โดย พชร ธนภัทรกุล
วันเช็งเม้งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของลูกหลานต่อพ่อแม่ปู่ย่าผู้ล่วงลับด้วยความเชื่อว่า การกราบไหว้ดวงวิญญาณสองดวงของบรรพชน ก็เพื่อบูชาดวงวิญญาณทางจิตหรือหุน (魂 -- spirit soul) ที่ไม่มีวันเสื่อมสลายอยู่บนสวรรค์ และรักษาดวงวิญญาณทางกายหรือโพ่ (魄 - animal soul) ที่อาจเสื่อมสลายให้อยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน อันเป็นอิทธิพลจากคำสอนของลัทธิเต๋าในเรื่องชี่กับเต๋อ (气和德) อันเป็นพลังธรรมชาติ และเต้า (道) หรือกฎธรรมชาตินั้น ได้รับการเพิ่มเติมเนื้อหาด้านจริยธรรมในการครองตนครองเมืองจากเจี้ยจื่อทุย (介子推) ดูบทกวีนิพนธ์ของเขาได้ในบทความ “เรี่องเล่าวันเช็งเม้ง” ของสัปดาห์ที่แล้วในหน้าเว็บนี้) ทำให้วันเช็งเม้งมีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ประวัติศาสตร์ยาวนาน ก็ย่อมมีเรื่องเล่ามากมาย ขนบประเพณีต่างๆในอดีตของจีนที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน นอกจากจะสืบย้อนไปในอดีตได้ยาวนานแล้ว ประเพณีเรื่องเดียวกันก็ยังมักมีตำนาน เรื่องเล่าต้นกำเนิดและความเป็นมาหลากหลายแตกต่างกันด้วย เรื่องการปัดกวาดทำความสะอาดบูรณะหลุมศพและเซ่นไหว้บรรพชน ชาวจีนเรียกว่า “เส่ามู่” (扫墓) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญในวันเช็งเม้ง ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีเรื่องเล่าถึงต้นกำเนิดแตกต่างกันทั้งกาละ เทศะ และตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น
บางเรื่องบอกว่า พระเจ้าเล่าปังปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น คือผู้ให้กำเนิดการบูรณะหลุมศพบรรพชน เมื่อพระองค์ได้ขอต่อสวรรค์ เสี่ยงโปรยริ้วกระดาษหาหลุมศพบุพการีที่พังเสียหายจนพบ และเป็นที่มาของการวางริ้วกระดาษหลากสีบนหลุมศพโดยเอาก้อนดินทับไว้ เพื่อแสดงว่า หลุมศพนี้มีคนมาเซ่นไหว้แล้ว กลายเป็นที่มาของคำว่า “กว้าจื่อ” (挂纸)
บางเรื่องบอกว่า พระราชโองการ “อนุญาต” ให้ราษฎรบูรณะทำความสะอาดหลุมศพบรรพชนตนของพระเจ้าเสียนจงแห่งราชวงศ์ถัง คือจุดเริ่มต้นของพิธี “เส่ามู่” ของชาวจีน
แต่เรื่องราวของเจี้ยจื่อทุย ทำให้เรารู้ว่า พิธี “เส่ามู่” นี้น่าจะมีที่แคว้นจิ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป นั่นหมายความว่า ชาวจีนมีประเพณี “เส่ามู่” กันมาก่อนราชวงศ์ฮั่น 500-600 ปี และก่อนราชวงศ์ถัง 1,300-1,400 ปี หรือนับจนถึงปัจจุบันก็เกือบ 3,000 ปี
แม้จะเป็นประเพณีเดียวกัน แต่ในแง่รายละเอียดของพิธีกรรมแล้ว ก็แตกต่างกันไม่แพ้เรื่องเล่า และคงไม่สามารถจาระไนรายละเอียดพิธีกรรมของคนจีนแต่ละกลุ่มแต่ละท้องถิ่นได้ทั้งหมด หากแต่ในกรอบกว้างๆแล้ว ก็ไม่ต่างกันนัก เช่น ไม่ต้องทำพิธี “เส่ามู่” ในวันเช็งเม้งแรกที่เสียชีวิต กล่าวคือไม่ว่าจะเสียชีวิตก่อนหรือหลังวันเช็งเม้ง ก็ไม่ต้องทำพิธี “เส่ามู่” ในวันเช็งเม้งของปีแรก จนกว่าจะครบรอบปีของการเสียชีวิตแล้ว จึงจะทำพิธี “เส่ามู่” ในวันเช็งเม้งได้ทุกปี
