xs
xsm
sm
md
lg

คุยเรื่องข้าวต้มกุ๊ยจากแง่มุมด้านภาษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย พชร ธนภัทรกุล

เมื่อวันอาทิตย์ (๓๐ เมษายนที่ผ่านมา) ภรรยาพร้อมญาติบางคนไปร่วมงานศพคุณป้าของเธอที่จังหวัดพิจิตร ช่วงเย็นขากลับ ขับรถผ่านอำเภอเมือง นครสวรรค์ มาทางถนนสวรรค์วิถี มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เห็นทางซ้ายมือ มีร้านข้าวต้มอยู่ร้านหนึ่ง ด้วยความหิว จึงพากันแวะทานข้าวต้มที่ร้านนี้

ร้านข้าวต้มร้านนี้ ก็เหมือนร้านข้าวต้มทั่วไปที่พบเห็นได้ทั่วไป คือมีอาหารทำสำเร็จนับสิบอย่าง เช่นพวกต้ม ผัด ทอด ยำ ใส่ในถาดและกะละมังวางเรียงเต็มแผงหน้าร้าน และยังมีพวกอาหารตามสั่ง เช่นพวกผัดผัก ไข่เขียว ตามแบบฉบับร้านข้าวต้มทั่วไป

ครั้งหนึ่ง ชาวจีนแต้จิ๋วในไทยเรียกข้าวต้มที่ขายในร้านข้าวต้มว่า ชิ่วเชียม้วย (手车糜) ชื่อนี้ได้มาอย่างไร

ในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินทรศก 120 บัญญัติไว้ว่า “บรรดารถสองล้อซึ่งลากด้วยคน หรือคำสามัญเรียกว่า รถเจ็กหรือรถญี่ปุ่น หรือรถยินริกชอ ...”

นี่แสดงว่า คนสมัยนั้นเรียกรถลากด้วยแรงคนกันว่ารถเจ๊ก

ที่ต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เพราะเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีคนจีนจำนวนหนึ่งยึดอาชีพลากรถลากให้คนนั่งนั่นเอง บนถนนเยาวราชาวมีชาวจีนยึดอาชีพลากรถเป็นจำนวนมาก ชาวแต้จิ๋วในย่านนั้นไม่เรียกรถลากด้วยแรงคนว่า รถเจ๊ก แต่เรียกว่า ชิวเชีย (手车) หมายถึงรถใช้มือลาก

ทีนี้ พอมีคนลากรถกันมาก ก็เลยเกิดมีร้านขายข้าวต้มบริการคนลากรถเจ๊กเหล่านี้ ชาวแต้จิ๋วเลยเรียกข้าวต้มที่ขายในร้านเหล่านี้ว่า ชิ่วเชียม้วย (手车糜)

คำว่า ม้วย (糜) เป็นคำเรียกข้าวต้มของชาวแต้จิ๋ว ดังนั้น รวมความแล้ว ชื่อนี้จึงน่าจะหมายถึง ข้าวต้มสำหรับคนลากรถเจ๊ก

ชิ่วเชียม้วย จึงเป็นชื่อเก่าแก่มากที่เคยใช้กันในหมู่ชาวจีนย่านเยาวราช

และสมัยหนึ่ง คนทั่วไปเคยเรียกข้าวต้มในร้านขายข้าวต้มเหล่านี้ว่า ข้าวต้มกุ๊ย แล้วชื่อนี้ล่ะได้มาอย่างไร

บางคนอ้างว่ามาจากคำว่า ข้าวต้มพุ้ย ซึ่งเป็นชื่อที่ได้จากอาการทานข้าวต้มที่ต้องใช้ตะเกียบเขี่ยข้าวเข้าปาก โดยอ้างว่า พุ้ย คำนี้เป็นคำแต้จิ๋ว แต่ถูกเรียกเพี้ยนไปกลายเป็นกุ๊ย อันนี้ไม่ใช่นะครับ พุ้ยไม่ใช่คำแต้จิ๋ว คำแต้จิ๋วที่มีเสียงใกล้เคียงคือ ผุ่ย (呸) ที่แปลว่า ถ่ม ถุย ซึ่งดูไม่ใกล้เคียงกับอาการใช้ตะเกียบเขี่ยข้าวเข้าปากเลย

