xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดก้วย ของไหว้จำเป็นของชาวแต้จิ๋ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อั่งถ่อก้วย  ที่มาภาพ http://www.haixiaba.com/n54445.html
ก่อนจะไปคุยเรื่อง “ก้วย” ที่เป็นของไหว้กัน เรามาดูว่าในปีหนึ่งๆ ชาวจีนมีเทศกาลอะไรบ้างที่ต้องไหว้เจ้าไหว้บรรพชนกัน ซึ่งชาวแต้จิ๋วมีคำกล่าวคำหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่พูดกันติดปากว่า สี่-หนี่-โปย-โจ่ย (辭年八節) ซึ่งแยกได้เป็นสองคำ คือ สี่นี้ (辞年) กับโปยโจ่ย (八节)

สี่นี้ แปลว่า (วัน) ส่งท้ายปีเก่า ซึ่งคำจีนกลางใช้ว่าฉูซี (除夕) หมายถึง ปีเก่ามาถึงวันที่จะลาลับไป (旧岁到此夕而去) ดังนั้น ทั้งสี่นี้และฉูซี จึงหมายถึงวันก่อนวันปีใหม่ (จีน)หรือวันก่อนวันตรุษจีน (Chinese New Year’ eve) ทว่าลูกหลานชาวจีนในไทยและคนไทยไม่เรียกอย่างนี้ ไปเรียกกันว่า วันไหว้ โดยดูจากกิจกรรมสำคัญในวันนั้น ซึ่งก็มีพิธีกรรมไหว้เจ้าไหว้บรรพชน (ไหว้ที่บ้าน) เป็นสำคัญ
ไข่เถ่าก้วย ที่มาภาพ http://www.haixiaba.com/n54445.html
ส่วนโปยโจ่ย (八节) หมายถึง แปดเทศกาลสำคัญในรอบปี ได้แก่
วันหง่วงเซียว (元宵节)
วันเช็งเม้ง (清明节)
วันตวนโหง่ว (端午节) หรือวันไหว้ขนมบ๊ะจ่าง
วันตงง้วน (中元节) มักเรียกกันว่า วันศารทจีน
วันตงชิว (中秋节) หรือวันไหว้พระจันทร์
วันเต่งเอี๊ยง (重阳节)
วันตังโจ่ย (冬节) หรือวันไหว้ขนมบัวลอย
วันขุงโจ่ย/วันก้วยนี้ (春节/过年) เราเรียกวันตรุษจีน

วันเทศกาลสำคัญเหล่านี้เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติของชาวแต้จิ๋ว ซึ่งส่วนมากก็ตรงกับที่ชาวจีนส่วนใหญ่ยึดถือกัน มีที่ต่างกันหรือขาดไป ก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่อย่างไรก็ดี ชาวแต้จิ๋วในไทยมีวันเทศกาลน้อยวันกว่าที่บอกมา วันเทศกาลที่หายไปก็มี วันหง่วงเซียว วันเต่งเอี๊ยง ส่วนวันตังโจ่ย พบว่ายังมีบางบ้านให้ความสำคัญอยู่ แต่ก็กำลังเลือนหายไปเช่นกัน (ในที่นี้จะเว้นวันไหว้เจ้าวันอื่นๆไว้ เช่น ทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือนจีน หรือชิวอิกและจับโหงว (初一和十五) รวมทั้งวันสำคัญของศาลเจ้าต่างๆ คงเน้นเฉพาะแต่วันเทศกาลเท่านั้น)
ตีก้วน ที่มาภาพ http://www.haixiaba.com/n54445.html
ชาวแต้จิ๋วจะไหว้เจ้าและไหว้บรรพชนกันในวันเทศกาลเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือสืบต่อกันมาช้านาน ของไหว้ก็ไม่พ้นพวกหมูห่านเป็ดไก่ ผลไม้ และที่ขาดไม่ได้คือ “ก้วย” บางกลุ่มบางชนิด (รวมทั้งขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าข้าวเหนียวอื่นที่ไม่เรียกว่าก้วยด้วย) เรามาดูกันว่า ในแต่ละเทศกาล ชาวแต้จิ๋วใช้ “ก้วย” อะไรบ้างไหว้เจ้า

พอใกล้วันที่ 24 เดือนสิบสองตามปฏิทินจีน ชาวแต้จิ๋วจะเริ่มโม่ข้าวเป็นแป้ง เรียกว่า บีซูหรือบีโข่ย (米糈) เพื่อใช้ทำ “ก้วย” (粿) สารพัดชนิด เตรียมไว้สำหรับไหว้เจ้าในแบบฉบับของชาวแต้จิ๋วเอง