ขั้นตอนพิธี “เส่ามู่” มี 3 ขั้นตอน
1. วางริ้วกระดาษหลากสี (แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ หรือจะใช้แค่สีเหลืองและขาวก็ได้) บนและรอบหลุมศพ แล้วหาของหนักมาทับไว้ไม่ให้กระดาษปลิวหาย เพื่อแสดงว่าลูกหลานมาไหว้แล้ว
2. ถมดินใหม่ ตัดหญ้าวัชพืช และปลูกหญ้าใหม่
3. จัดวางของเซ่น เช่น เป็ด ไก่ เนื้อหมู ปลาหมึกศอก ไข่ไก่ ข้าวสวย อาหารปรุงสุกต่างๆ ของไหว้เช่น ธูป เทียนจีน กระดาษเงินกระดาษทอง เหล้า น้ำชา ผลไม้ ขนมก้วย ขนมเปี้ย ขนมโก๋ จำนวนถ้วยเหล้าขึ้นอยู่กับว่าต้องเซ่นไหว้บรรพชนกี่ท่าน และต้องจัดชามข้าวกับตะเกียบในจำนวนที่เท่ากันด้วย ขั้นตอนการไหว้เมื่อจัดวางของไหว้ของเซ่นเรียบร้อยแล้วคือ จุดเทียน รินเหล้า (น้ำชา) จุดธูปสามดอก ไหว้บอกกล่าวและขอพรจากบรรพชน จุดธูปไหว้เช่นนี้สามรอบ รอบสุดท้ายรอให้ธูปหมดไป 1/3 แล้ว จึงยกเครื่องกระดาษขึ้นไหว้เป็นการบอกลา แล้วนำไปเผา เทเหล้าที่ไหว้แล้วลงบนเถ้าเครื่องกระดาษ เป็นอันเสร็จพิธี (หมายเหตุ ก่อนเซ่นไหว้บรรพชน ต้องเอาของไหว้ต่างหากอีกหนึ่งชุดไปไหว้เจ้าที่หรือ “ตี่จู้เอี๊ย” (地主爷) เป็นการขออนุญาตท่านก่อน)
สำหรับชาวแต้จิ๋ว การไปปัดกวาดทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆหลุมศพของบรรพชน ถือเป็นหัวใจสำคัญตามประเพณีเช่นกัน ชาวแต้จิ๋วจะเรียกพิธี “เส่ามู่” นี้ว่า ก๊วยจั้ว (卦纸) ต่อมาเรียกผิดเพี้ยนเป็น 过纸เพราะสองคำนี้ออกเสียงว่า “ก๊วยจั้ว” เหมือนกัน ที่เรียก เจี่ยพุ๊ง (上坟) ก็มี ชาวจีนเขาไม่เรียกว่าไปเช็งเม้งเหมือนที่คนทั่วไปเรียกกันด้วยความเข้าใจแบบผิดๆ
ในอดีต ชาวแต้จิ๋วมีพิธี “ก๊วยจั้ว” กันในวันตังโจ่ย(冬至) ด้วย เรียก ว่า ก๊วยตังจั้ง (卦冬纸) ส่วนพิธี “ก๊วยจั้ว” ในวันเช็งเม้ง จะเรียกว่า “ก๊วยชุงจั้ว” (卦春纸)
ปกติแล้ว ชาวแต้จิ๋วมักไป “ก๊วยจั้ว” กันในช่วง 3 วันก่อนหรือหลังวันเช็งเม้ง แต่ส่วนมากมักไปตรงวันเช็งเม้งพอดี หากแต่ทุกวันนี้ ชาวแต้จิ๋วในไทยมักไป “ก๊วยจั้ว” กันก่อนวันเช็งเม้งเป็นสัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่มักหนาแน่นติดขัดในวันนั้น
สำหรับชาวจีนในไทย ไม่ต้องไปปัดกวาดทำความสะอาดหลุมศพบรรพชนกันแล้ว เพราะมีการว่าจ้างคนดูแลสุสานให้ทำความสะอาด ปลูกหญ้า กันไว้ให้เรียบร้อยล่วงหน้าตามข้อตกลงก่อนหน้านี้แล้ว ก็เหลือแค่เตรียมของเซ่นไหว้ และสีที่จะทาตัวอักษรจีนบนป้ายหน้าหลุมศพ
พอไปถึงสุสาน ให้ไปไหว้เจ้าที่หรือโทวตี่เอี๊ย (土地爷) ก่อน จากนั้น ปัดกวาดรอบๆหลุมศพให้สะอาดเรียบร้อยอีกครั้ง แล้วทาสีชื่อและตัวอักษรจีนอื่นๆที่สลักอยู่บนป้ายหน้าหลุมศพ โดยใช้สีเขียวทาเฉพาะชื่อของบรรพชน ส่วนตัวอักษรจีนอื่นๆ ให้ใช้สีแดงทา การทาสีใหม่นี้ เรียกว่า จวงปุ่งปีหยี่ (妆坟碑字)
