xs
xsm
sm
md
lg

เติ้ง เสี่ยวผิง มีเซินเจิ้น สี จิ้นผิง มี สงอัน สร้างเมืองใหม่ เชื่อมือเก่าผู้เนรมิตผู่ตง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตนายกเทศมนตรี นครเซี่ยงไฮ้ สูว์ ค่วงตี๋ วัย 79 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเขตผู่ตง เซี่ยงไฮ้ ยืนอยู่ขวามือของ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง (คนกลาง) ขณะสำรวจแผนสร้างเมืองสงอัน (ภาพเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานประวัติของ สูว์ ค่วงตี๋ อดีตนายกเทศมนตรี นครเซี่ยงไฮ้ วัย 79 ปี ผู้ได้รับความไว้วางใจ ฝากความฝันสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่สงอัน ตามนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (3 พ.ค.) รายงานว่า นาย สูว์ ค่วงตี๋ ปัจจุบันอายุ 79 ปีแล้ว เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี นครเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ถึง พ.ศ. 2544 มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเขตผู่ตง เป็นศูนย์กลางการเงินของจีนปัจจุบันนี้

สูว์ ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญ ให้คุมแผนขยายเมืองและถ่ายความแออัดออกจากเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สร้างเมืองสงอัน ซึ่งครอบคลุมเขตปกครอง ของ 3 เขต ในมณฑลเหอเป่ย

สูว์ กล่าวกับซินหวา ว่า หลังจากแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 1 เมษายน ว่าจีนวางแผนสร้างเมืองใหม่ในเหอเป่ย เพื่อให้เจริญเทียบเท่ากับเซินเจิ้น และผู่ตง อันเป็นผลงานโดดเด่นจากวิสัยทัศน์ของเติ้ง เสี่ยวผิง โดยเขตสงอันนี้ ได้รับเลือกเพราะบริเวณดังกล่าว เหมือนหน้ากระดาษขาว ที่สามารถขีดเขียนเมืองตามฝันได้ โดยในระยะแรก แผนพัฒนาเขตเมืองใหม่สงอัน มีพื้นที่พัฒนากว้างประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร ในช่วงกลางครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร และขยายถึง 2,000 ตารางกิโลเมตร ในระยะยาว

สิบปีที่ผ่านมา สูว์ ได้เกษียณจากภาระหน้าที่ใหญ่ เหลือเพียงตำแหน่งรองประธานที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (ซีพีพีซีซี) ในปี พ.ศ. 2556 และเคยดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติจีนในปีพ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตาม เขายังมีบทบาทเงียบในการให้คำปรึกษาด้วยสถานะของหัวหน้าคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญ แผนบูรณาการปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย

บทบาทสำคัญในการสร้างเมืองสงอัน คงจะเป็นสิ่งยืนยันความสามารถของ สูว์ ซึ่งร่วมในการเปลี่ยนประเทศที่อ่อนแอให้เป็นชาติซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

โจว หานหมิน รองประธานที่ปรึกษาทางการเมืองของประชาชนจีน ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเคยทำงานกับสูว์ ในช่วงที่เป็นนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ ว่า "สูว์ เป็นคนฉลาดและตรงไปตรงมา มีความใฝ่ฝันถึงอนาคต"

เช่นเดียวกับชาวเซี่ยงไฮ้ ที่ยังคงชื่นชม สูว์ ด้วยลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือนเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ แตกฉานเศรษฐกิจ และคล่องภาษาอังกฤษ

สูว์ เกิดในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งมีเหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโล จุดเริ่มต้นของสงครามจีน-ญี่ปุ่น ดังนั้นชื่อของเขาที่ถูกตั้ง คือ คังตี๋ จึงมีความหมายว่า "ต่อสู้กับศัตรู" และเมื่ออายุ 7 ปี เขามีสภาพเป็นผู้ลี้ภัย เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประถมฯ ชายแดนพม่า จนเมื่อสงครามสิ้นสุด ครูของเขาจึงแนะนำให้เปลี่ยนชื่อเป็น ควงตี๋ ซึ่งหมายความว่า "ส่งเสริมความยุติธรรมและสันติสุข"

สูว์ เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมโลหะ กรุงปักกิ่ง ในปีพ.ศ. 2497 เมื่อสำเร็จในปี พ.ศ. 2502 ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยสอนที่วิทยาลัยแห่งนี้อยู่ 4 ปี ก่อนย้ายมาเซี่ยงไฮ้ เพื่อสอนในวิทยาลัยวิศวกรรมเซี่ยงไฮ้

ปี พ.ศ. 2514 สูว์ ถูกส่งตัวไปทำงานในค่ายแรงงาน ที่อานฮุย นอกเหนือจากนั้น ยังใช้เวลาในการวิจัยและสอนเกี่ยวกับกระบวนการผลิตโลหะ

พ.ศ. 2525 เมื่อวัย 40 ปี สูว์ เดินทางไปเป็นอาจารย์พิเศษ ที่ Imperial College ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เปิดประเทศออกสู่โลกภายนอก และตลาดระหว่างประเทศ หลังจากดำเนินแผนตามโซเวียตอยู่นาน 30 ปี

แม้ว่า สูว์ จะใช้ชีวิตและทำงานในเซี่ยงไฮ้ เมืองใหญ่ของจีนอยู่หลายปี แต่เขาก็ตกตะลึงกับความเจริญของซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงลอนดอน ซึ่งมีสรรพสินค้ามากมายมหาศาล แตกต่างจากจีนที่ขาดแคลน ขัดสน

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 สูว์ ได้รับชวนให้ทำงานเป็นวิศวกรที่กิจการโลหะของสวีเดนแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำแผนประมูลโครงการฯ คำนวณต้นทุน การทำสินเชื่อ และบริหารจัดการผลิต จากนั้นกลับมาทำงานที่จีน ในตำแหน่งรองประธานวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ และเข้าร่วมงานกับรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักการศึกษาระดับสูงของเมือง

สูว์ ก้าวขึ้นมาโดดเด่นในงานอาชีพ เมื่อได้โอกาสเดินทางไปยุโรปในปี พ.ศ. 2533 ในฐานะเป็นคณะผู้แทนเซี่ยงไฮ้ นำโดย นายจู หรงจี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเซี่ยงไฮ้ ซึ่งในอีก 8 ปีต่อมา เป็นนายกรัฐมนตรีจีน

ครั้งนั้น จู หรงจีและคณะได้เข้าเยี่ยมชมตลาดหุ้นฝรั่งเศส ซึ่งมีความเก่าแก่นานกว่า 160 ปี และขณะที่ล่ามของรัฐบาลไม่สามารถแปลสื่อความหมายที่ชัดเจนของหุ้นแบบฟิวเจอร์ส “index futures” สูว์ จึงเข้าไปช่วยอธิบายนิยามดังกล่าว ให้กับ จู หรงจี จนเข้าใจและประทับใจในความสามารถของเขา

ซั่งไห่ ออฟเสิร์ฟเวอร์ รายงานว่า จู หรงจี ถามนายสูว์ ในช่วงเดินทางกลับเซี่ยงไฮ้ว่า เขาจะรับเป็นหัวหน้าวางแผนเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ได้หรือไม่ ซึ่งนายสูว์ ก็ตอบทันควันว่า เขาไม่ค่อยชอบแนวคิดของเศรษฐกิจตามแผนที่มีอยู่

จู หรงจี หัวเราะและตอบว่า "ในที่สุด ผมก็ได้พบคนที่เห็นความไม่ดีพอของแผนฯ และจะมาเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการวางแผนฯ ให้"

กู่ เจียงกวง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัย ซั่งไห่ เจียวถง กล่าวว่า สูว์ ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองนี้ เมื่อวัย 54 ปี และได้พิสูจน์ความสามารถ เปลี่ยนแปลงเซี่ยงไฮ้ครั้งใหญ่ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู่ตง

สูว์ สร้างแผนพัฒนาผู่ตง อนุมัติสร้างท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตง ในช่วงปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ เล็งการณ์ไกลล่วงหน้าเกินกว่าที่เซี่ยงไฮ้ในขณะนั้นเป็น ด้วยมีกรรมการหลายคน ทักท้วงว่า แผนสร้างนั้นใหญ่โตเกินไปกว่าความต้องการ

"เซี่ยงไฮ้เป็นเด็กทารก ที่จะต้องโตขึ้น เสือผ้าควรจะรองรับการเติบโตของวันหน้า ไม่งั้นก็ต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก" สูว์ ตอบและมุ่งทำงานหนักเพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริงของชาวเซี่ยงไฮ้ ทั้งในด้านพื้นที่ที่อยู่อาศัย ระบบคมนาคม และสร้างสะพานใหม่ข้ามแม่น้ำหวงผู่ ฯลฯ

ในปลายปี พ.ศ. 2544 สูว์ ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีอย่างกะทันหัน หลังถูกแรงกดดันจากเลขาธิการพรรคฯ ประจำเซี่ยงไฮ้ ผู้ซึ่งเป็นคนของประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน โดยเวลานั้น สูว์ มีอายุ 64 ปี และให้เหตุผลว่า แก่เกินไปแล้วสำหรับบทบาทของนายกเทศมนตรี

อย่างไรก็ตาม โจว กล่าวว่า สูว์ ยังคงทำงานหนักไม่รู้จักเหน็ดเหนือยจนกระทั่งวันสุดท้ายที่ออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี และงานสั่งลาของเขา คือการทำแผนเสนอให้เซี่ยงไฮ้เป็นเจ้าภาพจัดงาน เวิร์ลเอ็กซ์โป 2010 (พ.ศ. 2553) และโจวประกาศ ในการร่วมประชุมที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2544 เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานฯ ว่าเขาจะลงจากตำแหน่งหลังการประชุมครั้งนั้น และไปรับตำแหน่งเพียงเป็นหัวหน้าสถาบันวิศวกรรมแห่งประเทศจีน

ไม่มีใครทราบว่า ทำไม สี จิ้นผิง จึงเลือกสูว์ มาเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาของเมืองสงอัน แต่คาดได้ว่าน่าจะด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างเซี่ยงไฮ้ ให้เป็นมหานครแห่งเศรษฐกิจ การเงิน การค้าระหว่างประเทศภายในปี พ.ศ.2563 อันเป็นผลงานของ สูว์ นั่นเอง

สี จิ้นผิง มุ่งมั่นให้เขตสงอัน เป็นเขตที่ปราศจากปัญหาต่างๆ ของเมืองใหญ่ อาทิ การจราจรแออัด มลพิษ และการกลับมารับภารกิจของสูว์ จึงมีผู้เปรียบกับภาษิตโบราณของจีนว่า "ม้าเก่าในคอก ยังใฝ่ฝันมุ่งมั่นควบทะยานสุดหล้า"

กู่ กล่าวว่า สูว์ เป็นคนที่เหมาะสมยิ่งในการกำกับดูแลโครงการสร้างเมืองสงอัน เพราะเพียบพร้อมทั้งประสบการณ์ ความสามารถ สายสัมพันธ์ และสุขภาพพร้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น