แต่ที่บอกกันว่า ข้าวต้มกุ๊ยเป็นข้าวต้มสำหรับพวกจับกัง ซึ่งพวกนี้ถูกเรียกว่ากุ๊ย นั้น อันนี้พอเข้าเค้าครับ

อย่างที่เล่ามา ชาวแต้จิ๋ว (ย่านเยาวราช) เรียกข้าวต้มกุ๊ยว่า ชิวเชียม้วย อันหมายถึงข้าวต้มของคนลากรถ ทีนี้ คนมีอาชีพลากรถมักถูกคนอื่นแม้แต่คนจีนด้วยกัน (แต่รวย) มองว่า เป็นคนชั้นต่ำ ชาวแต้จิ๋วมีคำที่ใช้เรียกคนอย่างเหยียดหยามและเกลียดชังว่า กุ้ย (鬼หรือกุ่ย -เสียงจีนกลาง) ซึ่งแปลว่าผี คนตาย เลวชั่ว เช่น จิ๋วกุ้ย (酒鬼) คนขี้เหล้า เกี่ยมเสียบกุ้ย (咸啬鬼) คนขี้เหนียว ในภาษาเขียนต้องใช้ว่า เล่งเสียบ (吝啬) ที่แปลว่า ตระหนี่ถี่เหนียว เจ๋ากุ้ย (走鬼) คนใช้ หญิง ชาวแต้จิ๋วเรียกลูกสาวว่า เจ๋าเกี้ย (走仔) เคียวเกี๋ยกุ้ย/เก่งกุ้ย(穷仔鬼/穷鬼) คนจน (เสียงภาษาปาก ไม่ใช่เสียงภาษาเขียน)

สรุปว่า ชาวแต้จิ๋วใช้คำว่า กุ้ย (鬼) เรียกคนที่มีความประพฤติไม่ดี คนที่ถูกเหยียดให้ต่ำกว่าตัวเอง

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ. 2525 เก็บคำจีนคำนี้ไว้ โดยระบุว่าหมายถึง คนเลว คนไม่สุภาพไร้มารยาท คนชั่วต่ำช้า และยังให้อีกความหมายหนึ่งว่า คนโซ ไปดูคำว่า โซ พบว่าหมายถึงอด หิว

ทีนี้ เราคงพอจะมองเห็นความเชื่อมโยงได้รางๆ อาชีพลากรถเป็นอาชีพของผู้ใช้แรงงาน เช่นเดียวกับพวกกุลีพวกจับกัง (กุลี คำนี้มาจากภาษาจีน -苦力 - ขู่ลี้ เสียงจีนกลางหมายถึงคนที่รับจ้างใช้แรงงานหนัก ส่วนจับกังมาจากคำแต้จิ๋ว -杂工 หมายถึงคนรับจ้างทำงานต่างๆ)

คนที่มีอาชีพเหล่านี้ เป็นคนจนแน่นอน จึงมักถูกมองอย่างดูแคลนว่า เป็นพวก เคียวเกี๋ยกุ้ย (穷仔鬼) ก็คือเป็นพวกกุ้ยหรือกุ๊ยนั่นเอง คนไทยได้ยืมเอาคำจีน “กุ้ย” มาใช้เรียกคนไม่สุภาพไร้มารยาท และคนไทยก็คงมองแรงงานจีนเหล่านี้ด้วยสายตาที่ไม่ต่างจากคนจีน (ที่รวยๆ) มอง นั่นคือมองว่าพวกนี้เป็นพวกกุ๊ย

ข้าวต้มนั้น โดยดั้งเดิม ก็เป็นอาหารของคนจนอยู่แล้ว ดังสำนวนแต้จิ๋วที่ว่า บุง-ซา-โฮ่ว-สี่-เชียะ-ม้วย-จับ-หยี (燜三餱四,淖糜十二) หมายถึงข้าวสารในปริมาณที่หุงเป็นข้าวสวยได้ 3 ชาม จะต้มเป็นข้าวสวยแบบนิ่มมากๆได้ 4 ชาม และต้มเป็นข้าวต้มแบบน้ำมากๆได้ถึง 12 ชาม

