xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิต BRICS เปิดโอกาสซย่าเหมินปฏิรูปสู่ระดับสูงขึ้น พร้อมเชื่อม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแถลงข่าวการประชุมสุดยอดกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ครั้งที่ 9 ณ โรงแรม C&D นครซย่าเหมิน โดย นาย เพ่ย จินจยา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครซย่าเหมิน เป็นผู้แถลงและตอบคำถามผู้สื่อข่าว (ภาพ เอเจนซี)
MGR ONLINE—ขณะนี้ นครซย่าเหมิน (厦门)แห่งมลฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) กำลังตระเตรียมการต่างๆอย่างชนิดไม่วางมือ ไม่พักผ่อนเพื่อจัดการประชุมใหญ่ระดับโลก คือการประชุมสุดยอดหรือซัมมิตกลุ่มเศรษฐกิจ บริคส์ (BRICS) ครั้งที่ 9 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. นี้

เมื่อเดือนต.ค.ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศ ซย่าเหมิน เป็นเจ้าภาพจัดซัมมิต BRICS ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “คู่หุ้นส่วนที่แน่นแฟ้น เพื่ออนาคตที่รุ่งโรจน์” (Stronger Partnership for a Brighter Future)

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิต BRICS ของซย่าเหมิน มีนัยะแสดงถึงฐานะและสามารถของเมืองซย่าเหมินในปัจุบัน ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ จะเป็นแรงขับเคลื่อนและเปิดโอกาสผลักดันการปฏิรูปเปิดกว้างของเมืองซย่าเหมินไปสู่ระดับสูงขึ้นในอนาคต

พลังของ BRICS
กลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ก่อตั้งในปี 2009 ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยชื่อกลุ่มมาจากอักษรตัวแรกของชื่อประเทศพากย์ภาษาอังกฤษ ได้แก่ Brazil, Russia, India, China, และ South Africa ทั้งห้าประเทศนี้เป็นกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และยังเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20

การรวมพลังความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS มีนัยที่น่าจับตามอง เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจและขนาดตลาด สถิติข้อมูลปี 2015 ระบุว่ากลุ่ม BRICS มีประชากรรวมกัน กว่า 3.6 ล้าน หรือราว 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น (Nominal GDP) ของทั้ง 5 ประเทศรวมกัน มีมูลค่าเท่ากับ 16.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวมโลก และมียอดเงินทุนสำรองรวมกัน ประมาณ 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากรายงานคาดการณ์ของธนาคารโลก ระบุอัตราเติบโตเศรษฐกิจประจำปี 2017 ของกลุ่ม BRICS จะขยายตัวที่ 5.3 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ BRICS อาจย้ายอำนาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

การพัฒนาซย่าเหมินสู่ฐานะการเป็นเจ้าภาพซัมมิต BRICS
ซย่าเหมิน ชื่อนี้เป็นที่รู้จักดีในหมู่ประชาคมโลก จากเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิงประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศครั้งแรกของประเทศจีน โดยกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเล 4 เมือง ซย่าเหมินเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเสมือน “ทัพหน้า” บุกเบิกการปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาดและเปิดประเทศ เป็นเสมือน “เขตทดลอง” และเป็น“หน้าต่าง” แก่ชาวต่างชาติได้มองเข้ามายังประเทศจีน

ปัจจุบัน ซย่าเหมินเป็น 1 ใน 4 ศูนย์การเดินเรือระหว่างประเทศ มีสนามบินนานาชาติที่ทันสมัย และบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ 38 เส้นทางไปยังเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย

ระหว่าง 2-3 ปีมานี้ ซย่าเหมินได้ดำเนินการทดลองพัฒนาหลายโครงการ ได้แก่ เขตนำร่องการปฏิรูปแบบรอบด้าน เขตนวัตกรรมเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ในการปฏิรูปอย่างลงลึก นอกจากนี้ยังเปิดเขตนำร่องการค้าเสรีที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเมือง จากข้อมูลเมื่อปลายปี 2016 มีทุนต่างชาติที่ใช้จ่ายจริง (actual utilized foreign capital) จดทะเบียนในซย่าเหมิน คิดเป็นมูลค่า 34,670 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีกลุ่มบริษัทจากกลุ่ม “ฟอร์จูน 500” จำนวน 60 ราย เข้ามาลงทุน รวม 109 โครงการ ด้วยกัน

