ปลายเดือนที่ผ่านมา จีนได้ทำพิธีฉลองเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีน และนับเป็นลำแรกที่พัฒนาและผลิตโดยจีนล้วนๆ การเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบิน “เมด อิน ไชน่า” นี้ ถือเป็นความก้าวหน้าใหญ่ในการพัฒนาความทันสมัยแก่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ พีแอลเอ แสดงถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธยุทโธปกรณ์จีน
สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ชื่อว่า “เหลียวหนิง” ซึ่งแต่ดั้งเดิมเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน “วาร์ยัก” (Varyag) ที่สร้างในสมัยสหภาพโซเวียตแต่งานต่อเรือไม่เสร็จสมบูรณ์ เมื่อโซเวียตล่มสลายเรือวาร์ยักตกเป็นสมบัติของยูเครนเนื่องจากอู่ต่อเรืออยู่ในยูเครน
จีนได้ซื้อเรือฯวาร์ยัก ที่มีแต่ตัวลำเรือเปล่าๆจากยูเครนในปี พ.ศ. 2541 นำมาที่ท่าเรือต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง และได้เริ่มทำการซ่อมแซมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนกระทั่งแล้วเสร็จ ในเดือนก.ย. ปีพ.ศ. 2555 เรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยักในชื่อใหม่ “เหลียวหนิง” ถูกส่งมอบเข้าประจำการในกองทัพเรือ
ปลายปีที่แล้ว เดือนธ.ค. เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง ได้ออกทะเล ซ้อมรบด้วยกระสุนจริงเป็นครั้งแรกในน่านน้ำทะเลปั๋วไห่ โดยได้แสดงสมรรถภาพของเครื่องบินขับไล่ที่ประจำการบนเรือรบ คือ เครื่องบินขับไล่ เจ-15 (J-15) รายงานข่าวโทรทัศน์กลางแห่งจีน หรือซีซีทีวี ระบุว่า เครื่องบินขับไล่ เจ-15 ซ้อมยิงขีปนาวุธเข้าเป้าแม่นยำทุกลูก
จีนใช้เวลานับสิบปีในการซ่อมแซมและติดตั้งเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก หลังจากที่ “เหลียวหนิง” ประจำการในกองทัพเรือ ก็มีข่าวการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนรั่วไหลออกมาเป็นระยะๆในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
จนกระทั่งการแถลงเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง ที่“เมด อิน ไชน่า” ณ นครต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา จากรายงานข่าวของสื่อทางการจีน ไชน่า เดลี่ ระบุการคาดการณ์ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองนี้ จะเข้าประจำการในปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ.2563
รายงานของสื่อจีน ไชน่า เดลี่ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงหลักของจีนบนเวทีระหว่างประเทศ ระบุว่ากองทัพมังกรใกล้บรรลุถึงเป้าหมายปฏิบัติการเรือบรรทุกเครื่องบินที่พัฒนาและสร้างในประเทศ ซึ่งเป็นเรือแล่นบนผิวน้ำขนาดใหญ่ที่สุดและติดตั้งระบบซับซ้อนที่สุด เท่าที่จีนเคยสร้างมา
ผู้เชี่ยวชาญจีนได้ออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้ และเริ่มงานต่อเรือในเดือนพ.ย. 2556 แหล่งข่าวในกองทัพจีนเผยว่า งานต่อเรือที่อู่แห้ง (dry dock) เริ่มในเดือนมี.ค. พ.ศ. 2558 การติดตั้งระบบพลังงานและระบบขับเคลื่อนแล้วเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน เฟสต่อไปของการต่อเรือฯคือ งานส่วนประกอบตัวเรือทั้งหมด (outfitting process) ได้แก่ การติดตั้งอุปกรณ์ภายในและระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ จากนั้นทีมวิศวกรจะเริ่มทดสอบอุปกรณ์ทั้งหมดบนเรือ
เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้ ยังไม่มีชื่อและรหัส โดยปกตินาวีจะเปิดเผยชื่อเรือเมื่อเรือออกปฏิบัติภารกิจ
เรือบรรทุกเครื่องบินที่ผลิตในจีนนี้ มีระวางขับน้ำ 50,000 เมตริกตัน ใช้ระบบขับเคลื่อนตามรูปแบบ และจะบรรทุกเครื่องบินเจ็ทขับไล่รุ่น เจ- 15 ที่จีนพัฒนาขึ้นเอง รวมทั้งเครื่องบินอื่นๆ
โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน หยาง อี๋ว์จวิน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ จะติดตั้งระบบส่งอากาศยานโดยใช้ดาดฟ้าแบบ ski jump สำหรับฝูงเครื่องบินปีกนิ่ง (fixed wing aircraft) เช่นเดียวกับเครื่องบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง
พลตรี เฉิน โจว นักวิจัยยุทธศาสตร์อาวุโส ประจำสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์การทหารแห่งพีแอลเอ กล่าวในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองนี้ ไม่ใช่ลำสุดท้ายของโครงการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินจีน กองทัพยังมีแผนต่อเรือฯลำต่อไป
ประเทศอื่นๆที่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน
สหรัฐอเมริกา 10 ลำ
เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ จำนวน 10 ลำ เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ระวางขับน้ำเต็มที่มากกว่า 100,000 เมตริกตัน ได้แก่
USS Nimitz ประจำการในเดือนพ.ค. ปี ค.ศ. 1975 (2518)
USS Dwight D.Eisenhower ประจำการในเดือนต.ค. ปี ค.ศ. 1977 (2520)
USS Carl Vinson ประจำการในเดือนมี.ค. ปี ค.ศ. 1982 (2525)
USS Theodore Roosevelt ประจำการในเดือนต.ค. ปี ค.ศ. 1986 (2529)
USS Abraham Lincoln ประจำการในเดือนพ.ย. ปี ค.ศ. 1989 (2532)
USS George Washington ประจำการในเดือนก.ค. ปี ค.ศ. 1992 (2535)
USS John C. Stennis ประจำการในเดือนธ.ค. ปี ค.ศ. 1995 (2538)
USS Harry S. Truman ประจำการในเดือนก.ค. ปี ค.ศ. 1998 (2541)
USS Ronald Reagan ประจำการในเดือนก.ค. ปี ค.ศ. 2003 (2546)
USS George H.W. Bush ประจำการในเดือนม.ค. ปี ค.ศ. 2009 (2552)
รัสเซีย 1 ลำ
อัดมีรัล โฟลตา โซเวียตโคกอร์ โซยูซา คุซเนซอฟ (Admiral Flota Sovetskogo Soyuza Kuznetsov) เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นคุซเนซอฟ ใช้พลังงานขับเคลื่อนตามรูปแบบ (conventional powered carrier) ระวางขับน้ำเต็มที่ 55,200 เมตริกตัน เข้าประจำการในเดือน ธ.ค. ปี ค.ศ.1990 (2533)
ทั้งนี้ เรืออีกลำในชั้นเรือเดียวกัน คือเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยักซึ่งสร้างไม่เสร็จ ต่อมาจีนได้ซื้อเรือวาร์ยักลำนี้ไปสร้างต่อจนแล้วเสร็จและเข้าประจำการในชื่อ เหลียวหนิง
ฝรั่งเศส 1
มีเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ 1 ลำ
Charles de Gaulle ระวางขับน้ำเต็มที่ 42,500 เมตริกตัน เข้าประจำการในเดือน พ.ค. ปี ค.ศ.2001 (2544)
อิตาลี 2
เรือบรรทุกเครื่องบินพลังขับเคลื่อนตามรูปแบบ 2 ลำ
Cavour ระวางขับน้ำเต็มที่ 30,000 เมตริกตัน เข้าประจำการในเดือน มี.ค. ปี ค.ศ.2008 (2551)
Giuseppe Garibaldi ระวางขับน้ำเต็มที่ 13,850 เมตริกตัน เข้าประจำการในเดือน ก.ย. ปี ค.ศ.1985 (2528)
อินเดีย 1 ลำ
เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเคียฟ (Kiev) รุ่นปรับปรุงใหม่ พลังขับเคลื่อนตามรูปแบบ
ไอเอ็นเอส วีกรานต์ (INS Vikramaditya) ระวางขับน้ำเต็มที่ 45,400 เมตริกตัน เข้าประจำการในเดือน พ.ย. ปี ค.ศ.2013 (2556)
ไทย 1 ลำ
เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Principe de Asturias พลังขับเคลื่อนตามรูปแบบ ผลิตในประเทศสเปน
เรือหลวงจักรีนฤเบศร HTMS Chakri Naruebet ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,500 เมตริกตัน เข้าประจำการในเดือน มี.ค. ปี ค.ศ.1997 (2540)
แหล่งที่มา: ไชน่า เดลี่