MGR ONLINE--จีน -อาเซียน รับรองร่างกรอบงานแนวปฏิบัติ (COC) ในทะเลจีนใต้ นับเป็นความก้าวหน้าใหญ่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือ เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติ
เมื่อวันพฤหัสฯ ( 18 พ.ค.) ผู้นำจีน-อาเซียนเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อบรรลุปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea ชื่อย่อ DOC) ครั้งที่ 14 ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นาย หลิว เจิ้นหมิน และเลขาธิการประจำของกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ นาย Chee Wee Kiong เป็นประธานร่วมในที่ประชุมฯ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากกระทรวงต่างประเทศของกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมฯ
ที่ประชุมฯ ได้ทบทวนและรับรองร่างกรอบงาน COC ซึ่งนับเป็นการบรรลุความคืบหน้าก้าวใหญ่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยจะสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงในการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเอเชียด้วยกัน
ทุกฝ่ายในที่ประชุมฯได้ตกลงแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติบนโต๊ะเจรจา และตกลงหันหน้าเข้าหากันเจรจาความขัดแย้งหรือความเห็นที่แตกต่างกันภายใต้กฎกรอบของภูมิภาค
จีนและกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้แถลงความสำคัญของการรับรองร่างกรอบงาน COC นี้ โดยระบุว่าเป็น “ความสำเร็จกลางคัน” ในการเจรจา COC
ที่ประชุม ยังได้หารือวาระต่างๆ และได้ข้อสรุป ได้แก่ ปรับความคืบหน้าของแผนงาน ปี 2016-2018 ผลการทดลองระบบฮ็อตไลน์สำหรับเจ้าหน้าที่การทูตอาวุโส และทบทวนเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเชิงเทคนิก 3 ชุด
ทั้งนี้ จีนและอาเซียนได้ลงนามปฏิญญา DOC เมื่อเดือน ปีค.ศ.2002 สำหรับกำหนดแนวปฏิบัติและการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม การวิจัยทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น เพื่อรักษาเสถียรภาพและสันติภาพในทะเลจีนใต้ และแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี อีกทั้งเป็นพื้นฐานการเจรจาแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ COC
15 ปีที่ผ่านมา DOC ได้เป็นเวทีหลักในการหารือกันพิทักษ์ความมั่นคง สันติภาพ ตลอดจนความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ ของจีนและอาเซียน
จีนมุ่งความสำคัญอันดับแรกแก่อาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์การทูตเพื่อนบ้านเสมอมา มีการจัดตั้งกรอบความสัมพันธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การเจรจาระหว่างจีน-อาเซียนซึ่งเข้าสู่ปีที่ 26 ในปีนี้, ปีหน้าจะมีการฉลองครบรอบ 15 ปีของการดำเนินคู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและอาเซียน และปีนี้ยังเป็นปีครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน ซึ่งมีสมาชิก 10 ชาติ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์
ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนได้เติบโตสู่ขั้นที่สำคัญมากที่กำลังเปิดโอกาสใหม่ๆในการพัฒนา