แม้เทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผู้เขียนมั่นใจว่า ความชุ่มฉ่ำของสายน้ำและความสุขที่ทุกคนในครอบครัวได้มารวมตัวกัน ยังคงอยู่ในห้วงความรู้สึกของใครหลายคน ที่ไม่อยากจะปล่อยให้จากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องกลับมาทำงาน เผชิญรถติด ในเมืองใหญ่อีกครั้ง ตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่เมืองไทย แต่ก็สัมผัสได้ถึงคำว่า สงกรานต์ ณ เมืองจีน แดนมังกร
ในปีนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมงานสงกรานต์เล็กๆที่ร่วมกันจัดขึ้นกับนักศึกษาจีนเอกภาษาไทยในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี เป็นความสุขเล็กๆ สำหรับคนไทยในต่างแดน ซึ่งคนไทยในหลายเมืองของจีน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทย ต่างก็รวมตัวกันจัดกิจกรรมสงกรานต์ เมืองไหนมีคนไทยเยอะ ก็จัดใหญ่หน่อย อย่างเช่นที่กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองกว่างโจว ส่วนเมืองไหนมีคนไทยน้อย ก็จัดเล็กๆแบบอบอุ่น อาจจะเป็นเพียงการรวมตัวกินข้าวด้วยกัน แต่นั่นก็สื่อให้เห็นถึงความเป็นไทย ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ความเป็นไทยไม่จางหาย
นอกจาก คนไทยจะรวมตัวกันสาดน้ำ รวมตัวกันฉลองเทศกาลสงกรานต์ ใน ฤดูใบไม้ผลิ ณ แดนมังกร ยังมีประชาชนขาวจีนจำนวนหนึ่งที่พากันสาดน้ำเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์เช่นกัน ประชาชนจีนกลุ่มนั้นคือ ชาวไต หรือ ไทลื้อ ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีใกล้เคียงกับพวกเราชาวไทย และประเทศเพื่อนบ้านย่านอุษาคเนย์
ในประเทศจีน ชาวไต ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในบรรดา 56 กลุ่ม โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่หลักๆ 2 เมือง ได้แก่ 1) เขตปกครองตนเองชนชาติไต เมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน 2) เขตปกครองตนเองชนชาติไตและคะฉิ่น เมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน
ชาวไต ยึดถือประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญ และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไต เช่นเดียวกับสงกรานต์ของไทย โดยจะมีแตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียดของพิธีกรรมและความเชื่อ เช่น อย่างที่สิบสองปันนา จะมีการแข่งขันเรือมังกรที่แม่น้ำหลานชาง หรือล้านช้าง แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านในประเทศจีน และยังมีการปล่อยโคมตอนกลางคืนของวันสงกรานต์ (13 เมษายน) เพื่อขอพรจากฟากฟ้า เป็นการฉลองปีใหม่ โดยโคมมีชื่อเรียกว่า โคมข่งหมิง หรือโคมขงเบ้ง ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทย เรามักจะเห็นการปล่อยโคมลอยในช่วงลอยกระทงเสียมากกว่า แต่ในพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ทำบุญ สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัว มีลักษณะคล้ายกับไทยเรา
โดยรวม พอจะกล่าวได้ว่า สงกรานต์ของชาวไต ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน มากกว่าของไทย ที่บางสิ่งอาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลา
สำหรับสงกรานต์ของชาวไตในจีน ที่มีชื่อเสียงระดับชาติและนานาชาติ มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์ชนชาติไต อำเภอจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เมืองสิบสองปันนา และ เทศกาลสงกรานต์นานาชาติอำเภอหมาง เมืองเต๋อหง ซึ่งแต่ละปีจะมีชาวไตในจีน ชาวพม่า ชาวลาว ชาวไทย ตลอดจนชาวจีนและชาวต่างประเทศ นับหมื่นคน เข้าร่วมสาดน้ำสงกรานต์ ซึ่งจะตรงกับช่วงกลางเดือนเมษายน ฤดูใบไม้ผลิของประเทศจีนพอดี อากาศเริ่มอุ่นขึ้น จึงสาดน้ำได้ มิเช่นนั้นคงยืนแข็งเพราะความหนาวกันบ้าง โดยการสาดน้ำสงกรานต์ของชาวไต ยังมีความหมายในการชำระล้างสิ่งที่ไม่ดี เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสิ่งดีดีในชีวิตอีกด้วย ดังนั้น ผู้คนจึงมาสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
ผู้เขียนเม้าท์มอยเทศกาลสงกรานต์ในแดนมังกรไปพอหอมปากหอมคอแล้ว ขอส่งท้ายควันหลงเทศกาลนี้ ด้วยรวมรูปภาพเทศกาลสงกรานต์ชาวไตในจีน ที่ผู้อ่านหลายท่านส่งกระแสจิตมาบอก “อยากเห็นแล้วสิว่าสงกรานต์ของพวกเขา จะเหมือนกับพวกเราคนไทยหรือไม่”
มาดูทางฟากสงกรานต์นานาชาติเต๋อหง ของชาวไตในอำเภอหมาง เขตปกครองตนเองชนชาติไตและคะฉิ่น เต๋อหง มณฑลยูนนาน กันบ้าง คราวนี้มาแบบเป็นคลิป