เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่เมืองจีน ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก ทำให้มีโอกาสได้พบปะ มีเพื่อนฝูงทั้งคนต่างชาติ และคนจีน โดยเฉพาะคนจีน ผู้เขียนพยายามสานสัมพันธ์เอาไว้ เพราะไหนๆก็มาอยู่เมืองจีนแล้ว ถ้าไม่มีเพื่อนคนจีนเลย ก็ดูกระไรอยู่ ซึ่ง การมีเพื่อนเป็นคนจีน ทำให้รู้ว่าคนจีนมีเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมืองไทยเยอะทีเดียว จนบางเรื่องผู้เขียนถึงกับงองูสองตัวอยู่บนหน้าผาก ไม่รู้มาก่อนว่า คนจีนเขาคิดกันแบบนี้ ซึ่งแต่ละเรื่องทั้งฮาและทั้งงงในเวลาเดียวกัน
เรื่องแรก เป็นเรื่องสาวประเภทสองในมุมมองของคนจีน บ้างก็มองสาวไทยที่สวยๆว่าเป็นสาวประเภทสองบ้างล่ะ มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งสาวประเภทสอง โดยเฉพาะมองว่าคนไทยที่เลือกเป็นสาวประเภทสองเพราะยากจน เนื่องจากเขานำไปเทียบเคียงกับขันทีของเมืองจีนในสมัยโบราณ ที่คนเป็นขันทีเพราะความจำเป็น ความยากจนบีบบังคับ พอได้เข้าไปเป็นขันที จะได้มีฐานะดีขึ้น ครอบครัวจะได้สบาย
ความจริงแล้วในเรื่องของสาวประเภทสองของไทย ที่คนจีนเข้าใจผิด ยังมีอีกมาก ที่ได้ยินค่อนข้างบ่อย ก็อันนี้เลย “การเป็นสาวประเภทสอง ถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง ต้องกินยารักษา”
เรื่องต่อมาที่ถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง คนจีนเข้าใจว่า ถ้าหากจะฝึกมวยไทย จะต้องผ่านการฆ่าคนมาก่อน ถ้าหากเป็นแบบนี้จริงๆ ผู้เขียนคิดว่าคงต้องไปฝึกในคุกกันหมด ค่ายมวยไทยคงจะร้างกันไปหมด
เหตุผลที่คนจีนเข้าใจแบบนี้ เพราะว่าหนังบู๊ไทย หลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ไทย รวมถึง องค์บาก และต้มยำกุ้ง ที่นำแสดงโดย ดาวบู๊เมืองไทย อย่าง จา พนม ยีรัม แพร่หลายในเมืองจีนอย่างมาก แม้จะไม่ได้เข้าฉายในโรงหนังโดยตรง แต่ใน Youkou เว็บไซต์ดูคลิปวิดิโอของจีน คล้ายกับ Youtube มีคนเอาหนังไทยไปปล่อยไว้ในนั้นจำนวนมาก ทั้ง มีและไม่มีซับจีน หนังเหล่านี้ มักมีฉากต่อสู้ด้วยแม่ไม้มวยไทย ถึงขั้นเอาชีวิตกัน คนจีนจึงเข้าใจไปว่า การจะฝึกมวยไทย ต้องฆ่าคนเป็น และไกด์คนจีน ที่นำนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวในไทย ก็ไม่ได้ให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อคนจีนเหล่านั้น จึงเกิดการบอกต่อบอก กลายเป็นความเข้าใจผิดๆ เรื่องนี้ผู้เขียน ต้องอธิบายต่อเพื่อนคนจีนอยู่นานเช่นกัน พร้อมขอร้องแกมบังคับว่า อย่าลืมไปเผยแพร่ต่อด้วยนะ ว่าไม่ใช่อย่างที่พวกคุณทั้งหลายเข้าใจกัน
“นี่นาย นายกินแมลงสาบ หรือเปล่า” คำถามนี้ทำเอาผู้เขียนอึ้งมาก จะไม่ให้อึ้งได้อย่างไร อยากรู้จริงๆว่า มีใครจะกล้ากินแมลงสาบบ้างเนี่ย แม้จะเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะกินแมลงสาบนะ
ยอมรับว่า อารมณ์ ณ ตอนนั้น เริ่มขุ่นมัวทีเดียว ในใจตอนนั้นรู้สึกว่า จะเข้าใจผิดอะไรกันขนาดนี้ เลยถามไปตรงๆว่า แล้วคนจีนเขากินกันหรือเปล่าล่ะ เพื่อนตอบมาว่า ไม่กิน เลยถามนายไง ว่ากินหรือเปล่า เพราะได้ยินมาว่าคนไทยกินแมลงสาบทอด ตอนไปเมืองไทย ไกด์คนจีนชี้ให้ดู มีวางขายเต็มเลย เห็นเขาว่าอร่อยด้วยนะ พอเพื่อนผู้เขียนเล่าจบเท่านั้น ถึงบางอ้อเลย ที่เพื่อนคนจีน คิดว่าเป็นแมลงสาบ แท้จริงแล้ว เป็นหมู่มวลแมลงทอด อาหารอันโอชะและขึ้นชื่อของเมืองไทยนั่นเอง หากใครเคยกินจะรู้ดีว่า ดักแด้ หรือรถด่วนทอด เป็นอาหารที่กินเพลิน กรุบกรอบ มันๆ และอร่อยมาก นอกจากนี้มีแมลงอีกหลายชนิดที่นำมาทอดและกินได้ แต่คิดว่า ไม่มีแมลงสาบ แน่นอน
ประเด็นกินแมลงสาบเนี่ย มีเรื่องที่ทำให้อึ้งมากขึ้นไปอีก เมื่อมารู้ว่า คนจีนจำนวนไม่น้อยเลยนิยมกินแมลงสาบ และในจีน มีการเปิดฟาร์มแมลงสาบขนาดใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว นำมาทอดกินด้วยนะ ที่เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง โดยเจ้าของฟาร์มระบุว่า แมลงสาบเหล่านี้เป็นสายพันธ์ุอเมริกัน แต่มีต้นกำเนิดที่แอฟริกา พร้อมย้ำว่า แมลงสาบเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศสำหรับทำยาจีน นำมารักษาโรคที่เกี่ยวกับช่องท้อง ตับ หัวใจ แม้จะสรรพคุณดีแค่ไหน แต่ถ้านึกถึงหน้าคุณแมลงสาบทีไร ผู้เขียนก็ไม่กล้าพอที่จะกิน
ตอนไปปักกิ่ง เดือนสองเดือนแรก เมื่อคนจีนตามร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งที่มหาวิทยาลัย รู้ว่าเราเป็นคนไทย จะถามเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมหน้าตาไม่เห็นเหมือนคนไทยเลย? พอเจอคำถามแบบนี้ เกิดอาการ งงอีกแล้ว อยู่เมืองจีนมีเรื่องให้ งง อยู่เป็นประจำ เดี๋ยวผู้อ่านจะชินเองครับ พอตั้งสติได้ หายงง จึงถามกลับไปว่า “ผมไม่เหมือนคนไทยยังไงหรือครับ?” มีบางส่วนตอบกลับมาว่า ดูคล้ายญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รวมถึงจีนทางใต้ และลูกหลานจีน คำตอบนี้ดูโอเค และพอรับได้ โดยเฉพาะบอกว่า คล้ายคนญี่ปุ่น แต่ที่รับไม่ได้ คือ ส่วนที่เหลือ ซึ่งดูจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ ตอบมาว่า ถ้าเป็นคนไทยจริงๆ ก็ต้องหล่อสิ ดูอย่างมาริโอ้สิ ผิวขาว หน้าตาดีมาก “ทำไมเธอไม่เห็นขาว และดูดีเหมือนมาริโอ้เลย”
คำตอบสุดท้าย ทำเอา อึ้งกิมกี่ ทีเดียว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องตลกที่ไม่น่าเกิดขึ้นจริง แต่มันคือเรื่องจริงครับ คนจีนบางกลุ่ม ที่ดูเหมือนจะกลุ่มใหญ่เสียด้วย คิดแบบนี้จริงๆ ผู้เขียนจึงอธิบายไปว่า คนไทยก็เหมือนชาติต่างๆ ที่มีประชากรหลายเชื้อชาติ หลายภาคแตกต่างกันไป พร้อมกับถามหนุ่มจีนทั้งหลายที่ถาม ด้วยคำถามเบสิค เหมือนกระจกสะท้อนกลับ “ทำไมพวกเธอไม่เห็นหน้าตาดี เหมือนหลิวเต๋อหัว ล่ะ?” สิ้นเสียงคำถามนี้ ทุกอย่างก็อยู่ในความเงียบงัน จนแยกย้ายกันไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารไทย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก รวมถึงในจีน ดังนั้น เพื่อนๆคนจีนจึงมักจะให้ผู้เขียนพาไปกินอาหารไทย หรือ ทำอาหารไทยให้พวกเขาได้ลิ้มลอง อย่างคราวที่ผู้เขียนและคนไทยที่มหาวิทยาลัยสมัยเรียนปริญญาโท นึกสนุกอยากกินอาหารไทย เลยทำอาหารไทยกินกัน แต่ละคนก็ชวนเพื่อนคนจีนมาร่วมแจมด้วย เมนูเบสิคที่ต้องมีทุกครั้งคือ ผัดกะเพราหมู ที่แม้จะไร้วิญญาณใบกะเพรา แต่ก็ยังคงอร่อยได้ด้วยผงปรุงสำเร็จที่ขนมาจากไทย
เมนู ผัดกะเพรานี่ล่ะ เป็นเมนูเจ้าปัญหา ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่ในกลุ่มวันนั้น กินเผ็ดไม่ค่อยได้ เลยทำรสชาติออกมาค่อนข้างไม่เผ็ด เมื่อคนจีนได้กิน จึงแปลกใจ และโวยวายว่า ไม่เห็นเหมือนอาหารไทยที่เคยกินเลย นี่พวกเธอเป็นคนไทย ทำอาหารไทยเป็นหรือเปล่านี่ ผู้เขียนกับพรรคพวก ยังไม่ทันได้เอ่ยปากถามว่าทำไมคิดเช่นนั้น พวกเขาก็บอกออกมาว่า เพราะว่าไม่เผ็ดเลย ถ้าเป็นอาหารไทยแท้ๆต้องเผ็ดมากๆ และคนไทยทุกคนต้องกินเผ็ด พวกเขาเจอมาแล้วตอนไปเที่ยวเมืองไทย แถมยังชี้ไปที่ต้มจืด อาหารอีกอย่างในวันนั้น พร้อมบอกว่า นี่ก็ไม่เห็นเผ็ด ไม่ใช่อาหารไทยแน่ๆ
ถ้าต้มจืดเผ็ด คงไม่เรียกว่าต้มจืดแล้วล่ะ ณ วันนั้น จากคลาสทำอาหาร เลยต้องมากลายเป็นคลาสสอนวิชาวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยอาหารและการกินของคนไทย ว่าคนไทยไม่จำเป็นต้องกินเผ็ดเสมอไป เหมือนกับรูปร่างหน้าตา ที่แตกต่างไปตามเชื้อชาติ ภูมิภาค และอย่างเรื่องอาหาร ขึ้นอยู่กับความพอใจและเคยชินของแต่ละคนด้วย
ขอปิดท้ายความเข้าใจผิด ด้วยประเด็นที่คนไทยอาจเคยได้ยินได้ฟังมานาน นั่นคือ "คนไทยขี่ช้างไปเรียนหนังสือ ขี่ช้างไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน" ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นมุขตลกที่มีมาหลายสิบปี ไม่เฉพาะคนจีนเท่านั้น ในสายตาชาวต่างชาติประเทศอื่น ก็มีที่มองเช่นนี้ เพราะช้างไทย ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา แต่ยุคนี้สมัยไหนแล้วเนอะ คงไม่มาขี่ช้าง หรือสัตว์อื่นไปโรงเรียนแล้วล่ะ แต่ที่จีน ชาวมองโกล ที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เน่ยเหมิงกู่ ยังมีขี่ม้ากันในชีวิตประจำวัน หรือขี่ไปโรงเรียน โดยเฉพาะเทศกาลเปิดเทอม เพราะถือเป็นประเพณีของเขาที่สืบทอดกันมานาน
เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมืองไทยในสายตาคนจีน ยังมีอีกมาก ถ้าผู้อ่านพบเจอเหตุการณ์เข้าใจผิดของเพื่อนคนจีน โดยเฉพาะใครที่ทำงานเกี่ยวกับไกด์ ต้องพบปะให้ข้อมูลคนจีนอยู่เสมอ อย่าลืมช่วยทำความเข้าใจของเขาให้ถูกต้อง และส่งมาร่วมแชร์กับผู้เขียนได้เช่นกัน เป็นการแชร์ประสบการณ์ แชร์ความรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด