xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-จีน จับมือผุด "วิทยาลัยยางพาราไทยจีน" เชื่อม ม.อ.-ม.เทคโนโลยีชิงเต่า ผลิตบุคลากร ยกระดับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ และนายหม่า เหลียนเซียง อธิการบดี ม.เทคโนโลยีชิงเต่า
MGR Online – ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีน ลงนามความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ม.เทคโนโลยีชิงเต่า ผลักดัน “วิทยาลัยยางพาราไทยจีน” ยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทย พร้อมผลิตหลักสูตรร่วมสองชาติ ด้านจีนตั้ง “พินิจ จารุสมบัติ” เป็นอธิการบดีกิตติมศักดิ์วิทยาลัย

วันนี้ (21 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่า มณฑลซานตง ประเทศจีน มีการลงนามความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสภาวัฒนธรรมไทยจีน โดยนายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ และนายหม่า เหลียนเซียง อธิการบดี ม.เทคโนโลยีชิงเต่า เพื่อร่วมมือผลักดันวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน (泰中国际橡胶学院) ผลิตบุคลากรรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา โดยมีสักขีพยานเป็นบุคคลสำคัญประกอบไปด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายหลิว ซิงหยุน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหาวิทยาลัยชิงเต่า นางวรพรรณี ดำรงมณี รองกงสุลใหญ่ ณ นครชิงเต่า
นายหลิว ซิงหยุน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหาวิทยาลัยชิงเต่า
นายหลิว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหาวิทยาลัยชิงเต่าระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างไทยจีน ตามยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (一带一路) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่จะทำให้ภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีความร่วมมือกันมากขึ้น มีสันติสุข มีความรุ่งเรือง ช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความยากจน ในเส้นทางการค้าทางบกและทางทะเล

นายพินิจกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เพียงแค่คิดก็เป็นกำไรแล้ว โดยเป็นกำไรของทั้งสองประเทศ เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของทั้งสองประเทศคือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตวัตถุดิบด้านยางพาราอันดับหนึ่งของโลก คือ ปีหนึ่งประมาณ 4 ล้าน 2 แสนตัน ส่วนประเทศจีนก็เป็นประเทศผู้ใช้วัตถุดิบยางพาราอันดับหนึ่งของโลกเช่นเดียวกัน ซื้อจากประเทศไทยปีหนึ่งประมาณ 2 ล้าน 6 แสนตัน หรือประมาณร้อยละ 60 ของการใช้ของประเทศจีน ดังนั้นเมื่อมาพบกันจะเป็นวินวินทั้งสองฝ่าย” ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนระบุ และว่า“ผมคิดไม่ถึงว่าจากยุทธศาสตร์ประชารัฐของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงวันนี้จะถูกพัฒนามีรูปธรรมเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางภาคตะวันออกของจีน วันนี้โรงงานยางรถยนต์ที่อยู่ในมณฑลซานตง และมณฑลอื่นๆ ไปลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย 4-5 โรงงาน”

นายพินิจกล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือระหว่าง ม.สงขลานครินทร์กับ ม.เทคโนโลยีชิงเต่านั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าการไปมาหาสู่ระหว่างสองสถาบันนั้นจะเป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่าในอดีตมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางทางเรือ ซึ่งเมืองทั้งสองล้วนแล้วแต่เป็นเมืองท่า ขณะที่หากเดินทางทางเครื่องบินระหว่างสองเมืองก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

อนึ่ง วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา โดยวางแผนจะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมวัสดุโพลิเมอร์, วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมอัตโนมัติ ในสองรูปแบบคือ แบบปกติ เรียนที่จีนอย่างเดียวเป็นเวลา 4 ปี และแบบ 2+2 คือเรียนที่ ม.สงขลานครินทร์ 2 ปี และ ม.เทคโนโลยีชิงเต่า 2 ปี โดยแบบ 2+2 ผู้จบการศึกษาจะได้รับปริญญาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยในสองประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดรับนักศึกษาในระดับปริญญาโทอีกด้วย โดยแบ่งเป็นสองรูปแบบเช่นกัน คือแบบปกติ และแบบ 1+1 (เรียนที่ไทย 1 ปี และเรียนที่จีน 1 ปี)

ในงานนี้ทางมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่ายังได้แต่งตั้งนายพินิจเป็นอธิการบดีกิตติมศักดิ์ของวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีนอีกด้วย โดยจะมีการรับนักศึกษาชุดแรกในปี 2560 นี้

ข้อมูลจาก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เมื่อปี 2556 ระบุว่า ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดยางพาราธรรมชาติของจีนมากกว่าครึ่งของการนำเข้าทั้งหมด โดยในปี 2555 ไทยสามารถส่งออกไปยังจีนประมาณ 1.1 ล้านตัน รองลงมาเป็นการส่งออกยางสังเคราะห์ปริมาณ 1.4 ล้านตัน ทั้งนี้ปริมาณที่ไทยส่งออกยางพาราไปยังจีนนั้นคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จีนจะมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงปีละ 11.5 ล้านตัน เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของผลผลิตยางพาราโลก โดยจีนไม่มีมาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้ายางธรรมชาติ แต่ผู้นำเข้าต้องเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล โดยที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการคาเสรีอาเซียน-จีน เนื่องจากจีนจัดให้ยางธรรมชาติเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหว จึงมีการเก็บอัตราภาษีนำเข้ายางธรรมชาติ ยางแผ่นรมควันและยางแท่งอยู่ที่ร้อยละ 20 น้ำยางข้นเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 7.5 อีกทั้งการนำเข้ายางทุกประเภทจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 17
กำลังโหลดความคิดเห็น