xs
xsm
sm
md
lg

รสชารสพระธรรม สู่ชาดีจากวัดดัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีหลี่โฝฉา ที่มาภาพ http://www.puer10000.com/uploads/allimg/140516/9-140516113J52S.jpg
โดย พชร ธนภัทรกุล

ในช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าไปในจีนตั้งแต่พุทธศตวรรษแรกเป็นต้นมา พระสงฆ์จีนก็เริ่มมีบทบาทอย่างเงียบๆ แต่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการผลักดันส่งเสริมให้ชาวจีนนิยมดื่มชากัน จนน้ำชากลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในหมู่ชาวจีนอย่างกว้างขวาง กระทั่งว่ากลายเป็นวัฒนธรรมชาที่แทรกตัวอยู่ในขนบธรรมเนียม ประเพณีนิยม ตลอดถึงวิถีชีวิตของชาวจีนมาจนถึงทุกวันนี้

ในอดีต พระสงฆ์จีนจะปลูกต้นชาไว้ในบริเวณวัด บำรุงรักษา เก็บใบ ตากใบ คั่วใบ บ่ม/รม/อบใบ และอื่นๆ เพื่อให้ได้ใบชาไว้ต้มหรือชงดื่ม เหตุเพราะน้อยนักที่พระสงฆ์จีน จะออกมาบิณฑบาตร ขอข้าวขอน้ำชาวบ้าน ทุกอย่างต้องพึ่งตัวเอง รวมทั้งเรื่องชาด้วย

ว่าไปแล้ว พิธีชา (茶道) ของจีนก็เริ่มมาจากวัดพุทธในจีนนี่แหละ เรียกว่า หลี่โฝฉา (礼佛茶) หมายถึงชาถวายพระ ซึ่งก็คือการสักการะพระพุทธและพระเถระผู้ใหญ่ แล้วค่อยนำไปสู่การจัดน้ำชาต้อนรับแขกผู้มาเยือนและศาสนิกชนผู้มาประกอบศาสนกิจที่วัด
พระจีนกำลังคัดใบชา ที่มาภาพ http://www.xincha.com/p/411547
ขั้นตอนของพิธีนี้คือ พระสงฆ์และแขกเข้าห้องพิธี จุดธูปยกขึ้นจรดศีรษะ ไหว้พระพุทธสามจบ พระสงฆ์ประพรมน้ำมนตร์ สนทนาธรรมและนั่งสมาธิ ล้างมือให้สะอาด ลวกถ้วย และชงชา จัดน้ำชาถวายพระพุทธ ถวายพะเถระสังฆาจารย์ และรับรองแขก แขกพนมมือไหว้ แต่ไม่ต้องยื่นมือไปรับถ้วยน้ำชา ถ้วยน้ำชาจะถูกจัดวางบนโต๊ะ พระสงฆ์ฉันน้ำชา แขกดื่มน้ำชา เสร็จแล้วเก็บสำรับชา กล่าวลา และส่งแขกกลับ

ทำไมถึงใช้น้ำชาในระหว่างสนทนาธรรมและนั่งสมาธิ ทำไมไม่ใช้เครื่องดื่มชนิดอื่น มันมีคำกล่าวในวงสนทนาธรรมว่า

“ถ้วยแรกแก้ง่วง ถ้วยสองเรียกสติ ถ้วยสามบรรลุธรรม”

จึงอุปมาเป็นว่า “รสชา รสพระธรรม รสเดียวกัน”

ตรงนี้อธิบายได้ว่า...