วันที่ 24 เดือนสิบสองเป็นวันที่เทพเจ้าทุกองค์ (บ้างว่าเฉพาะเทพเจ้าเตาไฟองค์เดียว) บนโลกมนุษย์จะกลับขึ้นไปสวรรค์ (ไปรายงานความดีความชั่วในรอบปีของมนุษย์) เรียกว่า วันซิ้งเจียที (神上天) ซึ่งแม้จะไม่จัดเป็นวันเทศกาลสำคัญอะไร แต่เมื่อเทพเจ้าจะกลับสวรรค์ ก็ต้องมีพิธีไหว้ส่งกัน
ก๊าก้วย/ฮวกก้วย ที่มาภาพ http://www.haixiaba.com/n54445.html
ของไหว้ที่จัดมาไหว้จะต่างกันตามแต่ว่ามาจากหมู่บ้านตำบลไหน ส่วนมากแล้วจะใช้แค่น้ำตาลทรายหรือโอวทึ้งหนึ่งจาน (ที่บ้านใช้แค่นี้) บ้างมีข้าวต้มหวาน (ใส่น้ำตาล) บ้างไหว้ด้วยขนมกาลอจี๊ (胶罗糍/剪落糍) ขนมหวานที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ทอดน้ำมัน คลุกน้ำตาลและงาคั่ว เรียกลอทึงจี๊ (落汤钱) ก็มี ชาวแต้จิ๋วจากหมู่บ้านสิ่งจั๊ว หมู่บ้านออกัก และหมู่บ้านโจ่ยเจียม พวกเขาจะไหว้ด้วยอั่งถ่อก้วย (红桃粿) ขนมในกลุ่มขนมกุยช่ายที่บางคนเรียกก้วยท้อ ฮวกก้วย (发粿) ขนมฟู อิ่วจุยก้วย (油锥粿) ทำจากแป้งข้าวเหนียว เป็นลูกกลมข้างในกลวง ลักษณะคล้ายขนมไข่หงส์

ไหว้ส่งเทพเจ้ากลับสวรรค์แล้ว อีกหนึ่งสัปดาห์ ก็จะต้องไหว้เจ้ากันในวันตรุษจีน ไม่ใข่สิ ต้องเป็นวันไหว้หรือวันก่อนวันตรุษจีน ถึงจะถูก ของไหว้ประเภท “ก้วย”ต้องนี่เลย อั่งถ่อก้วย (红桃粿) ของกินรูปผลท้อแบนดูคล้ายรูปหัวใจ เนื้อก้วยสีแดงออกชมพู ไส้ที่ใส่ก็มี กุยช่าย ข้าวเหนียวผัดถั่วลิสงพริกไทย เผือก ถั่วเขียวบด เป็นของกินอยู่ในกลุ่มขนมกุยช่ายนั่นเอง แต่เมื่อจะเอามาไหว้เจ้า ก็ต้องทำให้สวยงาม ด้วยการอัดใส่พิมพ์ขึ้นรูปคล้ายผลท้อ ผสมสีแดงในเนื้อแป้งที่เป็นเปลือกเพื่อสื่อถึงความมีสิริมงคล

นอกจากอั่งถ่อก้วยแล้ว ยังต้องมีตีก้วย (甜粿) หรือขนมเข่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลทราย นึ่งสุก ก๊าก้วย (酵粿) ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาล หมักด้วยเชื้อยีสต์หรือผงฟู เรียกก๊าบ้อ (酵母) ลักษณะเป็นก้อนกลมแบน เนื้อฟูแน่นมีรูพรุน มีสองชนิด คือชนิดหน้าผิวเรียบ กับชนิดหน้าแตก มักนิยมเรียกชนิดหน้าแตกว่า ฮวกก้วย (发粿) และไชเถ่าก้วย (菜头粿) เรียกกันทั่วไปว่า ขนมหัวผักกาด ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมหัวไช่เท้าขูดเส้น ปรุงเครื่อง นึ่งสุก ของไหว้ทั้งสามชนิดนี้ รวมเรียกว่า ซาเจงโจ๊ย (三甑齐) หมายถึงขนมนึ่งครบสามอย่าง
กาลอจี๊ ที่มาภาพ http://www.mrrao.com/article/968714.html
ถัดจากวันตรุษจีนมา 15 วัน เป็นวันหง่วงเซียว หรือวันเทศกาลโคมไฟ แม้ในอดีต ชาวแต้จิ๋วที่เมืองจีนจะเคยไหว้เจ้ากัน ก้วยที่เป็นของไหว้ ก็เป็นชุดเดียวกับที่ใช้ไหว้ในวันไหว้ช่วงตรุษจีน คือ ตีก้วย ฮวกก้วย ไช่เถ่าก้วย แต่ชาวแต้จิ๋วในไทยได้เว้นเทศกาลนี้กันไปนานมากแล้ว จนไม่มีการไหว้เจ้าอะไรอีกในวันนี้

เทศกาลถัดจากนี้ คือเทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งตกราววันที่ 4, 5 หรือ 6 ของเดือนเมษายน “ก้วย” ที่ใไหว้ในเทศกาลนี้ มีฮวกก้วย (发粿) แบะก้วย (麦粿) ทำจากแป้งข้าวสาลีผสมน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง (โอวทึ้ง) นวดปั้นเป็นก้อนกลมหรือเป็นแผ่นก็ได้ นึ่งหรือทอดในน้ำมันให้สุก และจูชังเปี้ย (珠葱饼)

พอเข้าวันที่ 5 เดือนห้าจีน ก็จะเป็นเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างกัน คนจีนแต้จิ๋วเรียกเทศกาลนี้ตามวันเดือนว่า “โหงวง้วยชิวโหงว” หรือวันที่ห้าเดือนห้า แต่ชื่อจริงของเทศกาลนี้คือ “ตวงโหงวโจ่ย” (端午节) ของไหว้นอกจากบ๊ะจ่างแล้ว ยังมีกีจั่ง (枝粽) หรืออีกชื่อว่า กีก้วย (枝粿) ด้วย ทำจากแป้งข้าวเหนียวแช่น้ำสมุนไพรจีน “กีจี้” (枝籽) จนข้าวเหนียวเป็นสีเหลือง ห่อด้วยใบไผ่เป็นลูกบ๊ะจ่าง ใช้เชือกมัดไว้เป็นพวง นำไปต้มให้สุก ได้กีจั่งสีเหลืองสวยคล้ายบ๊ะจ่างลูกจิ๋ว จิ้มกินกับน้ำตาลทราย

ถัดมาเป็นเทศกาลสารทจีน (วันที่ 15 เดือนเจ็ดจีน) จะไหว้ด้วยฮวกก้วย (发粿) หรือขนมฟูหน้าแตก

เผลอแผล็บเดียว เรามาถึงเทศกาลตงชิว (中秋节) หรือวันไหว้พระจันทร์กันแล้ว เทศกาลนี้จะไหว้ “บีกอ” (米糕) หรือ “เปะกอ” (白糕) คือขนมโก๋ ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียว อัดใส่พิมพ์เป็นรูปทรงต่างๆ แล้วแต่จะทำออกมา

หลังวันไหว้พระจันทร์มาถึงวันที่ 9 เดือนเก้าจีน เป็นวันเต่งเอี๊ยง (重阳节) และเป็นความบังเอิญว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของช่วงเทศกาลกินเจ 9 วันพอดี แต่ชาวแต้จิ๋วในไทยไม่ได้จัดพิธีไหว้เจ้ากันในวันนี้

ราววันที่ 21-22-23 วันใดวันหนึ่งในเดือนธันวาคม จะเป็นเทศกาลตังโจ่ย (冬节) แม้ของไหว้จะเป็น อี่เกี้ย (丸子) ไม่ใช่ “ก้วย” แต่ก็เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว เราเรียกว่าบัวลอย เป็นบัวลอยลูกเล็ก ไม่มีไส้ ต้มน้ำใส่น้ำตาลกรวด หรือน้ำตาลที่ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า โอวทึ้ง (乌糖) ซึ่งก็คือน้ำตาลอ้อยป่น

แล้วปฏิทินก็วนกลับมาถึงวันที่ 24 เดือนสิบสองตามปฏิทินจีน วันที่ชาวแต้จิ๋วส่งเทพเจ้ากลับสวรรค์อีกครั้ง ซึ่งชาวแต้จิ๋วก็จะเริ่มโม่แป้ง ทำ “ก้วย” สารพัดชนิด เตรียมไว้ไหว้เจ้ากันต่ออีกปี และจะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ชาวแต้จิ๋วยังคงเคารพในตัวเทพเจ้าทั้งหลาย และนั่นก็หมายความว่า “ก้วย” จะยังอยู่คู่กับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวแต้จิ๋วต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น