โดย พชร ธนภัทรกุล
ตู้เหล่ย (杜耒) กวีสมัยแผ่นดินซ่ง ได้เขียนบทกวีนิพนธ์ไว้บทหนึ่ง ที่สะท้อนบทบาทของชาในแง่ที่เป็นสื่อกลางเชื่อมสายใยสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน หรือระหว่างเพื่อนมิตร บทกวีนิพนธ์นั้นชื่อว่า ...
《寒夜》 “คืนฟ้าหนาว”
寒夜客来茶当酒, “คืนหนาวเพื่อนมาหา มีน้ำชามาแทนเหล้า
竹炉汤沸火初红; ไผ่สุมไว้ใช้ต่างเตา ไฟแดงเผาน้ำผุดฟอง
寻常一样窗前月, ข้างหน้าต่างเห็นเดือนเด่น เป็นดวงเดิมแลนวลผ่อง
才有梅花便不同。 ดอกเหมยบานงามน่ามอง แลต้องตาหาต่างไป”
宋•杜耒 ตู้เหล่ย
ร้อยกรองบทนี้ อ่านผ่านๆ อาจดูเหมือนกวีของเรากำลังพูดถึงน้ำชา พระจันทร์ ดอกเหมย หรือความหนาวเหน็บและไออุ่นจากไฟในเตา แต่อ่านไปคิดไป กลับรู้สึกได้ถึงมิตรภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษร
ในคืนเดือนหงายอันหนาวเหน็บ กวีของเราซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม ยังไม่ได้หลับ จังหวะนี้เอง ใครคนหนึ่งมาเยือนถึงบ้าน พลันเลิกผ้าห่มออก ลุกจากเตียง ใส่รองเท้า รีบออกมาต้อนรับ โอ้ ...มิตรรักจากแดนไกล ที่จู่ๆก็โผล่มาหาถึงบ้าน ทว่าในบ้านไม่มีเหล้าและกับแกล้มอะไรที่จะเอามาเลี้ยงรับเพื่อนได้ กวีหันไปบอกเด็กรับใช้ให้รีบก่อไฟต้มน้ำชงชา
ณ ลานบ้าน หิมะเกาะจับอยู่ตามกิ่งไม้ จนปลายกิ่งเอนลู่คล้อยต่ำ ในเตามีเปลวไฟแลบเลียออกมาพร้อมสะเก็ดไฟแตกกระเด็นส่งเสียงเปร๊ยะๆ เปลวไฟแดงฉานแผ่ทั้งความร้อนและแสงสว่าง ออกมาไล่ความหนาวและความมืดยามราตรีรอบกายไปสิ้น น้ำต้มใบชากำลังผุดพรายฟองเดือด ยามนี้ ลมสงบ จันทร์กระจ่างอยู่บนฟ้า ดอกเหมยบานเบ่งอยู่บนกิ่งไม้ นี่คือจินตภาพในค่ำคืนนั้นของกวีของเรา
สองเกลอยกถ้วยน้ำชาร้อนอุ่นกรุ่นหอมขึ้นจิบ พลางสนทนากันไปด้วยอย่างออกรส บรรยากาศดูเปี่ยมไปด้วยความสุขใจ หลากล้นด้วยน้ำมิตรน้ำใจ อารมณ์ของกวีในยามนี้ คือกำลังดื่มด่ำกับมิตรภาพที่จู่ๆก็มีมาให้สัมผัส เพราะจันทร์ที่ส่องสว่างบนฟ้า ยังเป็นจันทร์ดวงเดิม ดอกเหมยที่บานเบ่งบนกิ่งไม้ ก็ดูจนชินตา มีเพียงสิ่งเดียวที่ต่างไป นั่นคือเพื่อนในแดนไกลที่เฝ้าคิดถึง ผู้มาเยือนในคืนฟ้าหนาวนี้ และกวีก็ได้กลั่นอารมณ์ความรู้สึกผูกพันกับมิตรภาพนี้ ออกมาเป็นบทร้อยกรองดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นมิตรภาพที่แสนงดงามชวนฝันของเหล่าปัญญาชนจีนโบราณ และเสพสำราญกับมิตรภาพนี้ ด้วยการจิบน้ำชาอุ่นๆ แลช่างเรียบงามยิ่ง
