กลุ่มสื่อจีนรายงาน เมื่อไม่นานมานี้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์รายงานสถานการณ์ภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease) ลงในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน (New England Journal of Medicine) โดยได้ทำการสำรวจภาวะโรคอ้วนใน 195 ประเทศทั่วโลก และพบว่าจีนมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนมากถึง 15 ล้านคนในปี 2558 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในโลก มากกว่าอินเดียซึ่งครองอันดับสองด้วยจำนวน 14 ล้านคน
นอกจากนี้ จีนยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนอยู่อีกจำนวน 57 ล้านคน หรือคิดเป็นราวร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด นับเป็นจำนวนที่สูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ ที่มีผู้ใหญ่โรคอ้วนอยู่จำนวน 79 ล้านราย
เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส (Financial Times) สื่อชั้นนำของอังกฤษระบุว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้พยายามต่อสู้กับความยากจนอย่างหนัก และความอ้วนก็เป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องกันมากับความกินดีอยู่ดี อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ปัญหาความอ้วนได้เคลื่อนตัวไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในเขตเมื่องมากขึ้นกว่าในอดีต
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ได้อ้างความเห็นของ “หม่า กวนเชิง” ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งระบุว่า สุขภาพที่ย่ำแย่ของเด็กจีนเป็นผลมาจากรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตและมลภาวะ เนื่องจากเด็กในปัจจุบัน ใช้เวลาขี่จักรยานหรือเดินไปโรงเรียนน้อยลง นอกจากนี้ ความกดดันในการเรียน ก็ทำให้เด็กๆนั่งเรียนหนังสือมากขึ้น และใช้เวลาวิ่งเล่นน้อยลง
ทางด้านสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) เปิดเผยผลการศึกษาระดับนานาชาติ ระบุว่าจีนจะพบเด็กอายุ 5-17.9 ปี มีน้ำหนักเกินเข้าขั้นโรคอ้วนกว่า 48.5 ล้านคนภายในปี 2568 ซึ่งเป็นที่สูงกว่าจำนวนประชากรสเปนทั้งประเทศ และยังทิ้งห่างเป็นเท่าตัวจากเด็กอ้วนในอินเดียและสหรัฐอเมริกา ที่สหพันธ์ฯ ประเมินตามกรอบเวลาเดียวกันไว้ที่ 17.3 ล้านคน และ 16.7 ล้านคนตามลำดับอีกด้วย
ทั้งนี้ จีนได้วางมาตรการป้องกันโรคอ้วนในเด็กเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเด็กแห่งชาติ ปี 2554-2563 ซึ่งออกโดยคณะมุขมนตรี (รัฐบาลจีน) ในปี 2554 โดยกำหนดให้พัฒนาการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารอย่างสมดุลแก่พ่อแม่ชาวจีนทั่วประเทศ