ไชน่าเดลี่ สื่อจีนรายงาน เวลา 19.04 ของวันพุธ (12 เม.ย.) จีนได้ส่งดาวเทียมสื่อสาร “สือเจี้ยน 13” ซึ่งเป็นฐานปฎิบัติการด้านการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพที่สุดของประเทศจีนขึ้นสู่อวกาศ จากสถานีส่งดาวเทียมซีฉาง เมืองซีฉาง มณฑลซื่อชวน (หรือเสฉวน) ได้เป็นผลสำเร็จ
ดาวเทียมดังกล่าวซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่ง “ลองมาร์ช 3บี” (Long March-3B) ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Space Technology-CAST) มีน้ำหนัก 4.6 เมตริกตัน ได้รับการติดตั้งระบบสื่อสารระบบ KA -band ทำให้สามารถส่งข้อมูลได้มากถึง 20 กิกกะไบต์ต่อวินาที และสามารถส่งวิดีโอความละเอียดสูงกลับมาบนโลกได้
“จ้าว เจี้ยน” เจ้าหน้าที่ด้านงานอวกาศของสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (the State Administration of Science, Technology and Industry for National Defense) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการด้านอวกาศของจีนระบุว่า ศักยภาพในการส่งข้อมูลของดาวเทียมดวงใหม่มีมากกว่าดาวเทียมดวงเก่าทุกดวงรวมกันเสียอีก นอกจากนี้ ดาวเทียมดวงใหม่ยังจะถูกใช้ในการทดลองระบบการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์จากอวกาศมายังพื้นโลกอีกด้วย
“จ้าว จื้อเฉิง” นักวิจัยของสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนระบุว่า ดาวเทียมดวงใหม่ใช้ระบบการขับเคลื่อนด้วยแรงไฟฟ้าหลังจากที่เข้าสู่วงโคจรแล้ว ทำให้สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงเคมีที่ต้องขนขึ้นสู่อวกาศได้อย่างมีนัยะสำคัญ ซึ่งดาวเทียมดังกล่าวจะมีรัศมีครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศจีน และจะช่วยให้ผู้คนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตบนรถไฟความเร็วสูงได้
ทั้งนี้ ดาวเทียมดังกล่าวจะทำงานอยู่บนวงโคจรค้างฟ้า (geostationary orbit) ซึ่งสูงเหนือโลก 36,000 กิโลเมตร เป็นเวลานาน 15 ปี