พุทธศาสนาจีนเป็นฌานนิกาย วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์จีน คือการนั่งสมาธิเข้าฌาน ซึ่งต้องปล่อยกายใจให้ “ผ่อนคลาย” ปล่อยจิตให้ว่าง แต่ขณะเดียวกัน ต้องนั่งนิ่งไม่ไหวติง คอตั้งหลังตรง ไม่เอนกายพิงกับสิ่งใด และปกตินั่งสมาธิเข้าฌานแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาถึงสามเดือน วัตรปฏิบัติที่เข้มงวดกับระยะเวลาที่ทอดยาวเช่นนี้ ทำให้พระสงฆ์จีนที่สูงวัยมักทนไม่ไหว ส่วนพระสงฆ์ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มก็มักง่วงเหงาหาวนอน และถ้าเป็นช่วงหลังฉันอาหารอิ่มด้วยแล้ว ก็อาจมีปัญหาเรื่องการย่อยอาหารตามมาด้วย
ถ้วยชาบนโต๊ะในวัด ที่มาภาพ http://www.xincha.com/p/411547
น้ำชาสามารถเข้ามาแก้อาการง่วงนอนและปัญหาการย่อยอาหารได้ ศึกษาพระธรรมไป จิบน้ำชาไปด้วย นอกจากได้แก้กระหายน้ำ แก้ง่วง ยังช่วยกระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวพร้อมทำงานอยู่ตลอดเวลา เช่นนี้ ต่อให้ต้องศึกษาพระธรรมกันทั้งคืนจนสว่าง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร พระสงฆ์จีนจึงนิยม “จิบน้ำชา ศึกษาธรรม” กัน น้ำชาก็เลยกลายเป็นเครื่องดื่มที่พระสงฆ์จีนนิยมเลือกฉันกัน

การที่ในอดีต พระสงฆ์จีนปลูกชาเอง ทำให้พระสงฆ์จีนกลายเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ต่างๆในเรื่องชา ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ รวมทั้งกระบวนการผลิตใบชา จนมีคำกล่าวว่า

“วัดดังมีชาดี” (名寺出名茶)

วัดจีนมักตั้งอยู่บนป่าเขา ป่าเขานั้นมีต้นชาขึ้นงอกงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีการปลูกชากันในวัดจีน เพราะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบนั่นเอง ทีนี้ปลูกไป คัดพัฒนาสายพันธุ์ชาไปด้วย ก็เลยเกิดมีชาดีๆอยู่ตามวัดต่างๆ ว่ากันตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ (南北朝) มาจนถึงสองราชวงศ์สุดท้ายของจีน คือราชวงศ์หมิงกับราชวงศ์ชิง (明清两朝) หรือเกือบ 1,500 ปีที่เริ่มปรากฏชาดีๆดังๆอยู่ตามวัดจีน และสืบทอดกันมา ชาดังชาดีในสมัยนี้ มีไม่น้อยทีเดียวที่มีต้นกำเนิดมาจากวัดจีน เช่น

ชาเหมิงติ่ง (蒙顶茶) ของเสฉวนนั้น สามารถไล่ย้อนประวัติกลับไปถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นว่า มาจากวัดกานลู่ (甘露寺) เล่ากันว่า พระอาจารย์ผู่เสียน (普贤禅师) เป็นคนปลูกด้วยตัวเอง ชานี้ดีขนาดยกย่องกันว่าเป็นชาเทพ (仙茶)

ชาอูหลง (乌龙茶) ชามังกรดำชื่อดังจากมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน-福建) ก็มีต้นธารมาจากชาบนเขาอู่อี๋ (武夷山) เรียกกันว่า ชาอู่อี๋เอี๋ยน (武夷岩茶) ซึ่งพระที่วัดเทียนซินกวน (天心观) ปลูกกันมานานนม เด่นดังที่สุดคือ ชาต้าหงผาว (大红袍) และยังมีชาอีกสามชนิดที่แยกตามช่วงเวลาเก็บใบที่ต่างกัน คือชาโซ่วซิงเหมย (寿星眉) ชาเหลียนจื่อซิน (莲子心) และชาฟ่งเหว่ยหลงซู (凤尾龙须)

ชาปี้หลัวชุน (碧螺春) ที่โด่งดังของมณฑลเจียงซู เดิมทีชานี้ ชื่อชาสุ่ยเยว่ (水月茶) ตามชื่อวัด ที่ตั้งอยู่บนเขาข้างทะเลไท่หู (太湖) เป็นชาที่ต้องจัดส่งให้ทางราชสำนักมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เป่ยซ่ง (北宋朝) ว่ากันว่า ชื่อ “ปี้หลัวชุน” นี่เป็นชื่อที่จักรพรรดิคังซีตั้งให้หลังจากที่ได้ลิ้มรสชานี้แล้ว
ภาพพระพุทธรูปศิลปะจีน ที่มาภาพ http://www.xincha.com/p/411547
เล่ากันว่า ในช่วงสมัยราชวงศ์หมิง ราวปี ค.ศ. 1567-1572 พระสงฆ์จีนรูปหนึ่ง นามว่า ต้าฟาง เชี่ยวชาญทุกกระบวนการขั้นตอนในการทำใบชา จนผู้คนทั่วไปขนานนามชาของพระรูปนี้ ชาต้าฟาง (大方茶) ซึ่งชาต้าฟางนี่แหละ คือต้นกำเนิดของชาถุนลู่ (屯绿茶) ชาดังจากทางใต้ของมณฑลอันฮุย

ชาหุ้ยหมิง (惠明茶) ชาจากวัดชื่อเดียวกัน เป็นชาดีชาดังจากมณฑลเจ้อเจียง (浙江) เคยคว้ารางวัลเหรียญทองจากงาน World Expo 1915 ที่ปานามามาแล้ว

ชาผู่ถัวโฝ (普陀佛茶) หรือเรียกกันสั้นๆว่า ชาโฝ (佛茶) เป็นอีกชาดังของจีน มีที่มาจากเขาผู่ถัวบนเกาะผู่ถัว ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเจ้อเจียง บนเกาะมีเขาหลายลูกและมีวัดหลายแห่ง อาทิ วัดผู่จี้ (普济寺) ที่สำคัญมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมประทับยืนเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันไปทั่ว ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพุทธสถานสำคัญของจีนด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ จึงเกี่ยวข้องกับพุทธอย่างแนบแน่น ชื่อชาโฝ (佛茶) ก็แปลว่า ชาพุทธ เคยมีความเชื่อกันว่า ชาที่นี่รักษาโรคได้

ชาเซียนเหรินจ่าง (仙人掌茶) เป็นชาจากวัดอวี้ฉวน (玉泉寺) ที่ตั้งอยู่บนเขาชื่อเดียวกัน ในมณฑลหูเป่ย มีเรื่องเล่าถึงพระอาจารย์จงฝู ผู้เป็นหลานอาของหลี่ไป๋กวีคนสำคัญสมัยราชวงศ์ถัง เป็นคนชื่นชอบชาของวัดนี้มาก ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์จงฝูไปที่เมืองจินหลิง (นานกิงหรือหนานจิงปัจจุบัน) ได้เอาชานี้ไปฝากหลี่ไป๋ หลี่ไป๋จึงเขียนหนังสือตอบเรื่องชาอวี้ฉวนถึงพระอาจารย์จงฝู

ชาหลงจิ่ง (龙井茶) ที่เลื่องลือมาจนทุกวันนี้ ก็มาจากชาหลอฮั่นก้ง (罗汉供茶) ที่กวีดังสมัยราชวงศ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ เซี่ยหลิงหยุน (谢灵运) นำมาจากเขาเทียนไถ

นอกจากนี้ยังมีชาดีจากวัดดังอื่นๆอีก เช่น ชาหยุนวู่ (云雾茶) จากวัดตงหลิน (东林寺)บนเขาหลู มณฑลเจียงซี ชาเซียงหลิน (香林茶) จากวัดฝ่าจิ้ง (法镜寺) เมืองหังโจว ชาหวงซานเหมาฟง (黄山毛峰) จากวัดหยุนกู่ (云谷寺) และวัดอื่นๆบนเขาหวงซาน (黄山) มณฑลอันฮุย ชากั่นทง (感通茶) จากวัดในต้าหลี่ มณฑลยูนนาน (หยุนหนาน -云南大理) และอื่นๆ

จากบทบาทที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อบูชาพระพุทธ เพื่อพระสงฆ์จีนฉันเองควบคู่กับการศึกษาธรรม และการเลี้ยงรับรองแขก ชาได้ซึมซับเอาจิตวิญญาณของพุทธไว้ในตัวเอง และยังแพร่จากวัดสู่บ้าน กลายมาเป็นชาดีชาดังหลายต่อหลายชนิดให้คนรุ่นหลังได้ดื่มด่ำมาจนถึงทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น