ซย่าเหมินเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการและนวัตกรรม นอกจากนี้มีการจัดตั้งโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ซึ่งมุ่งเน้นภาคบริการที่ทันสมัย การผลิตไฮเอน (High End) เช่น การสื่อสารและคอมพิวเตอร์ การเดินเรือและโลจิสติกส์ ซอลฟ์แวร์และไอที ไปถึงการท่องเที่ยว ซย่าเหมินได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับประเทศ ในด้านความสำเร็จของการสร้างผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ซย่าเหมินยังเป็นสะพานเชื่อมการพัฒนาระหว่างช่องแคบไต้หวัน ซย่าเหมินและไต้หวันมีพื้นฐานความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน มีบรรพบุรุษอพยพมาจากซย่าเหมิน ปัจจุบันมีชาวไต้หวัน ราว120,000 คน อาศัยและทำงานอยู่ในซย่าเหมิน ในปี 2016 มีการเดินทางระหว่างช่องแคบโดยผ่านซย่าเหมิน 2.17 ล้าน คิดเป็น 23.2 เปอร์เซ็นต์ ของการเดินทางโดยตรงระหว่างแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

การเติบโตทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ซย่าเหมินมีอัตราเติบโตเศรษฐกิจ ปี 2016 สูงเท่ากับ 373,700 ล้านหยวน คิดเป็นอัตราขยาย 8 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนภาคสินทรัพย์ถาวร เท่ากับ 217,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 15 เปอร์เซ็นต์ รายได้ส่วนบุคคลสุทธิของกลุ่มผู้อาศัยในเมืองและชนบท ขยายตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ซย่าเหมินกำลังสร้าง “เมืองยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เชื่อม “เส้นทางสายไหมทางทะเล” และ “เส้นทางสายไหมทางบก” ในภาพ: กราฟฟิกแสดงเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจากซย่าเหมินไปยังเมือง ลอดซ์ ในประเทศโปแลนด์ และเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจากซย่าเหมินไปยังกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย (ภาพ สื่อจีน)
ก้าวต่อไปของการปฏิรูปซย่าเหมิน พร้อมเชื่อมโยง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”...
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซย่าเหมินได้เปิดการแถลงข่าว การประชุมสุดยอดกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ณ โรงแรม C&D นครซย่าเหมิน โดย นาย เพ่ย จินจยา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครซย่าเหมิน เป็นผู้แถลงและตอบคำถามผู้สื่อข่าว

นายเพ่ยได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวจีน เกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ลงลึกของเมืองซย่าเหมิน ว่าการประชุมสุดยอด BRICS จะเป็นแรงขับเคลื่อนและเปิดโอกาสให้แก่นครซย่าเหมิน ผลักดันปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปิดกว้างสู่ระดับสูงขึ้น ด้วยแผนพัฒนาดังต่อไปนี้

1) สร้างเขตพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ภายใต้แนวคิดการพัฒนา 5 ประการ ได้แก่ สร้างสรรค์นวัตกรรม บูรณาการ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน ผลักดันภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นภาคบริการสมัยใหม่ และการผลิตสำหรับตลาดไฮเอน

2) สร้างเขตการค้าเสรี เพื่อเป็นแหล่งระดมการลงทุน การค้าการพาณิชย์ การเงิน นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ควบรวมกับปฏิบัติงานของภาครัฐบาล จากนั้นควบรวมกับความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และแผนยุทธศาสตร์ “การก้าวออกไปข้างนอก” (การออกไปลงทุนในต่างแดน) สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนการปฏิรูปซย่าเหมินก้าวหน้าขึ้นไปสู่ระดับใหม่

และประการสุดท้าย 3) คือสร้างเมืองยุทธศาสตร์ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างจีนและกลุ่มประเทศตามเส้นทางสายไหมทางทะเล ขณะเดียวกันก็จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป ขยายเครือข่ายการคมนาคมทางทะเล เพื่อเร่งการเชื่อมโยง “เส้นทางสายไหมทางบก” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเล”

ปัจจุบัน ท่าเรือซย่าเหมินได้เปิดการขนส่งสินค้าระบบคอนเทนเนอร์กับประเทศและเขตต่างๆ 54 ราย ขณะเดียวกันมีเส้นทางบินระหว่างประเทศ 38 เส้นทาง เมื่อปีที่แล้ว ซย่าเหมินได้เปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังเมือง ลอดซ์ (Lodz) ในประเทศโปแลนด์ ในปีนี้ยังได้เปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังเมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย การเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้านี้ เชื่อม “เส้นทางสายไหมทางทะเล” และ “เส้นทางสายไหมทางบก” ได้อย่างดียิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น