังคงสร้างความบาดหมางระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้มาจนทุกวันนี้ โดยกรุงโซลมองว่าญี่ปุ่นไม่ได้ชดเชยอย่างเพียงพอต่อสตรีเกาหลีที่ต้องเผชิญความทุกข์ทรมานในยุคนั้น ขณะที่รัฐบาลโตเกียวก็อ้างว่า ข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 ถือเป็นที่สุดแล้ว และเมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้บรรลุข้อตกลงคลี่คลายประเด็นหญิงสาวที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทาสกามให้กับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม โดยญี่ปุ่นยอมขอโทษพร้อมจ่ายค่าชดเชย1,000 ล้านเยน เพื่อแลกกับการที่เกาหลีใต้จะไม่พูดถึงประเด็นนี้อีก ยุติประเด็นขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติที่ยาวนานกว่า 70 ปี นอกจากเงินชดเชยและคำขอโทษแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังร้องขอให้เกาหลีรื้อถอนรูปปั้นเด็กหญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของ “นางบำเรอ”ออกไป โดยรูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่ที่ด้านหน้าสถานทูตญี่ปุ่น ประจำกรุงโซล และสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น