ไชน่าพลัส สื่อจีน - แอพพลิเคชันตัวแปลภาษาสัญลักษณ์ เตรียมออกสู่สาธารณะเพื่อให้ผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางการสื่อความ (Aphasia) ได้ใช้งานภายในสิ้นเดือนนี้ ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่ายูธเดลี่
แอพพลิเคชั่นชิ้นนี้ถูกออกแบบและพัฒนาโดยสองสาวนักศึกษาจีน “หวัง น่าน่า” จากมหาวิทยาลัยชิงหวา และ “หวง ส่วง”มหาวิทยาลัยเป่ยหัง สองมหาวิทยาลัยดังของจีน โดยทั้งสองเช่าห้องพักอยู่ด้วยกัน และมีความเห็นตรงกันที่ต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางการสื่อความ หรือ Aphasia ที่เป็นอาการสูญเสียความสามารถในการสื่อสาร ไม่ว่าจะทางการพูด หรือทางการเขียน
สำหรับแอพพลิเคชั่น จะทำงานร่วมกับ สายรัดข้อมือที่ถูกออกแบบพิเศษ เมื่อผู้ป่วย Aphasia สวมสายรัดข้อมือและขยับมือ จะถูกส่งข้อมูลจากสายรัดข้อมูลไปยังแอพพลิเคชั่น เพื่อแปลงออกมาเป็นคำศัพท์ ช่วยให้สื่อสารกับบุคคลอื่นได้ โดยสามารถแปลงออกมาเป็นคำศัพท์ต่างๆได้ประมาณ 200 คำศัพท์
ทางผู้พัฒนาเผยว่า จากการทดสอบ อัตราความถูกต้องในการแปลงภาษาสัญลักษณ์จากการขยับมือที่ใส่สายรัดข้อมูล แปลงออกมาเป็นคำศัพท์ มีความถูกต้องมากถึง 95%
ล่าสุดโครงการนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด Geek for Good Open Design Challenge การประกวดโครงการเทคโนโลยีไอเดียเจ๋งเพื่อสังคม ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP: United Nations Development Program) และ ไป่ตู้ (Baidu) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน