ไชน่าเดลี (24 เม.ย.) - อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน กำลังใช้การตลาดและเทคโนโลยีของตนเพิ่มศักยภาพ ทำงานร่วมกับนโยบายเส้นทางสายไหม ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เพื่อนำผู้ประกอบการรายย่อย สู่โลกกว้าง
ไชน่าเดลี รายงานว่า การประสานมือของยักษ์ใหญ่อาลีบาบากับ แผนขยายการค้าโลกหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จะเพิ่มศักยภาพการค้าระดับโลกให้กับธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก
เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศจีน นายจอห์น แม็คคัลลัม กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (23 เม.ย.) หลังการประชุม China Green Companies Summit 2017 ที่มณฑลเหอหนาน ว่า อาลีบาบา กำลังมุ่งสรรพกำลังเข้าสู่อเมริกาเหนือ โดยจะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานแสดงสินค้าผู้ประกอบการรายย่อยจากแคนาดา และจีน ในเดือนกันยายนปีนี้
แจ็ค หม่า ประธานบริหารและผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมในงานนี้เช่นกัน กล่าวว่า การขยายของอาลีบาบา เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายขยายไปตามแนวหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
"เรามีแผนมุ่งขยายที่แคนาดา อินเดีย และญี่ปุ่น" แจ็ค หม่ากล่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยในการขยายตามแนวทางนี้ จำเป็นต้องมีกฎระเบียบและกฎหมายใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างการค้าและการพัฒนา
รายงานข่าวกล่าวว่า อาลีบาบา ได้เปิดศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซตามประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซรองรับขีดความสามารถในการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งในมาเลเซีย และประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเร่งขยายบริการการชำระเงินอาลีเพย์ ของอาลีบาบาร่วมกับ Ant Financial ในปีนี้ และในประเทศต่างๆ ตามแนวหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
หวัง เจี้ยน ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ จาก University of International Business and Economic กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายย่อย และกลาง มีสัดส่วนมากราว 95 เปอร์เซนต์ของการเติบโตเศรษฐกิจโลก ซึ่งด้วยความคิดริเริ่มนี้ กิจการภาคเอกชน สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และแก้ไขกฎการค้าโลกผ่านการดำเนินธุรกิจ
จ้าว เล่ย ศาสตราจารย์จากสถาบัน Institute for International Strategic Studies กล่าวว่า ความคิดริเริ่มนี้ มีจุดหมายเพื่อปลดล็อคศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อย โดยการเสริมศักยภาพเชื่อมโยงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นช่องทางสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย
พอล คาวานาจห์ เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ ประจำประเทศจีน กล่าวว่า แนวคิดนี้มีความสำคัญยิ่งกับโลก เป็นความคิดริเริ่มที่เปิดกว้าง ประสานความร่วมมือทุกภูมิภาค และพึ่งความยืดหยุ่นมากกว่าการใช้โครงสร้างที่เข้มงวด และจำกัดความร่วมมือ