ไชน่าเดลี (1 พ.ค.) รายงานว่ายานสำรวจน้ำลึกเจียวหลง ได้นำตัวอย่างหินภูเขาไฟใต้ทะเลลึกจากทะเลจีนใต้ ในมหายุคซีโนโซอิก ขึ้นมาศึกษาเมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า นำวัตถุดังกล่าวมาศึกษา เพื่อความรู้เกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของภูเขาใต้ทะเลในบริเวณดังกล่าว
รายงานข่าวกล่าวว่า เจียวหลง ปฏิบัติงานครั้งนี้ ใช้เวลาดำดิ่งสู่ก้นสมุทร นาน 9.5 ชั่วโมง เป็นการดำสำรวจมหาสมุทรครั้งที่สามของภารกิจครั้งนี้ ซึ่งจะเดินหน้าดำดิ่งสำรวจท้องทะเล จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม
ระดับความลึกที่สุดซึ่งยานฯ ได้ดำสำรวจในปฏิบัติการล่าสุดนี้ อยู่ที่ 2,930 เมตร และนอกจากตัวอย่างหินบะซอลท์ หนัก 5 กิโลกรัมที่นำขึ้นมาสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ยังได้เก็บตัวอย่างตะกอน และน้ำทะเลที่อยู่ใกล้กับก้นมหาสมุทร รวมถึงตัวอย่างชีวภาพอื่นๆ ตลอดจนบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวด้วยความละเอียดสูง
ซื่อ สู่ว์ฟา นักวิจัยประจำยานฯ จาก State Oceanic Administration กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะนำตัวอย่างหินบะซอลต์ขึ้นมาได้ หินนี้มีคุณค่าในการวางรากฐานสำรวจศึกษาการก่อตัวและวิวัฒนาการของภูเขาใต้ทะเล บริเวณทะเลจีนใต้ ในช่วงกำเนิดมหายุคซีโนโซอิก
ข้อมูลธรณีวิทยาระบุว่า มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) เป็นมหายุคสุดท้าย ซึ่งชื่อ ซีโนโซอิก หมายถึง “ชีวิตในสมัยก่อน” โดยนับอายุช่วงตั้งแต่ 65.5 ล้านปีก่อนถึงปัจจุบัน เป็นมหายุคที่เริ่มมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยแบ่งเป็น ยุคอีก 2 ยุค คือ ยุคเทอร์เชียรี (Tertiary) และ ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary)
"เป็นก้าวที่สำคัญมากสำหรับการศึกษาวิวัฒนาการเชิงโครงสร้างของพื้นที่" ซื่อ กล่าวฯ
สำหรับหินบะซอลต์ (basalt) ที่ยานเจียวหลงนำขึ้นมาศึกษานี้ เป็นหินอัคนีพุที่พบได้โดยทั่วไป มักพบมีสีเทาถึงสีดำ มีเนื้อละเอียดเนื่องจากเกิดจากการเย็นตัวของลาวาอย่างรวดเร็ว อาจพบมีเนื้อสองขนาดที่มีผลึกขนาดโตกว่าอยู่ในพื้นเนื้อละเอียด หรือมีเนื้อเป็นโพรงข่าย หรือมีเนื้อเป็นตะกรันภูเขาไฟ (สคอเรีย) เนื้อหินบะซอลต์สดๆ จะมีสีดำหรือสีเทา
ในปฏิบัติการสำรวจครั้งนี้ เจียวหลง ยานสำรวจน้ำลึกแบบมีคนขับ ได้ดำสำรวจก้นสมุทรในทะเลจีนใต้ อันเป็นภารกิจขั้นที่สอง (สำรวจทางวิทยาศาสตร์ในมหาสมุทรครั้งที่ 35) เริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยก่อนหน้านั้น ปีที่แล้ว ได้เดินหน้าสำรวจทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นงานสำรวจขั้นแรก
ในขั้นที่สามนั้น ยานเจียวหลงซึ่งตั้งชื่อจากเทพมังกรจีน จะดำสำรวจร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา หลังเคยดำทำสถิติน้ำลึกที่บริเวณนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ระดับ 7,062 เมตร ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา เป็นร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก และเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของเปลือกโลกเท่าที่ทราบกันในปัจจุบัน อยู่ที่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และอยู่ในแนวตะวันออกและแนวใต้ของหมู่เกาะมาเรียนา