แรงงานจีนเหล่านี้เป็นคนจนเป็นกุ๊ย ต้องอาศัยกินข้าวต้มให้พออิ่มท้อง ให้พอมีแรงทำงาน และพอประทังชีวิต จึงเกิดการเรียกข้าวต้ม ที่พวกเขากินว่า ข้าวต้มกุ๊ย ก็เป็นได้ เรื่องนี้ ผมเพียงลองโยงเอาความหมายจากคำที่ปรากฏ มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ไม่ได้ไปสืบค้นว่า มีหลักฐานอะไรยืนยันอ้างอิงได้

ในเวลาต่อมา ชิวเชียม้วย ขื่อนี้ก็ได้หายไป (รถลากก็ได้ลงจากเวทีประวัติศาสตร์ไปด้วย) แต่คำว่า ข้าวต้มกุ๊ย ยังคงใช้กันต่อมาอีกเป็นเวลานานทีเดียว แต่ทุกวันนี้ ก็กำลังค่อยๆเลือนหายไปเช่นกัน

ทีนี้ ผมจะมาเข้าเรื่องข้าวต้มกัน

คำจีนที่มีความหมายว่า ข้าวต้มนั้น มีอยู่สามคำ คือ
ม้วย (糜) คำนี้เป็นคำแต้จิ๋ว หมายถึงข้าวที่ต้มจนเปื่อยยุ่ย มี เชียะม้วย (淖糜) คือข้าวต้มเหลวมีน้ำมาก กับกึกม้วย (稠糜) ข้าวต้มอืดแห้งมีน้ำน้อย

ซีฟ่าน (稀饭 เสียงจีนกลาง) เป็นชื่อที่ชาวจีนทั่วไปใช้เรียกข้าวต้มที่คล้ายเชียะม้วย ซึ่งบางครั้งมีข้าวน้อยมาก แต่มีน้ำเยอะ จนดูเป็นน้ำข้าวมากกว่าข้าวต้ม และบางครั้งอาจใช้ข้าวสวยมาต้มแปลงเป็นข้าวต้ม ซึ่งชาวแต้จิ๋วจะไม่ต้มข้าวต้มแบบนี้

โจว (粥 เสียงจีนกลาง) ในความเข้าใจของชาวจีนทั่วไป โจวคือข้าวต้มที่มีข้าวมากกว่าซีฟ่าน โดยไม่คำนึงว่า จะต้องต้มจนข้าวบานเปื่อยยุ่ยแค่ไหน ขอเพียงให้ข้าวนั้นมีน้ำ แห้งเป็นข้าวสวย ก็ถือเป็นโจวหมด
แต่สำหรับชาวกวางตุ้ง โจว หรือ จุก (เสียงกวางตุ้ง) คือข้าวที่ต้องต้มจนเมล็ดข้าวแตกสลาย มองไม่เห็นเม็ดข้าว ในระดับที่ข้าวกับน้ำละลายเป็นเนื้อเดียวกัน นี่จึงจะเป็นจุกขนานแท้

ชาวแต้จิ๋วเรียกจุกชองชาวกวางตุ้งว่า จ๊ก และยอมรับลักษณะพิเศษของจ๊กว่า แตกต่างจากม้วยของพวกเขาเอง ดังนั้น ในความเข้าใจของชาวแต้จิ๋ว จ๊กกับม้วย จึงเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด

เรายืมเสียงคำแต้จิ๋ว จ๊ก มาใช้เป็นโจ๊ก ทั้งยังเห็นพ้องกับชาวแต้จิ๋วว่า โจ๊กก็คือโจ๊ก โจ๊กไม่ใช่ข้าวต้ม (ม้วย) และข้าวต้มก็คือข้าวต้ม ข้าวต้มไม่ใช่โจ๊ก

ครั้งหน้า ผมจะมาเล่าให้ทราบว่า ชาวแต้จิ๋วเขาต้มข้าวต้มกันอย่างไร ใช่อย่างที่เราคุ้นเคยกันไหมพบกันครั้งหน้าครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น