บทร้อยกรองนี้สะท้อนว่า การจัดน้ำชารับแขก ถือเป็นมารยาทอันดีงามในการเข้าสังคมของชาวจีนมาแต่โบราณ แฝงไว้ด้วยนัยแห่งความนับถือต่อกัน
จริงๆแล้ว มารยาทอันดีงามนี้ มีมาตั้งแต่สมัยของขงจื๊อ เมื่อขงจื๊อถามว่า
“เมื่อมีมิตรจากแดนไกลมาเยือน ใยไม่ยินดีดอกหรือ”
ชนชั้นนำและเหล่าปัญญาชนโบราณของจีนตอบคำถามของขงจื๊อด้วยการยกน้ำชาออกมาเลี้ยงรับรองมิตรทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลด้วยความยินดีปรีดา ปฏิบัติต่อมิตรตามที่ขงจื๊อสอนไว้ คือ “มีรัก มีน้ำใจ มีมารยาท” (仁义礼)
ในสมัยแผ่นดินถังและแผ่นดินซ่ง เหล่ากวีนักเขียนต่างพากันเขียนกลอนแต่งเพลง พรรณนาถึงชากัน จนทั้งแผ่นดินจีนกลายเป็น ”แดนกวี แดนชา” ไป
นอกจากบทบาทต้อนรับขับสู้มิตรสหายแล้ว ชายังเป็นของฝากที่อิ่มใจทั้งผู้ให้และสุขใจทั้งผู้รับ ยิ่งเป็นชาที่ฝากมาจากแดนไกล ก็ย่อมซ่อนความรู้สึกระลึกถึงกันอยู่ในนั้นด้วย
ชาไม่เพียงมีบทบาทอยู่ในสังคมวงแคบแค่มวลหมู่ญาติมิตรเท่านั้น แต่ชายังมีบทบาทอยู่ในสังคมนอกบ้านด้วย นั่นคือ ร้านน้ำชา ... สถานที่ที่ชายชาวจีนจะมาชุมนุมพบปะสนทนาสังสรรค์กัน
ไม่ว่าจะเป็นน้ำชาที่บ้านหรือที่ร้าน ต่างก็เป็นเรื่องค่านิยมในสังคม จนกลายเป็นประเพณีและส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จนก่อเกิดเป็น “วัฒนธรรมชา” ที่แทรกตัวเข้าไปในกรอบจารีตประเพณี เช่น การแต่งงาน การไหว้เจ้า
ชาวจีนทางใต้แถบดินแดนหมิ่นหนาน (闽南) เรียกพิธีเจรจาสู่ขอว่า “ฉาหลี่” (茶礼) เรียกการหมั้นหมายว่า “เซี่ยฉา” (谢茶) เรียกพิธีแต่งงานว่า “ติ้งฉา” (定茶) และสุดท้ายเรียกพิธีส่งตัวเข้าหอว่า “เหอฉา” (合茶) หมายเหตุ คำจีนทั้งหมดใช้เสียงจีนกลาง
คำ “ฉา” (茶) ที่ปรากฏอยู่ในแต่ละขั้นตอนของประเพณีการแต่งงาน ตั้งแต่เจรจาสู่ขอ หมั้นหมาย สมรส จนถึงส่งตัวเข้าหอ แปลว่าชา เป็นคำที่ถูกเลือกใช้ในการพูดคุยตกลงกันในเรื่องสินสอดทองหมั้น เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดความรู้สึกเหมือนกำลังต่อรองราคาซื้อขายกันด้วยคำที่ระบุถึงจำนวนเงิน แต่ชาก็ถูกใช้ในพิธีแต่งงานจริงๆ ดังเช่น