ในอดีต สำหรับตระกูลใหญ่ จะต้องมีใครคนหนึ่งรับผิดชอบเป็นแม่งานในเรื่องนี้ทุกปี โดยให้พี่น้องที่เป็นผู้ชายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเตรียมของเซ่นไหว้ โดยมีชุดไหว้ที่เป็นพวกสัตว์ เรียกกันว่า แซโบ่ย (牲礼) เป็นหลัก โดยมากจะจัดเป็นชุดซาแซ (三牲) มีไก่ ห่าน เป็ด ที่ชาวแต้จิ๋วเรียกกันติดปากว่า โกย หง่อ อะ (鸡鹅鸭) แต่ทุกวันนี้ ไม่ค่อยพบเห็นห่านในชุดซาแซแล้ว อาจเป็นเพราะห่านมีราคาแพงหรืออาจไม่เป็นที่นิยมกันก็ได้ ดังนั้น หลักๆจึงเป็นเป็ดและไก่ เสริมด้วยปลา เนื้อหมูชิ้นใหญ่ ปลาหมึกศอก กุ้ง ปู อย่างใดอย่างหนึ่ง และที่ใช้ไข่ต้มแทนเป็ดหรือไก่ก็มี
นอกจากชุดซาแซแล้ว ยังมีซาลาเปา (包子) ขนมก้วย (粿品) เช่น ฮวกก้วย (发粿) แบะก้วย (麦粿) และจูชังเปี้ย (珠葱饼) ที่เหลือก็มีน้ำชา เหล้า ผลไม้ ดอกไม้สด รวมทั้งอาหารอื่นๆที่ผู้ตายตอนยังมีชีวิตอยู่เคยชอบกินด้วย ซึ่งแล้วแต่จะจัด และที่ขาดไม่ได้สำหรับหลายๆครอบครัว คือหอยแครงลวก
เมื่อจัดวางของไหว้เรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ที่เป็นแม่งาน ซึ่งมักมีอาวุโสที่สุดในครอบครัวหรือตระกูลเป็นคนนำจุดธูปเทียนไหว้ ปักธูปแล้วคุกเข่าไหว้คำนับสามครั้ง ทำเช่นนี้สามรอบ (ดูรายละเอียดในย่อหน้า ขั้นตอนพิธี “เส่ามู่” ข้างต้น)
หลังเสร็จพิธีไหว้แล้ว ทุกคนจะกินหอยแครงลวกสดๆกันให้หมด แล้วเอาเปลือกหอยแครงวางกระจายบนหลุมศพ เพื่อแสดงว่าได้ร่วมทำประโยชน์ด้วยกัน เรียกว่า หะถั่ง (合赚) เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมีศรีสุข ทั้งนี้เพราะชาวแต้จิ๋วเรียกเปลือกหอยแครงว่า ฮัมคักจี๊ (蚶壳钱) ที่แปลว่า เงินเปลือกหอยแครง การเอาเปลือกหอยแครงไปวางบนหลุมศพ จึงเสมือนหนึ่งวางเงินไว้ให้บรรพขนใช้ในยมโลก
จากนั้น ทุกคนจะร่วมกินข้าวกันตรงหน้าหลุมศพ ถ้ามีปลา ต้องเก็บปลาไว้ให้ญาติที่เป็นคนทำอาหาร เท่านั้น คนอื่นห้ามกิน นี่เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวแต้จิ๋วบางส่วน
ถ้ามีหลุมศพบรรพชนหลายแห่ง ก็ให้ไปเซ่นไหว้ยังหลุมศพบรรพชนที่ใกล้ชิดที่สุด ส่วนที่อื่นๆ ให้ไปวางกระดาษทับไว้ก็พอ ไม่ต้องจัดเซ่นไหว้ทุกแห่ง
การมีลูกหลานไป “ก๊วยจั้ว” กันมากๆ ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีคนไปน้อยลงเรื่อยๆทุกปี ก็จะกลายเป็นภาพที่สะท้อนถึงความเสื่อมทรุดของตระกูล ดังนั้น แม้ลูกหลานจะอยู่กันไกลแค่ ก็จะพยายามกลับบ้านมา “ก๊วยจั้ว” กัน เพื่อแสดงถึงความมีกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชน และคาดหวังให้ตระกูลครอบครัวมีแต่ความรุ่งเรืองสืบไป
ชาวจีนมักมีพิธีรำลึกถึงพวกเขาเหล่านั้นในแบบวิธีของตนผ่านวันเช็งเม้ง หากว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในพิธีกรรมที่ต่างกันของคนทั่วโลกคือ ผู้อยู่ข้างหลังได้เรียนรู้และตระหนักรู้ในหน้าที่และจริยธรรมที่ตนพึงมีนั่นเอง