เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์/ไชน่าเดลี - ข้อมูลรัฐบาลเผย (19 เม.ย.) นักเรียน นักศึกษาจีนต่างแดน เดินทางกลับมาหางานทำในจีน มีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นสูงเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2559) ด้วยมีแนวโน้มการจ้างงานและเครือข่ายสนับสนุนที่ดีขึ้น
รายงานระบุว่า คนหนุ่มสาวจีนซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ต่างเลือกที่จะกลับจีน ด้วยอ้างว่าโอกาสทำงานในประเทศจีนดีขึ้น ขณะที่รัฐบาลกล่าวว่า ปีที่แล้วนักเรียนนักศึกษาจีนในต่างประเทศ เดินทางกลับแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 82.23 เปอร์เซนต์ เพิ่มขึ้นจาก 72.38 เปอร์เซนต์ ในปี พ.ศ. 2555
ถง เฉิน นักศึกษาจีนชาวอู่ฮั่น ซึ่งสำเร็จการศึกษาและทำงานในนิวซีแลนด์มาแล้ว 17 ปี แต่ได้เดินทางกลับจีน เมื่อ 4 เดือนก่อน เพื่อโอกาสที่มากขึ้นเนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวของจีน
"ผมกลับมาทำงานที่ปักกิ่ง เพราะรักบรรยากาศและเห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่นี่" เฉิน กล่าวและว่าคนหนุ่มสาวจีนหลายคนที่เขารู้จัก ก็ได้ย้ายจากนิวซีแลนด์กลับประเทศจีน เนื่องจากตลาดงานของนิวซีแลนด์เล็กเกินไป" เฉินกล่าว และบอกว่า "คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ กลับมาที่จีน เพราะยากที่จะหางานหรือโอกาสที่ดีได้ในนิวซีแลนด์"
เช่นเดียวกัน จำนวนนักศึกษาชาวฮ่องกง ที่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในแผ่นดินใหญ่ ก็เพิ่มขึ้นอย่างขัดแย้งกับกระแสต่อต้านจีนในหมู่คนหนุ่มสาว
ฉินเย่ว์ ยู่ว์ นักศึกษาชาวหนานจิง จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ที่จีนสามารถหางานง่ายกว่า เพราะตนเองและเพื่อนล้วนมีสายสัมพันธ์อยู่แล้ว แม้จะอยากอยู่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้วีซ่าทำงาน เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องคิดทบทวน
"ในขณะที่เราอยู่ต่างแดนฯ ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน แต่กลับพบว่า ที่บ้านเราเอง มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ และทุกอย่างมีแน้วโน้มที่ดีขึ้น รุ่งเรืองทุกแห่งหน หลายคนในต่างประเทศจึงเริ่มถามตัวเองว่า ทำไมฉันต้องอยู่ที่นี่" ฉินเย่ว์ กล่าวฯ
โอลิเวิร์ เหมา ชาวฉางซา อาชีพนักลงทุนในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเดินทางกลับมาทำงานที่จีนเมื่อสองปีก่อน หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า การเป็นคนจีนในบริษัทคนอเมริกันเป็นเจ้าของ มีข้อจำกัดในความก้าวหน้าทางอาชีพ
เหมา กล่าวว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของนักศึกษาจีนที่เขารู้จักในอเมริกานั้น ได้อยู่ทำงานตามระยะเวลาเพียงที่วีซ่าอนุญาตหลังสำเร็จการศึกษาไม่เกิน 1 ปี
เสวียง ปิงฉี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 กล่าวว่าปัจจุบันผู้ปกครอง พ่อแม่เด็กจีนจำนวนมากมีกำลังทรัพย์พอจะส่งลูกหลานเรียนต่างประเทศได้ไม่ยากเข็ญ แตกต่างจากสมัยก่อน ซึ่งนักเรียนจีนจะไปศึกษาต่างประเทศได้ต้องอาศัยทุนการศึกษาของสถาบัน หรือรัฐบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตลาดงานในต่างประเทศไม่สามารถรองรับการเติบโตของนักเรียนนักศึกษาจีนได้
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีนักเรียนจีนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศมากขึ้น และจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดว่า นักเรียนเหล่านั้น ล้วนกลับบ้านหลังสำเร็จการศึกษา
นายฉู่ เฉาฮุ่ย นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางกลับมาทำงานที่บ้านเกิดประเทศจีน ด้วยมีปัจจัยการทำงานและเครือข่ายสังคมที่ดี
รายงานข้อมูลฯ ล่าสุด ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ สอดคล้องกับข่าวของไชน่าเดลี ซึ่งรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ว่า กระแสการไหลกลับของคนจีนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และหวนคืนมาทำงานในจีน มีเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลสถิติทางการพบว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้นำในโครงการวิจัยระดับชาติต่างๆ ล้วนเป็นคนที่กลับมาจากต่างประเทศ และนักวิชาการภาควิศวกรรมศาสตร์จำนวนมากที่ทำงานกับสภาบัณฑิตจีน ก็เป็นคนที่สำเร็จการศึกษาต่างประเทศและกลับมาทำงานให้มาตุภูมิ
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ จะมีบรรดาหัวสมองจีนที่เก่งๆ ทั่วโลก จะไหลกลับคืนแผ่นดินใหญ่อีกจำนวนมาก
บรรยากาศวงการวิจัยฯ ในจีนที่เปลี่ยนไป เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการจีนในต่างแดน เลือกจะกลับมาทำงานในจีน
สำหรับนโยบายวิจัยที่กำลังได้รับความนิยม มีคนเก่งไหลกลับมายึดจีนเป็นฐานวิจัยฯ มีทั้งงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมไฮเทค การลงทุนที่ยั่งยืน ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ
ปัจจุบัน มีนักวิชาการจีนในต่างแดนที่กลับมาทำงานในโครงการบุกเบิกต่างๆ มากกว่า 24,000 คน
จู เสียง วัย 30 ปี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยในฝรั่งเศส ที่เดินทางกลับมาสร้างธุรกิจของตนเองในจีน ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับแพลตฟอร์มระบบการแพทย์เคลื่อนที่ ของมหาวิทยาลัยชิงหัว ปัจจุบันมีผู้ใช้งานหลายล้านราย กล่าวว่า "มีคนถามผมมากทำไมกลับจีน คำตอบของผมก็ง่ายมาก ผมยังหนุ่มและต้องการจะไล่ตามความฝันของตนเอง"
จู กล่าวว่า "จีน กำลังเติบโตเร็วมาก และเป็นฐานที่ดีมากสำหรับคนที่ต้องการไล่ตามฝันของพวกเขา"