ชาวแต้จิ๋วมีการยกน้ำชาในพิธีแต่งงาน เรียกพิธีนี้ว่า “เก้งแต๊” (敬茶จิ้งฉา - จีนกลาง) ในภาษาปากคือ “ขั่งแต๊” ถือเป็นพิธีสำคัญ เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องเข้าพิธีนี้ จึงจะถือว่า ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ
พิธีเริ่มด้วยคู่บ่าวสาวยกน้ำชาให้พ่อแม่ฝ่ายชายก่อน พ่อแม่ฝ่ายชายรับน้ำชามาดื่ม ให้พร ให้ของขวัญและอั่งเปาแก่เจ้าสาว ถ้าของขวัญนั้นเป็นเครื่องประดับ ให้เจ้าสาวใส่ประดับทันที เป็นการแสดงความขอบคุณ จากนั้น ก็ยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆไปตามลำดับอาวุโสจนครบทุกคน เป็นอันเสร็จพิธียกน้ำชา
พิธียกน้ำชาของชาวแต้จิ๋ว เป็นพิธีกรรมที่แสดงว่า พ่อแม่ฝ่ายชายยอมรับหญิงสาวเป็นสมาชิกคนหนึ่งในฐานะสะใภ้ของตระกูล ฐานะนี้สำคัญยิ่งกว่าแค่การเป็นภรรยาของสามี เพราะหลังจากนี้ เธอคือผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลทุกอย่าง รวมทั้งเงินทองค่าจ่ายต่างๆในบ้านแทนแม่สามี พิธียกน้ำชาจึงสำคัญด้วยเหตุผลนี้แหละ
นอกจากนี้ ชายังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีไหว้เจ้าของชาวแต้จิ๋วด้วย ในการไหว้เจ้าในเทศกาลงานตรุษต่างๆ และวาระเซ่นไหว้บรรพชนทุกครั้ง จะต้องมีชาด้วยเสมอ จะชงมาเป็นน้ำชาหรือใช้ใบชาแห้งก็ได้ ถ้าเป็นใบชาแห้ง พอไหว้เจ้าเสร็จ ก็จะรวบรวมใบชาจากทุกถ้วยมาเก็บรวมไว้ แบ่งส่วนหนึ่งมาชงน้ำดื่มกัน บางครั้งเกิดใบชาในบ้านหมดและหาซื้อไม่ทัน ก็ใช้ถ้วยชาเปล่าวางตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์เสมือนหนึ่งเซ่นไหว้ด้วยชาแทน ก็ได้เช่นกัน
หลักฐานชิ้นเก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้ว่า มีการใช้ใบชาเป็นของไหว้ของเซ่น คือบันทึกพระราชโองการของพระเจ้าฉีอู่ตี้ (齐武帝-ค.ศ.448-493) มีว่า
“เมื่อข้าสิ้นแล้ว พึงระวังอย่าเซ่นไหว้ข้าด้วยสัตว์ใหญ่ เพียงจัดหาขนมเปี้ย ใบชา ข้าวสวย สุรา และเนื้อแห้งมาเซ่นไหว้ก็พอ ผู้อยู่บนฟ้า จะยากดีมีจน ก็ล้วนแต่ประสงค์ให้ทำตามนี้กัน”
แต่นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการใช้ชาเป็นของไหว้แน่ เพราะชาวบ้านต่างหากที่เริ่มใช้ชาเซ่นไหว้กันในงานศพมาก่อนหน้านี้นานมากแล้ว พระเจ้าฉีอู่ตี้เพียงหยิบเอาประเพณีนิยมของชาวบ้านมาใช้เท่านั้น
นี่เป็นเพียงบทบาทส่วนหนึ่งของชาเท่านั้น ชายังมีบทบาทอื่นๆอีก แล้วจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป