xs
xsm
sm
md
lg

ดูแลผู้อยู่ รู้คุณผู้จากไป สืบวันเช็งเม้งลูกหลานจีนยุคนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนเดินทางมาทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษผู้จากไปในเหตุแผ่นดินไหวถังซาน 2519  ที่อนุสรณ์สถานถังซาน มณฑลเหอเป่ย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 (ภาพซินหวา)
ปักกิ่ง, 3 เมษายน (ซินหวา) - เป็นเวลากว่า 2,500 ปีแล้ว ที่เทศกาลกราบไหว้บรรพบุรุษ (เทศกาลเชงเม้ง) ได้รับการสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติกันมาตลอดชั่วอายุคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยเป็นโอกาสสำคัญในการรำลึกถึงผู้ล่วงลับ และแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่หัวใจของประเพณียังคงดำรงรักษาไว้ตลอดมา

ซื่อ ยู่คุน ชาวเหอหนาน บินข้ามฟ้าจากเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ กลับมายังเมืองไคเฟิง กล่าวว่า เชงเม้งสำหรับเขา เป็นวันสำคัญพอๆ กับวันตรุษจีน

ซื่อ ยังจำวันเช็งเม้งสมัยที่เค้ายังเป็นเด็กได้ดี เขากับพี่น้องวัยเดียวกันจะสนุกไปกับการพับกระดาษเงินกระดาษทอง ขณะที่พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่กุลีกุจอ จัดของ วางแผนเดินทางอันเป็นวันหยุดหลายวัน

"ที่สุสาน พวกเราตัวเล็กๆ คุกเข่ากราบไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นก็มีงานหลัก คือช่วยเผากระดาษเงินกระดาษทองลอยขึ้นสวรรค์"

ซื่อ ย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษเมื่อ 7 ปีก่อน และการไปอยู่อาศัยต่างถิ่น กลับยิ่งทำให้คิดถึงรากเหง้า บรรพบุรุษในบ้านเกิด วันเช็งเม้งจึงมีคุณค่าความหมายมากในความรู้สึกของเขา

จาง เซิงหลิน พนักงานการรถไฟเกษียณ ชาวชิ่งไห่ กล่าวถึงวันเช็งเม้งว่า ทุกๆ ปี เขาจะเอาสุราไปเซ่นไหว้หน้าสุสานของเพื่อนๆ ผู้จากไป นั่งดื่มและคุยกันเช่นเคยเป็นมา

จาง วัย 62 ปี เริ่มทำงานสร้างทางรถไฟตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ขุดอุโมงค์ลอดภูเขากล่าวว่า "ผมยังคิดถึงเพื่อนๆ พวกเราใช้เวลาขุดอุโมงค์ลอดภูเขากันอยู่ 3 ปี บางคนเสียชีวิตจากน้ำท่วมระหว่างก่อสร้าง หรือหินถล่ม"

ซื่อ และจาง กับชาวจีนหลายพันคน ต่างยังคงรักษาคุณค่าความหมายของประเพณีเช็งเม้ง อย่างมั่นคง
สุสานในเมืองฉางซา เมืองเอกของมณฑลเหอหนาน เต็มไปด้วยผู้คน และพิเศษกว่านั้นคือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือจัดการงานประเพณีนี้ ทั้งในการจราจร ตลอดจนการดูแลด้านอื่นๆ อย่างครบวงจร

หยาง ซู่ว์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่อาสาสมัครฯ ตลอดระยะเวลา 10 วันของเทศกาล กล่าวว่า เธอสัมผัสได้ถึงความพิเศษของเทศกาลนี้

หยาง กำลังศึกษา ที่วิทยาลัยอาชีวะ สถาบันฝึกอบรมด้านการจัดการพิธีกรรม ฌาปนกิจ เมืองฉางซา สถาบันฯ แห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยเป็นสถาบันแห่งแรกที่จัดการเรียนการสอนวิชาฌาปนกิจอย่างเป็นทางการของจีน โดยในช่วงแรกๆ นักศึกษายังไม่เต็มใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับวิชาเอกของพวกเขา แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว

"ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงพัฒนาไป ความเป็นมนุษย์นิยมยิ่งมีความหมาย และการจัดการงานศพในอดีต หลายๆ สิ่งกำลังพ้นสมัยไป สังคมจำเป็นต้องการบุคลากรอาชีพอย่างพวกเรา"

ซู่ว์ กล่าวว่า ในปี 2559 มีตำแหน่งงานผู้ดูแลฌาปนกิจถึง 900 ตำแหน่ง ขณะที่มีผู้สำเร็จการศึกษาโดยตรงเพียง 200 คน ประมาณได้ว่า บัณฑิตคนหนึ่งมีทางเลือกถึง 4 แห่ง

เสี่ยว หยาง (นามสมมติ) เป็นนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่ย้ายสาขามาจากโรงเรียนธุรกิจ หยาง กล่าวว่า ตนเองเคยรู้สึกกังวล แต่ยิ่งได้เรียนรู้ ยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งดูแลแก่กันในวัฏฏะชีวิต

ที่เมืองเถาเซิง ในหนานชาง มณฑลเจียงซี ชาวบ้านอย่าง เสวียง โหวจื่อ กับเพื่อนบ้านอีกราว 300 คน จะโดยสารรถบัสมายังสุสาน พร้อมดอกไม้มากมาย

"เราสวมใส่ชุดพร้อมลุย เพื่อไม่ต้องกังวลความสมบุกสมบันในการเดินทางและจัดประเพณีซึ่งมีทั้่งไฟ และควัน" เสวียง กล่าวฯ

หลี่ เสวียงหยวน หัวหน้าชุมชนฉวนซี ในเมืองหลินยี่ มณฑลซานตง กล่าวว่า การเผาเครื่องใช้ไม้สอยกระดาษ ไม่สามารถมีผลกับผู้ตายได้ แต่การดูแลพ่อแม่ให้ดูขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ต่างหากที่สำคัญ และเพื่อส่งเสริมให้คนปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง หลี่ในฐานะหัวหน้าชุมชนฯ ได้เขียนป้ายแสดงหน้าที่ที่ดีของชาวบ้านซึ่งรวมถึงความกตัญญู ซึ่งสิ่งนี้จะไม่มีวันเปลี่ยนแม้กาลเวลาผ่านไปกี่พันปี กี่คนชั่วรุ่นก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น